Skip to main content

 

เลขาธิการ UN ร่วมประชุมปางโหลงของพม่า

http://goo.gl/OAcRMu

#ข่าว3มิติ

 

 

31 สิงหาคม 2559 เมียนมาจะเปิดการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 69 ปี ซึ่งรัฐบาลพม่าเคยทำสนธิสัญญาปางโหลงกับกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อปี 2490 แต่สนธิสัญญาปางโหลงกลายเป็นโมฆะ หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ กลายเป็นที่มาให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจับอาวุธสู้รบกับพม่า รัฐบาลเมียนมา เรียกการประชุมครั้งนี้ว่า Panglong Spirit หรือจิตวิญญานปางโหลง ที่จะร่วมกันสร้างประชาธิปไตย โดยเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ให้การต้อนรับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21

เลขาธิการยูเอ็น ตอบรับที่จะร่วมกล่าวเปิดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ในรอบ 69 ปีครั้งนี้ เพราะจะเป็นก้าวย่างสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพของเมียนมา หลังรัฐบาลพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แม้นางอองซานซูจี ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ แต่เธอได้แสดงบทบาทในการสร้างสันติภาพซึ่งเป็นที่คาดหวังจากทุกฝ่าย นอกเหนือจากบทบาทที่เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1991นางซูจี ใช้เวลา 5 เดือนเดินหน้ากระบวนการสันติภาพด้วยการจัดประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21

นับจากพม่าได้ทำสนธิสัญญาปางโหลงกับกลุ่มชาติพันธ์ในปี 1947 หรือปี 2490 โดยนายพลอองซาน บิดาของนางอองซานซูจี ต้องการรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ในขณะนั้นคือ รัฐฉานหรือไทใหญ่ รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยตกลงกันในสัญญาปางโหลงว่า เมื่อได้รับเอกราชแล้ว หลังจากนั้น 10 ปี จะให้แต่ละชาติพันธุ์ปกครองตนเอง แต่หลังพม่าได้รับเอกราชในปี 2491 เป็นสหภาพพม่า นายพลอองซาน ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกลอบสังหาร มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเป็นนายอูนุ แม้สัญญาปางโหลงจะถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2490 แต่ เมื่อได้รับเอกราชครบ 10 ปี พม่าไม่ทำตามสัญญาที่จะคืนอำนาจให้แต่ละรัฐ แต่ละชาติพันธุ์ปกครองตนเอง หลังจากนั้น นายพลเนวินได้ยึดอำนาจจากนายอูนุ รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง สัญญาปางโหลงจึงกลายเป็นโมฆะ กลายเป็นที่มาให้กลุ่มชาติพันธุ์จับอาวุธมาสู้รบกับพม่ายาวนานกว่า 60 ปี รวมถึงชาติพันธุ์อื่นในพม่า เช่น กระเหรี่ยง มอญ และอาระกันหรือยะไข่

จนรัฐบาลพเอกเต็งเส่ง เริ่มกระบวนการสันติภาพ สามารถลงนามหยุดยิงกับ 8 กลุ่มชาติพันธ์ได้สำเร็๋จเมื่อ 15 ตุลาคม ปีที่แล้ว และรัฐบาลนางอองซานซูจี ได้สานต่อ โดยจะมี 18 กลุ่มชาติพันธุ์มาเข้าร่วม ไม่มาเข้าร่วม 3 หลุ่มคือ ดาราอั้ง ปะหล่องและกองทัพอารากันที่ยังมีการสู้รบ และจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

รัฐบาลเมียนมา เรียกการประชุมครั้งนี้ว่า Panglong Spirit หรือจิตวิญญาณปางโหลงเพราะจะเป็นการเริ่มกระบวนการเจรจาทางการเมือง ยุติสงครามกลางเมืองที่มีมายาวนานกว่า 60 ปี

"รัฐบาลเรียกการประชุมครั้งนี้ว่า Panglong Spirit จิตวิญญาณปางโหลง เรามีสนธิสัญญาปางโหลงปี 1947 เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องเอกราช แต่การประชุมครั้งนี้เรารวมกันอีกครั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตย ก้าวสู่การเป็นสหพันธรัฐ ซึ่งจะเริ่มต้นจากการเจรจาทางการเมืองในการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 วันพรุ่งนี" Min Zaw OO คณะทำงานจัดการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21

ดร.มิน ซอ อู ที่ร่วมทำงานในศูนย์สันติภาพเมียนมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เชื่อว่า หลังการประชุมวันพรุ่งนี้ กลุ่มชาติที่พันธุ์ที่ยังไม่ลงนามหยุดยิ่งจะลงนาม NCA ทำให้ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพเข้าสู่การเจรจาทางการเมือง ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 3-4 ปี ในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ

เจ้าขุนแสง เลขาธิการพรรครัฐฉานก้าวหน้า หรือ SSPP กองทัพรัฐฉานเหนือ ที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง เปิดเผยว่า SSPP ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมพรุ่งนี้เพราะคาดหวังจะเห็นสนธิสัญญาปางโหลงเกิดขึ้นจริงตามข้อตกลงที่จะให้ทุกรัฐมีสิทธิปกครองตนเองอย่างเท่าเทียม ซึ่งตรงกับข้อเรียกร้องของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ หากรัฐบาลพม่าทำได้ ทุกชาติพันธุ์ก็จะอยู่ร่วมกันได้ และ กองทัพรัฐฉานเหนือพร้อมจะยุติการสู้รบ ซึ่งรัฐฉาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด จึงมีการประชุมร่วมกันทั้ง SSPP สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉานใต้ที่นำโดยพลโท เจ้ายอดศึกได้ลงนามหยุดยิงไปแล้ว และพรรค SNLD ,SNDP เพื่อสร้างเอกภาพในการพูดคุยสันติภาพของชาวไทใหญ่

"สิ่งที่ไทใหญ่จะพูดในการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 คือเราอยากเห็นปางโหลง 1947 เกิดขึ้นจริง เราจะเรียกร้องนานาชาติให้ช่วยกันผลักดันให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง" เจ้าคืนใส ที่ปรึกษาสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS/SSA

การแถลงข่าวของเลขาธิการสหประชาติ ยืนยันด้วยว่า UN พร้อมสนับสนุนการก้าวสู่สันติภาพของเมียนมา เพื่อให้ประชาชนทุกชาติพันธุ์ และผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงผู้ลี้ภัยในไทยกว่า 1 แสนคน ได้มีโอกาสกลับประเทศ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งต้องได้รับความร่วมือจากทหาร กลุ่มชาติพันธุ์และภาคประชาสัง ในการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา รวมถึงการแก้ปัญหาโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ยินดีกับการที่ นายโคฟี่ อันัน อดีตเลขาธิการ UN ตอบรับเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายของเมียนมา