Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง และ หน้าจอ

 

เขาแบกปืน เราแบกกล้อง พลังจากหนัง City of Ghosts

ได้มีโอกาสชมหนังสุดที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับพลเมืองซีเรียลุกขึ้นมาสู้กับ ISIS ด้วยอินเทอร์เน็ตและสื่อในมือ เรื่อง City of Ghosts ที่ฉายโดยคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี

เรื่องนี้มีชื่อว่า City of Ghosts เป็นหนังที่ Documentary Club นำเข้ามาฉายในไทย หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ Matthew Heineman เจ้าของรางวัล ออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปี 2015 มาแล้ว

City of Ghosts เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มนักข่าวพลเมืองในเมืองรัตเกาะฮ์ ประเทศซีเรีย ที่มีชื่อว่า Raqqa Is Being Slaughtered Silently (RBSS) โดยกลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นหลังการเข้ามาของกลุ่ม Islamic State of Iraq and the Levant (ISIS) ในช่วงที่ประชาชนต่อต้านการปกครองระบอบเผด็จการอันยาวนานของตระกูล Al-Assad และต่อมากลุ่ม ISIS ได้เข้ายึดเมืองรัตเกาะฮ์และสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของกลุ่มและ ISIS เข้าควบคุมทุกอย่างในเมืองรวมทั้งประชาชน เมื่อใครขัดขืนก็จะโดนทำโทษ หนักเข้าก็ถึงขั้นประหารชีวิต

กลุ่ม RBSS จึงได้ตัดสินใจเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นในเมืองนี้ให้โลกได้รับรู้

เรื่องราวช่วงแรกของหนังเรื่องนี้ เป็นการเล่าเรื่องที่จะสื่อให้เห็นว่า หัวหอกสำคัญของกลุ่มนี้ อาบูบาคร์บาก์ดาดี โฆษกของกลุ่ม ฮามูด ตากล้องและ ฮัสซัน พี่ชายของเขา รวมถึง ฮุสแซม กับ มูฮัมหมัด ที่ต่างมารวมตัวกันภายใต้คำสอนของ นาจิ เจิร์ฟ อาจารย์ผู้สอนหลักการของนักสื่อสารมวลชน เพื่อการเป็นนักข่าวพลเมือง และชี้ให้พวกเขาเห็นว่าปากกานั้นทรงพลานุภาพกว่าอาวุธประหัตประหารชีวิตมากนัก จากจุดเริ่มต้นการเข้ามาครอบงำบ้านเกิดของพวกเขาของกลุ่มไอซิส เมื่อปี 2014 ภายหลังจากการลุกฮือล้มล้างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการ บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ตามกระแสอาหรับสปริงในปี 2012 นั่นทำให้ผู้นำศาสนาอิสลามหัวรุนแรงใช้ช่องว่างที่ไร้คนปกครองก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างรัฐอิสลาม โดยการใช้วิธีรุนแรง ดั่งตอนหนึ่ีงในหนังที่กลุ่มไอซิสประกาศกร้าวกับชาวเมืองรักกาว่า “จงยอมรับเรา ก่อนที่เราจะทำให้คุณต้องยอมรับ”

หนังพยายามจะสื่อให้เห็นถึงเมืองรัตเกาะฮ์ที่เคยสงบสุข แต่ภายหลังการเข้ามายึดเมืองของกลุ่ม ISIS ก็กลายเป็นเมืองผีที่ไม่มีชีวิตอีกต่อไป หนังเล่าสลับกับภาพฟุตเทจการประหารหมู่คนที่ต่อต้านหรือการตัดหัวเสียบประจานกลางจตุรัสใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดเผยภาพเหล่านี้สู่สายตาชาวโลกของ RBSS ทำให้กลุ่ม ISIS ไม่พอใจจนสมาชิกหลายคนต้องหนีออกจากประเทศ ส่วนหนึ่งอยู่ในเมืองชายแดนของตุรกีที่ติดกับซีเรีย อีกส่วนหนึ่งก็หนีไปประเทศเยอรมนี แต่ยังมีบางส่วนที่อยู่ในเมืองรักเกาะฮ์เพื่อคอยถ่ายภาพและส่งข่าวความเป็นไปภายในเมือง

ความโหดร้ายไม่ใช่แค่คนเหล่านี้ถูก ISIS ตามล่าและจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่มันคือการที่ต้องเห็นคนในเมืองและคนในครอบครัวอันเป็นที่รักต้องถูก ISIS ประหารเนื่องจากการตีแผ่ความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของกลุ่ม ISIS เอง แต่ในความหวาดกลัว กลุ่ม RBSS ยังคงเชื่อว่าปากกานั้นทรงพลังกว่าอาวุธใดๆ ความเชื่อนี้ส่งผลให้ไม่มีใครในกลุ่มยอมแพ้ ถอดใจ และเลิกที่จะเผยแพร่ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดอันเป็นที่รักของเขา

ครึ่งหลังของหนังเป็นการติดตามชีวิตกลุ่ม RBSS ที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศว่าเขาทำงานกันอย่างไร ใช้ชีวิตกันหลบๆ ซ่อนๆ อย่างไร พวกเขาเหล่านี้ยังติดต่อคนที่อยู่ในเมืองเพื่อเผยแพร่ความจริงให้ชาวโลกรับรู้ว่าเมืองรักเกาะฮ์กำลังถูกเข่นฆ่าอย่างเงียบงัน เหมือนชื่อกลุ่มของพวกเขานั่นเอง

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการดูหนังเรื่องนี้คือว่า

ผมขออนุญาตินำคำพููดของ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมสนทนาในวันนี้ ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาทำสื่อพลเมืองท่ามกลางการไลล่าของสามศัตรูที่ใหญ่ๆ ISIS รัฐบาลเผด็จการ และ อเมริกา การเป็นสื่อพลเมืองของRBSS เป็นพลังอย่างหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่ออะไรก้แล้วแต่ เราต้องมีความหวัง ว่าวันหนึ่งสามารถเกิดการเปลี่ยนในสิ่งที่ดีขึ้นได้ หรือไม่ทันในรุ่นนี้อย่างน้อยลูกของพวกเขาจะเติบโตในแผ่นดินที่ดีกว่านี้

ส่วนตัวแล้วผู้เขียน สามารถสะท้อนว่า หนังเรื่องนี้มีพลังบางอย่างให้เห็นว่า นอกจาก ISIS จะแบกปืนแล้ว ยังมีกลุ่มคนทำงานสื่อที่แบกกล้องเช่นกัน ในสมรรภูมิสงคราม พื้นที่ ความขัดแย้งทีใช้อาวุธ ไม่จำเป็นแค่แบกปืนเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาการแบกกล้องก็สามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน

ในหนังเราจะเห็นการใช้สื่อ IO ในพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งจะเห็นว่า เมื่อมีกลุ่มคนทำงานสื่อนำเสนอข้อเท็จจริงแล้วอีกกลุ่มหนึ่งอย่าง ISISก็เลือกใช้สื่อในการโฆษณาชวนเชื่อ มีการทำภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้เด็กๆ เข้ามาร่วมรบกับกลุ่ม ISIS โดยการถ่ายทำแบบเกม Grand Theft Auto แต่ RBSS ก็โต้กลับด้วยการปล่อยภาพและวิดีโอที่ขึ้นหัวข้อว่า ISIS กำลังเอาเด็กมาเป็นโล่มนุษย์ ทำให้จากสงครามที่ใช้อาวุธระหว่างกันก็พัฒนาไปเป็นสงครามสื่อ

ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ชนะในสงครามสื่อยังไงก็ย่อมเป็นผู้ที่นำเสนอข่าวที่มาจากข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามจริงๆ และมากกว่าการนำเสนอเรื่องราวแล้ว คือการเชิดชูจิตวิญญาณแห่งนักสื่อสารและประชาชนที่รักสันติภาพ

อ้างอิง https://www.beartai.com/lifestyle/192421

http://themomentum.co/city-of-ghosts-movie-review

#PATANISOCIETY

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ  Patani Society