Skip to main content

 

เคิร์ดและเคอร์ดิสถาน: การทำประชามติในอิรัก

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในภาพอาจจะมี 4 คน, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่กลางแจ้ง

 

อิรักมีประชากรทั้งหมดประมาณ 32 ล้านคน ในจำนวนนี้ประชากรที่เป็นอาหรับมีอยู่ร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 15 เป็นชาวเคิร์ด ที่เหลืออีกร้อยละ 5 คือชาวเติร์กโกมาน อัสซีเรียน และอื่นๆ

ชาวอิรักร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลามที่ส่วนใหญ่เป็นชีอะฮ์ (หรือคิดเป็นร้อยละ 65) ส่วนชาวซุนนีย์คิดเป็นร้อยละ 35 ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาได้ทำให้ชาวอิรักแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือชาวอิรัก (อาหรับ) ที่เป็นชีอะฮ์ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ชาวอิรัก (อาหรับ) ที่เป็นซุนนีย์ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกและทางเหนือ และชาวอิรัก (เคิร์ด) ที่ส่วนใหญ่เป็นซุนนีย์

ชาวเคิร์ดในอิรักส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดมาตั้งนานแล้ว ทหารเคิร์ดยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ฝักใฝ่รัฐบาลอิรักและกลุ่มที่เป็นเอกเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีจำนวนระหว่าง 80,000 ถึง 240,000 คน แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ความฝันอันยิ่งใหญ่ของชาวเคิร์ดก็คือ การสถาปนารัฐเอกราชเคิร์ดิสถานขึ้นมา

“เคอร์ดิสถาน” หมายถึง “ดินแดนของชาวเคิร์ด” (The land of kurds) ซึ่งเป็นดินแดนที่ในอดีตมีพื้นที่ทั้งหมดรวมกันประมาณ 392,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่จำนวนดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี 190,000 ตารางกิโลเมตร ในอิหร่าน 125,000 ตารางกิโลเมตร ในอิรัก 65,000 ตารางกิโลเมตร และในซีเรีย 12,000 ตารางกิโลเมตร

ในขณะที่จำนวนประชากรชาวเคิร์ดทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 20-40 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่กระจายกันอยู่ตามประเทศต่างๆ ดังกล่าว โดยยังไม่มีรัฐเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ความฝันของชาวเคิร์ดคือการสถาปนารัฐเคอร์ดิสถานของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง

ความฝันของชาวเคิร์ดใกล้จะเป็นความจริงขึ้นมาทันทีหลังจากที่สหรัฐใช้กำลังบุกโค่นล้มรัฐบาลซัดดัมในอิรักเมื่อปี 2003 โดยที่ชาวเคิร์ดมีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือสหรัฐ พัฒนาการเช่นนี้ ทำให้รัฐที่ครองพื้นที่ของเคิร์ดสถานและมีประชากรชาวเคิร์ดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุรกี รู้สึกว่าความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของประเทศกำลังถูกคุกคาม ตุรกีเกรงว่าหากเกิดรัฐเคอร์ดิสถานขึ้นทางตอนเหนือของอิรัก ก็อาจกลายเป็นตัวแบบให้ชาวเคิร์ดในตุรกีลุกฮือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังการโค่นล้มระบอบซัดดัม ตุรกีจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เกิดรัฐเคอร์ดิสถานขึ้นมาในอิรัก ในขณะที่อิหร่านและซีเรียก็เป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 3 ประเทศจึงมีความร่วมมือกันในระดับหนึ่งที่จะสกัดกั้นการปรากฏของรัฐเคอร์ดิสถานขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากการรุกคืบไล่ยึดหัวเมืองต่างๆ ในอิรักของกลุ่มที่เรียกว่า “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัชชาม” (ISIS) ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวเคิร์ดมีความหวังมากยิ่งขึ้น ชาวเคิร์ดใช้โอกาสในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงนี้ เข้ายึดเมืองเคอร์คุก (Kirkuk) ซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่กลุ่มเคิร์ดต้องการจะยึดครองมานาน ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ISIS และรัฐบาลอิรัก มีการสู้รบรุกไล่กันอย่างดุเดือด แต่ชาวเคิร์ดก็เล่นบทเป็นฝ่ายที่อยู่เหนือความขัดแย้ง เพราะเป็นช่วงจังหวะที่เรียกว่าเป็นนาทีทองของชาวเคิร์ดเลยก็ว่าได้

แม้สหรัฐจะพยายามโน้มน้าวให้ชาวเคิร์ดเป็นส่วนหนึ่งของการแก้วิกฤติ ISIS ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ดำรงความเป็นรัฐอิรักหนึ่งเดียว แต่ผู้นำเคิร์ดก็พูดโต้ตอบชี้ชวนให้เห็นความจริงว่า "ท่านครับ วันนี้เรากำลังเผชิญกับอิรักที่เปลี่ยนไป และสถานการณ์ความจริงในอิรักที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว"

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้นำชาวเคิร์ดในอิรัก ได้จัดให้มีการลงประชามติเรื่องแยกตัวเป็นอิสระไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าชาวเคิร์ดในอิรักร้อยละ 92 ต่างพร้อมใจกันโหวตให้ดินแดนชาวเคิร์ดแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากอิรัก

คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่า สุดท้ายเคอร์ดิสถานจะกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ได้จริงหรือไม่ อย่างไร ?

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เคอร์ดิสถานและชาวเคิร์ด : ภาพรวมในตะวันออกกลาง (1)

เคิร์ดและเคอร์ดิสถาน: ขบวนการชาตินิยมในศตวรรษที่ 20