Skip to main content

 

หัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลวางแผนซื้อโดรนช่วยตรวจสอบระเบิด

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
 
    171019-TH-bomb-1000.jpg
    เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบวัตถุต้องสงสัย บริเวณหมู่ 1 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส วันที่ 19 ตุลาคม 2560
     มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวานนี้ว่า มีความตั้งใจที่จะจัดหาโดรน-ยูเอวี เพื่อใช้ใน 37 อำเภอในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อช่วยในการตรวจการณ์ลดความสูญเสียจากการโจมตีของฝ่ายก่อความไม่สงบ ซึ่งในระยะหลังนี้ มีการลอบวางระเบิดยานยนต์ลาดตระเวนรุนแรงขึ้น

    ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดช ซึ่งยังมีฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า กล่าวถึงเรื่องนี้ หลังจากเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 หลังสำนักงบประมาณเห็นชอบจัดสรรงบประมาณ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ รวมทั้งสิ้น 13,255,744,700 บาท

    "ผมตั้งใจอยากให้มีการใช้โดรนและยูเอวีอำเภอละ 3-4 ตัว ใน 37 อำเภอ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ลาดตระเวน ตามงานการข่าวว่าจะก่อเหตุและก่อนเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ซึ่งผู้ก่อเหตุจะซุ่มโจมตีไม่ไกลนัก เช่น จุดชนวนระเบิด" พล.อ.อุดมเดช กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้

    พล.อ.อุดมเดช กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณเพื่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้น มียอดกว่า 6,000 ล้านบาท จะใช้เพื่อการดูแลสิทธิกำลังพล การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น เช่น โดรน หรือเสื้อเกราะกันกระสุน แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะเป็นผู้ใช้งบหลัก ก็ระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้งบประมาณ

    พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า สามารถใช้โดรนมาตรวจสอบระเบิดในสถานที่ซุ่มโจมตีได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เมื่อเกิดเหตุตอนนี้ก็จะใช้การตัดสัญญาณ แล้วใช้รถหุ้มเกราะในการเข้าตรวจสอบเหตุ ถ้ามีโดรนเข้ามาก็ถือว่าดี แต่ยังต้องศึกษาการใช้งาน ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด

    ล่าสุดในวันนี้ คนร้ายได้วางระเบิดตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกรมทหารพรานที่ 48 ขับผ่านในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี นราธิวาส แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนในเหตุการณ์วางระเบิดทหารพรานที่ 44 ในอำเภอสายบุรี ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กันยายนนี้ มีทหารพรานเสียชีวิตสองราย และบาดเจ็บอีกหลายราย นอกจากนั้น ในวันที่ 10 ตุลาคม มีเจ้าหน้าที่โดนลอบวางระเบิดเสียชีวิตอีกหนึ่งราย ในอำเภอบาเจาะ นราธิวาส

    ส่วนนายนิมุ มะกาแจ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่มีการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ มินิยูเอวี มาเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ในการลาดตระเวนสอดแนม และตรวจสอบสภาพพื้นที่ โดรนป็นอีกเครื่องมือที่ถูกประยุกต์โดยเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ ทั้งยังมีราคาถูกลงมาเรื่อยๆ

    "ภัยแทรกซ้อนในพื้นที่มีอยู่ตลอด เพราะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ มีหลายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 13 กลุ่ม แม้จะร่วมไปเป็นมาราปาตานีบ้างแล้ว และในพื้นที่ก็มีการแยกกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มย่อยอีกมาก" นายนิมุ กล่าวเสริมถึงกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความรุนแรง

    ด้าน พ.อ.สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 กล่าวสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า "ผมว่าดีนะ อย่างน้อยผู้ก่อการร้ายก็ต้องชะงักบ้างหละ ที่ผู้ก่อการร้ายกลัวมากก็คือ กลัวว่าเรารู้คนนั้นเป็นใคร ยิ่งถ้าเพิ่มขีดความสามารถของโดรนได้ เช่น ประกอบกับตัวสแกนสัญญาณ เพื่อให้ระเบิดทำงานได้เองจะดีมากๆ"

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-deepsouth-drones-10192017140516.html