Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี รองเท้า, สถานที่กลางแจ้ง และ ธรรมชาติ

จาก LOGO สู่ CONCEPT 
Pa(t)tani Peace Assembly 2017
สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017
โลโก้ หรือสัญลักษณ์ ถือว่าเป็นหน้าตา สร้างภาพลักษณ์ให้น่าจดจำ สร้างกรอบความคิดให้เราร่วมกันคิด ออกแบบในเรื่องราวเหล่านั้น และเห็นความสำคัญในกลุ่มองค์กรต่อกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเด็น และก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสังคมไปในทางทิศทางที่ดีขึ้น

โลโล้ สัญลักษณ์ สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ / ปาตานี 2017
Concept
Pa(t)tani Peace Assembly 2017
สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017

สโลแกนประจำงานปีนี้
“พลังประชาสังคม พลังสันติภาพ”
“Civic Power, Power for Peace”

แนวคิดชื่องาน: สมัชชาสันติภาพ
• การสร้างสันติภาพนั้นต้องการความร่วมมือจากหลายส่วน โดยเฉพาะจากผู้คนที่มีความเห็นขัดแย้งและแตกต่างกัน – เดินพร้อมกัน
• กระบวนการสันติภาพต้องการผู้คนที่หลากหลายช่วยประคับประคอง โอบอุ้ม หนุนเสริมให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ – เราเดินมาได้เกินครึ่งทางแล้ว
• การสมัชชาคือการสร้างพื้นที่กลางให้ฝ่ายต่างๆ ได้ส่งเสียงเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะเสียงจาก “ฝ่ายที่สาม” หรือภาคประชาสังคม

แนวคิดสโลแกน
• ปีนี้ต้องการเน้นให้เห็นพลังของฝ่ายที่สาม– ภาคประชาสังคม – ในการหนุนเสริมสันติภาพ
• พลังที่เกิดจากฝ่ายที่สามมีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของกระบวนการทั้งหมด
• พลังของคนธรรมดาสามัญสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

สมัชชาคือตัวแทนกลุ่มองค์กรหลายๆคณะในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 30 องค์กร เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักข่าว DSJ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ อนาคตพัฒนาสู่ Sinaran News Online ได้รายงานการเตรียมพร้อมความคืบหน้าในการจัดงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 ครั้งนี้ว่า
ได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อร่วมถกอภิปรายและให้ข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายใน 5 ประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม, พื้นที่สาธารณะปลอดภัย, ห้องเรียนสันติภาพ, เด็ก/เยาวชน และการสื่อสารสาธารณะ โดยให้แต่ละกลุ่มได้กำหนดเป้าหมายที่อยากเห็นในระยะเวลา 3 ปี และกำหนดประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อจะนำเสนอในงานสมัชชาสันติชายแดนใต้/ปาตานี 2017 ในวันที่ 18 มีนาคม 2560 นี้ด้วย ดังนี้

ความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม
ประเด็นนี้เคยได้รับการโหวตมาเป็นอันดับที่ 1 ในเวที Mapping CSOs เมื่อปีที่ผ่านมาจาก 5 ประเด็นเร่งด่วนในการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดยในวงย่อยของกลุ่มนี้ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น แรงงานภาคการเกษตรและการประมงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การผลิตของคนในพื้นที่ไม่เพียงพอ อาหารมีราคาสูง นายทุนครองตลาด เป็นต้น
เป้าหมายที่อยากเห็นในระยะเวลา 3 ปีคือ การสร้างเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ และอยากเห็นนโยบายของรัฐที่สอดคลองกับบริบทของพื้นที่ และแนวทางการดำเนินงานก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น การอบรมทั่วไป อบรมในสถาบันการศึกษา รณรงค์สร้างจิตสำนึกของการบริโภค เป็นต้น
ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มนี้ คือ ประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการเกษตรอินทรีย์ โดยการให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ห้องเรียนสันติภาพในชุมชน
ในกลุ่มนี้ได้พูดถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในชุดองค์ความรู้ที่เอื้อต่อเรื่องการสร้างสันติภาพ ชุมชนขาดความไว้วางใจต่อกัน ความคิดหรือมุมมองที่ต่างกันทำให้ขาดการแสวงหาเป้าหมายร่วม เวทีเรียนรู้ประเด็นสันติภาพมีน้อย ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทำให้ขาดโอกาส พื้นที่เรียนรู้ไม่เอื้อต่อชุมชน ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ความตระหนักและสนใจประเด็นสันติภาพมีน้อยเพราะคิดและรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงขาดความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานภาคีภาครัฐในการที่จะหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ประเด็นสันติภาพแก่ชุมชนอย่างจริงจัง เป็นต้น
เป้าหมายในระยะเวลา 3 ปีของกลุ่มนี้ คือ มีห้องเรียนสันติภาพชุมชนในทุกชุมชนเพื่อการศึกษาเรียนรู้ประเด็นสันติภาพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่จริง และสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์ความขัดแย้ง
ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มนี้คือ ให้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระชายแดนใต้ ในเรื่องที่จะให้มีและหนุนเสริมห้องเรียนสันติภาพในพื้นที่และสถานศึกษา

การสื่อสารสาธารณะ
กลุ่มนี้ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกลุ่มสื่อกับเครือข่ายในพื้นที่ทำให้ไม่ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆขององค์กรเครือข่ายที่สามารถนำมาช่วยสื่อสารผ่านสื่อได้ ขาดการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ยังไม่มี TV ชุมชน เป็นต้น
เป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี คือ การมีนักสื่อสารมืออาชีพที่เพิ่มมากขึ้น การมีเครือข่ายนักสื่อสารชายแดนใต้ มีเวทีฝึกอบรมเทคนิคเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพแก่นักสื่อสารชายแดนใต้ เกิด TV ชุมชนชายแดนใต้เกิดศูนย์เรียนรู้ด้านการสื่อสารให้คนชายแดนใต้ทุกด้าน
ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มนี้ คือ จัดตั้งกองทุนนักสื่อสารสันติภาพ/สันติสุขชายแดนใต้ นำร่อง TV ชุมชนชายแดนใต้ และสนับสนุนศูนย์เรียนรู้ด้านการสื่อสารชายแดนใต้

เด็ก/เยาวชน
กลุ่มนี้ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันหลายประเด็น เช่น ปัญหายาเสพติด เด็กติดเกมส์ ท้องไม่พร้อม หลุดจากระบบการศึกษา ครอบครัวหย่าร้าง เด็กแว้น เด็กห่างไกลจากศาสนา เป็นต้น
เป้าหมายที่อยากเห็นในระยะเวลา 3 ปี คือ เด็กอยู่ในระบบการศึกษา เด็กรู้จักภาษาที่หลากหลาย เด็กมีพื้นที่สร้างสรรค์ มีสื่อสร้างสรรค์ ครอบครัวสันติสุข ลดปัญหายาเสพติด ท้องไม่พร้อมต้องหมดไป และเด็กเข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชน
ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มนี้ พูดถึงประเด็นการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และศาสนา ประเด็นครอบครัว ประเด็นการสื่อสารรวมไปถึงพื้นที่กลาง และกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

พื้นที่สาธารณะปลอดภัย
กลุ่มนี้ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ การใช้ความรุนแรงโดยใช้ระเบิดและการยิงทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ทรัพย์สินเสียหาย ผู้คนเสียชีวิตและพิการ บาดเจ็บ มีหญิงหม้าย เด็กกำพร้า ผู้คนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ด่านมากเกินไป รวมไปถึงมีเจ้าหน้าที่มากจนเกินความจำเป็น และเจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่
เป้าหมายในอนาคต คือ อยากให้คนดำเนินชีวิตประจำวันโดยปกติสุข ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ปฏิบัติการทางอาวุธในพื้นที่
ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มนี้ คือ ยุติการปฏิบัติการทางอาวุธในพื้นที่สาธารณะทั้ง 2 ฝ่าย ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งคณะกรรมการในการกำหนดกลไกมาตรการการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่จากทุกภาคส่วน

งานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ / ปาตานี 2017 ถือเป็นการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ/สันติสุข ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งอนาคตในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คนในพื้นที่เป็นคนกำหนดเอง และเสียงของทุกคนมีความหมาย เพื่อหาทางออกในพื้นที่แห่งนี้ เกิดสันติสุข และสันติภาพยั่งยืนต่อไป

ในภาพอาจจะมี 3 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังนั่ง และ ข้อความ