Skip to main content

 

บทใคร่ครวญของมุสลิมะฮ์คนหนึ่ง

 

ยาสมิน ซัตตาร์[1]

 

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ได้ติดตามข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล ที่นับเป็นข้อท้าทายสำคัญสำหรับสังคมไทยและสังคมปาตานีเองไม่น้อย ในประเด็นเรื่องการยอมรับความต่างของสังคม และประเด็นนี้ก็ค่อยๆ ก้าวไปสู่ประเด็นอื่นๆ กระทั่งเกิด Hate Speech ระหว่างกันในสังคม

การเขียนในครั้งนี้ ก็อาจเป็นข้อท้าทายให้กับตนเองไม่น้อยในฐานะของการเป็นทั้งผู้หญิงมุสลิม และเป็นนักศึกษา ปรากฏการณ์ของสังคม หลายๆ ครั้งที่เจอกับข้อท้าทายเช่นนี้เมื่อเกิดการปะทะของชุดความคิดสองแบบที่ไม่เหมือนกัน บางสิ่งที่สังคมเชื่อ แต่อัตลักษณ์กับความเชื่อบางอย่างนั้นสวนทางกันไป แน่นอนว่าเฉกเช่นเดียวกับประเด็นเรื่องเพศวิถีเช่นนี้

ในประเด็นเพศวิถีตรงนี้ ผู้หญิงมุสลิมเองก็มักจะถูกตั้งคำถามหลายครั้งว่า ความเป็นผู้หญิงในแบบอิสลามนั้นคือการถูกละเมิดหรือกดขี่ แน่นอนว่าคงมีหลากหลายงานเขียนก่อนหน้าที่อธิบายสิทธิของความเป็นผู้หญิงในแบบอิสลามไว้อย่างชัดเจนแล้ว หากจะสรุปง่ายๆ สำหรับอิสลามนั้น ผู้หญิงและผู้ชายถูกสร้างมาด้วยความต่าง ฉะนั้นแล้วต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติเพื่อเติมเต็มต่อกัน และอิสลามก็ยังยกระดับของความเป็นผู้หญิงจากสังคมที่ต้องการกำจัดผู้หญิงในเวลานั้น รวมถึงปกป้องผู้หญิง จากสังคมที่ย่ำแย่ ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนนี้เองก็จะเหมารวมเอาวัฒนธรรมบางอย่างของกลุ่มชนในสังคมมุสลิมบางกลุ่มที่ยังคงกดขี่ผู้หญิงว่าเป็นอิสลามนั้นก็อาจไม่ใช่ เพราะถึงที่สุดหากจะเข้าใจจริงๆ แล้ว อาจต้องแยกตัวบทของหลักการที่อิสลามมีไว้ กับการประพฤติของมุสลิมเอง ให้ออกจากกัน

ส่วนตัว ในฐานะของผู้หญิงมุสลิม เป็นอีกคนที่ไม่เคยคิดว่าการเป็นผู้หญิงมุสลิมของตัวเองคืออุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในสังคม หรือการเรียนรู้ต่างๆ เรายังคงแต่งตัวและใช้ขอบเขตของความเป็นผู้หญิงมุสลิมไปยังทุกๆ ที่แห่งการเรียนรู้ได้ อาจเป็นเพราะเมื่อทำความเข้าใจถึงอิสลามแล้ว เรากลับรู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงแบบนี้ที่ได้รับการให้เกียรติคือสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่การที่คนอื่นมาคิดแทนว่าสิ่งที่ผู้หญิงมุสลิมเป็นจะทำให้อึดอัดหรือล้าหลังก็เป็นได้

สำหรับอีกประเด็นที่กลายเป็นประเด็นถกกันในเวลานี้ นั่นคือ ประเด็นของการยอมรับในเรื่องของ LGBTI นับว่าเป็นข้อท้าทายอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม แน่นอนว่าความต่างทางความคิดนั้นเป็นเรื่องธรรมดา และด้วยความต่างก็ทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราใช้หลักคิดเรื่อง สิทธิและเสรีภาพ ทุกคนก็ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะคิด ที่จะทำในแบบที่ตนต้องการ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่สังคมต่างคิดและเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นเช่นนั้น แต่คำถามที่ตามมา ก็อาจเป็นว่า แล้วความเชื่อของเราที่ตัวบทมันมีให้เห็นชัดเจนหล่ะ จะจัดการอย่างไรกับจุดนั้นกัน

หากจะเชื่อมไปกับประสบการณ์ของตุรกี ที่ก็เผชิญกับการรับมือกับกลุ่ม LGBTI ที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งพยายามออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง แม้ว่ากลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิมาตั้งแต่ตั้งประเทศเป็นตุรกีสมัยใหม่ ความพยายามเรียกร้องสิทธิก็มีมาตลอด กระทั่งสามารถเดินขบวนที่ใหญ่ๆ ในประเทศที่มุสลิมเป็นประชากรส่วนมากได้เป็นประเทศแรก แม้ว่าจะยังคงถูกกระทำและประณามจากสังคมโดยรวมเรื่อยมาจนทำให้ตุรกีถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTI จำนวนมาก สถานการณ์ล่าสุดในปีที่แล้วที่มีการห้ามการเดินขบวนเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายในช่วงเวลานั้น ก็เกิดการประท้วงจนมีการสลายชุมนุม แต่หลังจากนั้นในงานหนึ่งประธานาธิบดีแอรโอกฺอานก็เลือกไปนั่งในโต๊ะเดียวกับนักร้องแกนนำคนหนึ่งของ LGBTI ในตุรกี ก็ทำให้เป็นประเด็นตั้งคำถามไม่น้อย แม้ว่าสังคมตุรกีและทางการตุรกียังไม่ยอมรับสิทธิของคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับประเทศอีกหลายๆ ประเทศ แต่ก็มีการคุ้มครองในเรื่องการถูกกระทำความรุนแรงหรือการใช้ Hate Speech ดังนั้นแล้ว เรื่องเช่นนี้ยังคงเป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมมุสลิมเอง แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ถูกมองว่าเปิดกว้างในเรื่องอื่นๆ อย่างตุรกีก็ตาม

ส่วนตัวมองว่า ปัญหาแบบนี้ นั้นต้องอาศัยความเข้าใจต่อกัน และความอดทนอดกลั้นต่อกันเป็นอย่างมาก หากกล่าวเช่นเดียวกับ ศ.ดร.ฏอริค รอมฎอน ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ท่านก็ระบุไว้ว่า เราจำเป็นที่ต้องแยกแยะ ในส่วนประเด็นของพื้นที่ส่วนตัว ที่ทุกคนต่างมีสิทธิที่จะทำในแบบที่ตนเชื่อ และเราต่างก็เคารพในความเป็นตัวตนของแต่ละคน แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยต่อกัน แต่เมื่อมาถึงส่วนที่จะต้องยอมรับกับประเด็นนี้ในพื้นที่สาธารณะหรือเข้าสู่กรอบกฎหมายใดๆ แน่นอนว่ามุสลิมก็จำเป็นต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ ตามหลักการที่ถูกระบุไว้ว่าคือข้อห้าม และสำหรับมุสลิมที่เป็น LGBTI ก็จำเป็นต้องต่อสู้กับตัวเองเพื่อก้าวผ่านบททดสอบไป แม้ว่าจะมีคนตั้งคำถามว่ามันดูล้าหลัง แต่ถึงที่สุดแล้วการคิดว่านั่นคือความล้าหลังก็เป็นความคิดและความเชื่อในแบบของคนที่เห็นต่างกันเช่นกัน

เมื่อมาถึงจุดนี้ หากจะให้เดินออกจากจุดยืนหรือกรอบคิดทางศาสนา มันก็เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกันกับที่เราไม่สามารถให้คนมาคิดในแบบที่มุสลิมคิดได้ เพราะสำหรับอิสลามไม่มีการบังคับ ถึงที่สุดแล้วนั้น เราอาจจะต้องพิจารณาบริบทที่กำลังเกิดขึ้น แล้วรับมือกับข้อท้าทายแบบนี้ด้วยแนวทางสันติ ซึ่งเป็นแนวทางที่อิสลามสอนมา เช่นเดียวกับที่สังคมเองก็ควรใช้บทสนทนาที่เข้าใจและอดทนอดกลั้นด้วยเช่นกัน

การปะทะกันระหว่างความคิดที่ต่างมันเป็นเรื่องที่อ่อนไหว โดยเฉพาะกับพื้นที่อ่อนไหวเช่นปาตานี ที่ประกอบไปด้วยคนที่ยังคงใกล้ชิดกับความเชื่อ แม้ว่าจะเป็นความเชื่อในเฉดที่ต่างกันออกไป แต่บริบทของพื้นที่แบบนี้ หลายครั้งที่ทำให้ประเด็นที่อ่อนไหวอยู่แล้ว ยิ่งอ่อนไหวมากขึ้นไปอีก ถึงจุดนี้เอง ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบท ความเชื่อ ความกังวลและความพร้อมของสังคมในการรับมือกับประเด็นอ่อนไหวบางประการด้วยเช่นกัน เราต่างพูดกันเสมอว่าหากเราต้องการจะเข้าใจสังคมใด ก็ต้องเอาความคิดของเราออกไปและทำความเข้าใจสังคมนั้นๆ แม้ว่าบางกลุ่มที่เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นเสียงที่ต้องถูกรับฟังเช่นกันจะมีอยู่ แต่อุณหภูมิของสังคมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องวัดและทำความเข้าใจ การเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องราวที่จำเป็นในกระบวนการสันติภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมองข้ามบริบทของสังคมคนกลุ่มใหญ่เช่นกัน ในมิติเช่นนี้จึงต้องหาจุดประนีประนอมอย่างสร้างสรรค์ต่อกัน

สำหรับกลุ่มที่เห็นต่างเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งท้าทายสำหรับสังคมมุสลิมว่าจะปฏิบัติด้วยวิธีการแบบใด แน่นอนว่าจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น แม้ตัวเราจะไม่ได้เห็นด้วยก็ตามที แต่การใช้การประณามหรือทำร้ายก็ไม่ใช่วิถีของมุสลิมที่ควรเป็น วิธีการรับมือตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

บทเรียนครั้งนี้ ก็สะท้อนให้ตนเองเห็นได้เลยว่า ถึงที่สุดแล้ว ความขัดแย้งที่อยู่บนฐานของความเชื่อนั้นมันมีพลังมากกว่าที่เราจะคาดเดาได้ แต่เราจะรับมือและจัดการกับมันอย่างไรให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยสันติ นั่นเป็นข้อท้าทายที่สำคัญไม่น้อย

 

ป.ล.สำหรับเรื่องการเล่นกีฬา อาจไม่ใช่ประเด็นน่าเป็นห่วง เพราะส่วนตัวก็เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายคนหนึ่ง แต่เรื่องที่สำคัญอาจจะอยู่ที่พื้นที่ที่ใช้ในการออกกำลังกายต่างหาก ที่ตุรกีจะมีฟิตเนสสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะอยู่หลายที่ ซึ่งผู้หญิงไม่ว่าจะคลุมฮิญาบหรือไม่คลุมฮิญาบก็มักเลือกมาฟิตเนสแบบนี้แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเล็กน้อยก็ตาม ฉะนั้นแล้วทางออกสำหรับเรื่องกีฬาสำหรับมุสลิมะห์นั้นมีอยู่ เพียงแต่พื้นที่แบบนี้เรายังขาดไปหรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนกันต่อไป

 

#เสี้ยวของความคิดและการตั้งคำถาม



[1] นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกี