Skip to main content

ผู้นำคาตาลูญญาชะลอประกาศเอกราช ขอเจรจากับสเปนก่อน

นายปุดจ์เดมองต์ แถลงต่อรัฐสภาแคว้นคาตาลูญญาImage copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนายปุดจ์เดมองต์ แถลงต่อรัฐสภาแคว้นคาตาลูญญา

นายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ประธานาธิบดีแคว้นคาตาลูญญา แถลงต่อรัฐสภาของแคว้น ยืนยันจุดยืนต้องการเป็นรัฐอิสระตามผลประชามติ แต่เลื่อนการประกาศเอกราชออกไปเพื่อเจรจากับสเปน

ท่ามกลางแรงคัดค้านจากรัฐบาลสเปนและนานาชาติ นายปุดจ์เดมองต์แถลงกับรัฐสภาแคว้นคาตาลูญญาว่า ในฐานะประธานาธิบดี เขาอยากจะทำตามความต้องการของประชาชนที่ประสงค์ให้คาตาลูญญาเป็นรัฐอิสระ แต่เขาบอกต่อว่า จะเลื่อนการประกาศเอกราชออกไปก่อนเพื่อการเจรจาอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับรัฐบาลสเปน

"บัตรลงคะแนนเสียงบอกว่าต้องการแยกตัวเป็นอิสระ และนี่คือความประสงค์[ของประชาชน]ที่ผมจะเดินหน้าดำเนินการ" นายปุดจ์เดมองต์ ระบุ

นายปุดจ์เดมองต์ระบุว่าเขาไม่ได้วางแผนจะข่มขู่หรือดูถูก แต่อยากจะลดความตึงเครียด และขณะนี้เรื่องการแยกตัวของแคว้นคาตาลูญญาไม่ใช่เรื่องภายในประเทศ แต่เป็นเรื่องระดับภูมิภาคยุโรปแล้ว

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสเปนเรียกร้องให้นายปุดจ์เดมองต์ "อย่าทำอะไรที่ไม่สามารถแก้ไข้ได้ ...และอย่าประกาศเอกราช" และเตือนว่าหากแคว้นคาตาลูญญาประกาศเอกราช รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายมาตราที่ 155 ของรัฐธรรมนูญสเปน ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลกลางสามารถมีอำนาจสั่งการคาตาลูญญาโดยตรงได้

ทางการแคว้นคาตาลูญญาระบุว่าการลงประชามติขอแยกประเทศเมื่อวันที่ 1 ต.ค. มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียง 43 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด ตามกฎหมายของแคว้นคาตาลูญญา (ซึ่งสเปนไม่ยอมรับ) ระบุว่ารัฐสภาแคว้นคาตาลูญญาสามารถประกาศเอกราชได้ภายในสองวันหลังจากการประกาศผลประชามติ

รัฐบาลสเปนระบุว่าการลงประชามตินี้ผิดกฎหมาย และถูกสั่งระงับโดยศาลรัฐธรรมนูญสเปน เหตุปะทะรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนที่พยายามขัดขวางการลงคะแนนและผู้ชุมนุมสนับสนุนการแยกประเทศทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ด้านพรรคฝ่ายค้านของสเปนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางส่วน แม้จะคัดค้านการประกาศเอกราชของคาตาลูญญา แต่ก็ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีราฮอยและนายปุดจ์เดมองต์หันหน้าเข้าเจรจากัน เนื่องจากขณะนี้ผู้นำทั้งสองยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมประนีประนอมกับอีกฝ่าย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดเป็นอย่างมาก

ผู้ชุมนุมสนับสนุนด้านนอกอาคารรัฐสภาแคว้นคาตาลูญญาImage copyrightEPA
คำบรรยายภาพผู้ชุมนุมสนับสนุนด้านนอกอาคารรัฐสภาแคว้นคาตาลูญญา

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาก่อนการประกาศเอกราชของแคว้นคาตาลูญญา

กฎหมายมาตรา 155

แม้แคว้นคาตาลูญญามีอิสระในการปกครองตนเองสูง แต่กฎหมายมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญปี 1978 ของสเปนอนุญาตให้รัฐบาลกลางมีอำนาจสั่งการแคว้นต่าง ๆ ในประเทศ เช่น คาตาลูญญา โดยตรงได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

กฎหมายซึ่งไม่เคยมีการประกาศใช้มาก่อนหลังยุคนายพลฟรังโกนี้ สามารถประกาศใช้เพื่อถ่ายโอนอำนาจสู่รัฐบาลกลาง โดยผ่านกระบวนการของวุฒิสภาสเปน ซึ่งพรรคป็อปปูลาร์ (PP) ของนายกรัฐมนตรีมารีอาโน ราฮอย ควบคุมเสียงส่วนใหญ่อยู่

ความกดดันด้านเศรษฐกิจ

ความกดดันด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับวิกฤตในขณะนี้ แม้ว่าคาตาลูญญาเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดภูมิภาคหนึ่งของสเปนแต่รัฐบาลกลางก็มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่ทรงพลัง ธนาคารใหญ่ ๆ อย่างไกชาและซาบาเดล และบริษัทด้านสาธารณูปโภคหลายแห่ง กำลังจะย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากคาตาลูญญา ซึ่งบริษัทอื่น ๆ อาจจะทำตาม หลังรัฐบาลประกาศกฎหมายให้สำนักงานใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ สามารถย้ายออกจากแคว้นคาตาลูญญาได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้น

กลุ่มผู้คัดค้านการแยกตัวเป็นอิสระของคาตาลูญญาหลายพันคน เดินขบวนในนครบาร์เซโลนาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพกลุ่มผู้คัดค้านการแยกตัวเป็นอิสระของคาตาลูญญาหลายพันคน เดินขบวนในนครบาร์เซโลนาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.

การสนันสนุนจากนานาชาติ

สหภาพยุโรปได้ประกาศชัดเจนว่าแคว้นคาตาลูญญาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปอีกต่อไปหากประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน

โฆษกของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกมาแถลงว่า นางแมร์เคิลได้ยืนยันจะสนับสนุนความเป็นเอกภาพของสเปน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีกิจการยุโรปของฝรั่งเศสก็ออกมาระบุเช่นกันว่า จะไม่ยอมรับการประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียวของคาตาลูญญา

นอกจากความยุ่งยากในการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสเปน ซึ่งจะตามมาหลังการประกาศเอกราชแล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจของคาตาลูญญา ยังขึ้นอยู่กับสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย หรืออย่างน้อยการเข้าถึงตลาดร่วม

การส่งออก 2 ใน 3 ของคาตาลูญญา มีคู่ค้าเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งหากแยกตัวจากสเปนแล้ว คาตาลูญญาจะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการจะเข้าถึงตลาดร่วมได้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกชาติสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงสเปนด้วย

นายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ (ซ้าย) และมาริอาโน ราฮอย ของสเปน (ขวา)Image copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพนายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ประธานาธิบดีแคว้นคาตาลูญญา (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย ของสเปน (ขวา) ไม่มีทีท่าว่าจะประนีประนอมกัน

ทางเลือกอื่นของรัฐบาลสเปน

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสเปนเมื่อปี 2010 เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดวิกฤตในแคว้นคาตาลูญญาขณะนี้ เพราะเป็นการลดสถานะของแคว้นคาตาลูญญา โดยศาลปฏิเสธที่จะยอมรับว่าคาตาลูญญาเป็น "ประเทศ" ในสเปน ตามการนิยามของการผ่านกฎหมายเรื่องการปกครองตนเองของเเคว้นคาตาลูญญาเมื่อปี 2006

สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือการพูดคุยเจรจาและคืนสถานะอย่างเดิมให้กับคาตาลูญญา หรือไม่ก็แก้ไขกฎหมายมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญซึ่งจะอนุญาตให้การลงคะแนนเสียงประชามติแบบมีผลผูกมัดเกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากต้องเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลกลางและได้การสนับสนุนจากกษัตริย์สเปน