Skip to main content

 

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน

 

ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

 

 

เรื่องราวเกือบ 2 เดือนกับการเดินทางคนเดียวเพื่อไปเป็นอาสาสมัครในฟาร์มออร์แกนิค ณ ประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้คงจะกลายเป็นแค่อีกหนึ่งความทรงจำดีดีที่เกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป หากมันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น หากมันดำเนินไปตามแผนการคร่าวๆ ที่วางไว้ และหากเราเป็นคนชอบวางแผนที่หาข้อมูลมาอย่างรัดกุมมากกว่านี้ ประสบการณ์ที่รวมเอาทุกอารมณ์ไว้เข้าด้วยกันในค่ายกักกันครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

       เราถูกกักตัวไว้ที่สนามบินก่อนจะเดินทางต่อไปอิตาลีเพียงไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งเศสในประโยคที่เข้าใจได้ว่า “วีซ่าหมดอายุ” แต่ที่เราไม่เข้าใจคือ วีซ่าจะหมดอายุได้อย่างไรในเมื่อในหน้าวีซ่าที่ขอไว้ยังเหลือเวลาอีกตั้งหนึ่งเดือน แต่ไม่ว่าจะเจรจาอย่างไร เจ้าหน้าที่คนเดิมก็ยืนยันเสียงแข็งว่าเราไม่สามารถเดินทางไปต่อได้และจะต้องถูกกักตัวไว้จนกว่าที่ทางการจะติดต่อทางสายการบินเพื่อส่งตัวเรากลับไปยังประเทศที่เราบินมา ซึ่งมันกินเวลาถึงสามวันสองคืน. . .

       ‘รามซี’ เป็นชายชาวมุสลิมที่เข้ามาทักเราเป็นคนแรกในบ่ายวันแรก ณ สถานที่แห่งนี้ เขาและพี่ชายเป็นชาวลิเบียที่เดินทางรอนแรมไปยังที่ต่างๆ ตามแต่ช่วงเวลาของจังหวะชีวิตที่ดำเนินไป พวกเขาเคยอพยพไปอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียถึง 6 ปี จากนั้นก็อพยพไปอยู่ประเทศยูเครนอีก 2 ปี ทั้งคู่ไม่ได้เดินทางในลักษณะของนักเดินทางที่แสวงหาความหมายของบางสิ่งบางอย่างหรือเพื่อต้องการที่จะเป็นนักสำรวจโลกใบนี้ แต่เพราะสถานการณ์อันเลวร้ายรวมถึงสงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศลิเบีย ที่บีบบังคับในสองพี่น้องต้องทิ้งสถานที่ที่ตนเกิดและโตมา 

สถานที่ที่พวกเขาเคยเรียกมันว่า ‘บ้าน’

       ‘อาลี’ เป็นเพื่อนใหม่ในวันที่สองที่เดินเข้ามาทักทาย เขาอพยพมาจากประเทศเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างปาเลสไตน์ และ ซีเรีย สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นภายในเกิดจากการที่รัฐบาลและคนในประเทศต้องการที่จะแบ่งประเทศออกเป็นสองฝ่ายคล้ายๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

       เรามีโอกาสได้กล่าวทักทาย พูดคุย และทำความรู้จักกับผู้คนเหล่านี้ ในสถานที่ซึ่งเราเรียกไว้อย่างกับหนังนาซีว่า ‘ค่ายกักกัน’ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่การกักตัวชั่วคราว แต่ความรู้สึกอึดอัดจากการที่ทุกคนจะโดนยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคทุกอย่าง จะต้องอยู่ในบริเวณที่ถูกกำหนดไว้และไม่สามารถออกไปข้างนอกได้นอกจากสวนเล็กๆ ในพื้นที่แห่งนั้น อาหารในแต่ละมื้อจะมีแค่น้ำ ทูน่ากระป๋องที่เย็นชืด และขนมปังบาแกตต์แบบฝรั่งเศสที่โคตรแข็ง ซึ่งในแต่ละวันทุกคนจะถูกเรียกวันละ 3 เวลา เช้า เที่ยง เย็น ให้ไปรับอาหารเหล่านี้ที่ถูกผูกรวมไว้ในถุงพลาสติกซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับถุงยังชีพเวลาน้ำท่วม ผสมปนเปไปกับการที่เราต้องอยู่เฉยๆ ให้เวลาผ่านไปและรอให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกชื่อผ่านลำโพงเพื่อที่จะส่งตัวไปยังสนามบินซึ่งก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นตอนไหน แต่ระหว่างที่กำลังนั่งพูดคุยและรับฟังเรื่องราวจากเพื่อนใหม่ในสถานที่แห่งนี้ เรากลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีเหลือเกินที่วีซ่ามีปัญหา โชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้มารู้จักกับคนเหล่านี้ โชคดีที่ได้มารับรู้เรื่องราวที่เราอาจจะไม่สามารถหาอ่านได้จาก google หรือรับฟังจากสื่อกระแสหลักทั่วไปที่เราเสพกันมา สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ คงเป็นการที่คนแปลกหน้าจากต่างสถานที่ พูดคุยกันอย่างเปิดใจและเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน

       เราเชื่อว่าทุกๆ คนในที่แห่งนี้ต่างต้องการที่เดินทางกลับไปเจอหน้าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนฝูงของตนเองที่ยังมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่าทั้งรามซีและพี่ชายต่างก็ไม่ได้ต้องการที่จะเดินทางไปอย่างคนเร่ร่อนที่ไม่ได้วางแผนจะปักหลัก ณ ที่หนึ่งที่ใดบนโลกใบนี้ หากแต่มันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พวกเขาเลือกได้ และย้อนกลับมาที่ตัวเราซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ คนที่ยังปักหลักอยู่ทั้งในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัดบ้านเราจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่พวกเขาเผชิญ และสิ่งเดียวที่ดูเสมือนว่าทุกคน ณ ที่แห่งนี้จะทำได้คือการภาวนาและหวังให้เหตุการณ์ต่างๆ มันดีขึ้นในสักวัน

 “คุณอยากกลับบ้าน เพราะที่นั่นคุณยังมีพ่อแม่ มีเตียงนุ่มๆ มีตู้สำหรับใส่เสื้อผ้า มีทุกอย่างที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น แต่สำหรับผม ทุกๆ อย่างมันกลายเป็นแค่เศษฝุ่นและพื้นดินที่ไม่เหลืออะไร นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องมาอยู่ที่นี่

       คำพูดที่รามซีเคยพูดไว้ก่อนจะจากกัน คือสิ่งเดียวที่ทำให้เรารับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเขาคิดถึงประเทศของตนเองมากแค่ไหน และทุกครั้งที่คำพูดเหล่านั้นดังขึ้นซ้ำๆ อยู่ในใจ มันทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไม

“คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ถึงไม่ทิ้งบ้านของพวกเขาไว้ให้เป็นเพียงอีกภาพของความทรงจำ”

 

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ