Skip to main content

 

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 11 )

ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศแรกและได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐกับซาอุดิอาระเบียฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้งซึ่งเป็นผลมาจากการปรับท่าทีของทรัมป์ต่อซาอุดิอาระเบียและโลกมุสลิม กระนั้นก็ตามหากมองนโยบายสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมายมากนักต่อท่าทีที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือของประธานาธิบดีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญมากในแง่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนได้สานต่อนโยบายผูกมิตรกับซาอุดิอาระเบียมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุสเวลต์จนกระทั่งถึงโอบาม่า เมื่อทรัมป์ได้เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีก็คงเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลชั้นลับของนโยบายความมั่นคงหรือด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯมากขึ้น จนไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของซาอุดิอาระเบียได้

อาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมานโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะต่อซาอุดิอาระเบียตั้งอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ 1) รักษาความมั่นคงให้กับรัฐอิสราเอล 2) โกบโกยผลประโยชน์ด้านน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ และ 3) การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ผลประโยชน์ที่กล่าวมาคือปัจจัยหลักที่กำหนดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียตลอดมา

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียกำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสหรัฐฯไม่มีความจำเป็นต้องพึงพิงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียมากมายเหมือนในอดีต เนื่องจากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดานหรือเชลออยล์ (shale oil) ได้จำนวนมหาศาลจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ซึ่งถ้ารวมน้ำมันสำรองที่มีอยู่และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ก็จะมีปริมาณที่พอเพียงต่อการบริโภคในอนาคต ทรัมป์เองพูดชัดว่าไม่มีความจำเป็นต้องพึงซาอุดิอาระเบียเรื่องน้ำมันอีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นโยบายของสหรัฐต่อซาอุดิอาระเบียจะปรับเปลี่ยนไปตามดุลความสัมพันธ์ในลักษณะใหม่ ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียก็สูญเสียอำนาจต่อรองไปพอสมควร จึงเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและมองว่าการพึงพิงกันในลักษณะ oil for food อาจจะไม่ยั่งยืนอีกต่อไป

ซาอุดิอาระเบียเองได้เตรียมการตั้งรับกับความไม่แน่นอนมาอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากการที่หันมาดำเนินนโยบายพึงพาตนเองทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่พยายามปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเน้นพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม ไม่รอเฉพาะธุรกิจจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังเร่งพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความตกใจไปทั่วโลกเมื่อมหาเศรษฐีน้ำมันจะหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์

การเดินทางเยือน 5 ประเทศเอเชียของกษัตริย์ซัลมามานในช่วงต้นปี 2017 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้เห็นถึงความพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่หันหากลุ่มประเทศเอเชียด้วยกันมากขึ้น โดยประเทศที่เสด็จเยือนได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น และมัลดีฟส์

อย่างไรก็ตาม ในการเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดีทรัมป์และผลพวงที่ตามมาทำให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังจัดวางยุทศาสตร์ความสัมพันธ์กับซาอุอาระเบียใหม่ในรูปแบบที่จะสนองผลประโยชน์หรือเป้าหมายหลัก 2 ข้อ กล่าวคือ 1) การขายอาวุธยุธโทปกรณ์ ซึ่งก็เห็นผลเป็นรูปธรรมเพราะสามารถทำข้อตกลงขายอาวุธให้ซาอุดิอาระเบียมูลค่ากว่าแสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และ 2) สนับสนุนการดำรงอยู่ของอิสราเอล (ไม่ว่าซาอุดิอาระเบียจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ทั้งนี้ ผลประโยชน์ด้านทรัพยากรน้ำมันถูกลดความสำคัญลง

การต่อต้านการก่อการร้ายและการมุ่งเป้าโจมตีอิหร่านว่าเป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้ายถือเป็นประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสำคัญอย่างมากในระหว่างเยือนซาอุดิอาระเบีย

แต่สิ่งที่ดูจะเป็นมักผลมากที่สุดหลังการเยือนของ ทรัมป์ คือการที่กลุ่มสมาชิกบางประเทศของคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ GCC นำโดยซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน รวมทั้งอียิปต์ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคงกับกาตาร์ ซึ่งต่อมาก็มีอีกหลายประเทศประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ ทั้งมัลดีฟส์ มอริตาเนีย เยเมน ลิเบีย ฯลฯ (ส่วนเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังก็ดูได้จากข้อเขียนก่อน ๆ หน้านี้)

การตัดสัมพันธ์กาตาร์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นนโยบายและทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียได้อย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯกำลังจัดวางซาอุดิอาระเบียในยุทธศาสตร์ที่เน้นตอบสนองเป้าหมายหลัก 2 ข้อของสหรัฐฯที่กล่าวมา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อกล่าวหาและข้อเรียกร้องที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรใช้เล่นงานกาตาร์ ซึ่งประเด็นหลัก ๆ คือ การกล่าวหากาตาร์ว่าสนับสนุนกลุ่มการก่อการร้ายต่าง ๆ (รวมทั้งกลุ่มภารดรภาพมุสลิมด้วย) การแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอาหรับอื่น ๆ (โดยใช้สื่ออัลญาซีเราะห์) มีความสัมพันธ์ที่โน้มเอียงไปทางอิหร่านที่สหรัฐฯ ชี้ว่าเป็นรัฐที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง การตัดสัมพันธ์กาตาร์ก็สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ของซาอุดิอาระเบียและกลุ่มชาติอาหรับพันธมิตรอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยสรุปดูเหมือนว่าจะเป็นจุดบรรจบหรือจุดประสานผลประโยชน์ที่ค่อนข้างลงตัวระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบีย ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

- นอกจากสหรัฐฯได้ขายอาวุธให้ซาอุดิอาระเบียเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านดอลล่าร์แล้ว หลังซาอุดิอาระเบียตัดสัมพันธ์กาตาร์ สหรัฐฯยังขายเครื่องบินรบให้กับกาตาร์อีกมูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่กล่าวหากาตาร์ว่าสนับสนุนการก่อการร้าย

- ลงโทษกาตาร์ที่เหยียบเรือหลายแคม ทั้งสานสัมพันธ์กับอิหร่าน และสนับสนุนกลุ่มภารดรภาพมุสลิม

- สหรัฐฯ ได้สกัดกั้นการขยายฐานอำนาจของกลุ่มภารดรภาพมุสลิมในหลายประเทศ โดยเฉพาะความพยายามในการตัดกำลังกลุ่มฮามาสและปิดกันการสนับสนุนความช่วยเหลือต่อกลุ่มฮามาสที่ต่อสู้กับอิสราเอล

- ได้โอกาสปิดสำนักงานของสื่ออัลญาซีเราะห์ในซาอุดิอาระเบียและในประเทศแถบอ่าว เพราะอัลญาซีเราะห์มีบทบาทสำคัญในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวในช่วงอาหรับสปริง เป็นกระบอกเสียงของมวลชนหรือกลุ่มเคลื่อนไหวสายปฏิรูปในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะการสนับสนุนขบวนการภารดรภาพมุสลิม ทั้งหมดนี้ทำให้ราชวงศ์และผู้นำหลายประเทศไม่พอใจอย่างมาก

กระนั้นก็ตาม การตัดความสัมพันธ์โดยสิ้นก็ไม่สามารถกดดันกาตาร์ใด้มากนัก ไม่สามารถบีบให้กาตาร์ปรับเปลี่ยนนโยบายไปจากเดิมได้ เพราะถึงแม้ว่าจะถูกประเทศเพื่อนบ้านคว่ำบาตรแต่ก็มีตุรกีที่ยื่นมือเข้ามาช่วยหรือมาสนับสนุนกาตาร์ รวมทั้งอิหร่านที่โดดเข้ามาช่วยด้วยการเปิดน่านน้ำทางทะเลและทางอากาศเพื่อการขนส่งอาหารและความจำเป็นต่าง ๆ ผ่านเข้าสู่การตาร์ มาตรการกดดันต่าง ๆ นานาที่มีต่อกาตาร์จึงไม่เป็นผลสำเร็จ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯต้องคิดหนักเพราะนอกจากไม่สามารถกดดันกาตาร์ได้แล้ว ยิ่งจะผลักให้การตาร์หันหาตุรกีที่เป็นขั้วอำนาจใหม่ในตะวันอออกกลางมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสที่อิหร่านจะยื่นมือมาสานสัมพันธ์กับกาตาร์มากขึ้นและจะใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิมซึ่งเท่ากับผลักกาตาร์ไปทางรัสเซียโดยปริยาย สหรัฐฯจึงไม่เห็นด้วยที่ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรใช้มาตรการที่กดดันกาตาร์มากจนเกินไป แต่เรียกร้องให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน

จากวิกฤตตัดสัมพันธ์กาตาร์ที่ทำให้เกิดรอยร้าวในกลุ่ม GCC แล้ว ยังสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยปรากฏขั้วอำนาจที่สามนำโดยตุรกีที่หนุนการปฏิรูปการเมืองตามแบบฉบับของกลุ่มภารดรภาพมุสลิมที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ ตูนิเซีย โมร็อกโค เป็นต้น ในขณะที่สองขั้วเดิมซาอุดิอาระเบียในฝั่งซุนนี่กับชีอะห์ก็ยังแข่งขันต่อสู้กันอยู่ในหลายสมรภูมิตัวแทน

พัฒนาการที่เกิดขึ้นตามมาไม่ว่าจะเป็นการที่ซาอุดิอาระเบียตัดสัมพันธ์การตาร์ แต่ตุรกีหนุนกาตาร์ออกหน้าออกตา รัฐบาลอิรักสานสัมพันธ์อิหร่าน ในขณะที่ผู้นำจิตวิญญาณของอิรักเดินทางพบมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย ส่วนอิหร่านได้ส่งผู้นำทหารระดับสูงพบผู้นำตุรกี ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำว่าตะวันออกกลางได้เข้าสู่โครงสร้างอำนาจแบบ 3 ขั้ว คล้ายสมัยหลังสงครามอ่าวและตลอดทศวรรษ 1990 (ซาอุดิอาระเบีย-อิหร่าน-อิรัก) แต่คราวนี้เป็นขั้วซาอุดิอาระเบีย ขั้วอิหร่าน และขั้วใหม่อย่างตุรกีที่ไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนอิรักในยุคก่อน (ตุรกีมาพร้อมกับกระแสอิสลามการเมืองของกลุ่มภารดรภาพมุสลิมที่กำลังเบ่งบานในตะวันออกกลางหลังจากสร้างฐานมวลชนมาอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประเทศ) ซึ่งภาวะเช่นนี้แม้จะดูไม่ค่อยมีเอกภาพในแต่การแตกออกเป็น 3 ขั้วทำให้แต่ละฝ่ายค่อนข้างสงวนท่าทีของตัวเอง ไม่อยากก่อสงครามเพราะกลัวการเพลี่ยงพร้ำ พูดง่าย ๆ ก็คือคุมเชิงกันไปมา

โดยสรุปอาจกล่วาได้ว่านโยบายของสหรัฐฯต่อซาอุดิอาระเบียภายใต้การกุมบังเหียนของประธานาธิบดีทรัมป์ คือการยกระดับซาอุดิอาระเบียในยุทธศาสตร์ที่จะตอบสนองเป้าหมายในการสนับสนุนความมั่นคงให้กับอิสราเอลและจัดวางผลประโยชน์ด้านการค้าขายอาวุธของสหรัฐฯมากขึ้น ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียเองก็จำเป็นต้องพึงพิงหรือรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่เฉพาะด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ แต่ในทางการเมืองและความมั่นคง นอกจากอิหร่านจะขยายอิทธิพลมากขึ้น ยังปรากฏความแตกร้าวในขั้วซุนนี่และแตกออกเป็นกลุ่มใหม่ที่นำโดยตุรกีและขบวนการภารดรภาพมุสลิมที่เริ่มขึ้นมามีอำนาจในหลายประเทศ เป็นขั้วที่สามที่หนุนการปฏิรูปการเมืองในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสหรัฐฯ มากที่สุดครั้งหนึ่งเพราะการปรากฏขึ้นมาของกลุ่มนี้โดยรูปแบบและแนวคิดจะเน้นความสามัคคีในโลกมุสลิมท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายและสนับสนุนการต่อสู้ของฮามาส จะทำให้ประเทศมุสลิมหันมาให้ความสนใจกับปัญหาการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้นและจะทำให้อิสราเอลไม่มั่นคง พูดง่าย ๆ คือ ความสามัคคีของโลกมุสลิมคือความไม่มั่นคงของอิสราเอล

ดังนั้น นโยบายต่อซาอุดิอาระเบียในฐานะพันธมิตรสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของกลุ่มภารดรภาพมุสลิมในตะวันออกอาจเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องดำเนินการตามที่เคยได้พูดไว้ว่า “ไม่มีใครสนับสนุนอิสราเอลมากเท่าเขาอีกแล้ว เราต้องปกป้องอิสราเอล เพราะอิสราเอลสำคัญกับเรามาก”

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) : นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่งๆ กลางๆ

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11) : ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์ (1)

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11/2) : ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่ 11/3): ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์