Skip to main content

โจทย์ของเราวันนี้คือ ภาคประชาชนจะทำอย่างไรที่จะสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งได้ และรับมือกับปรากฏการณ์ออนไลน์ร่วมสมัย เช่น เรื่องนักป่วนออนไลน์ หรือการออกแบบการสื่อสารโดยอาศัยข้อมูลได้อย่างไร? ‘จุฑิมาศ สุกใส’ นักวิจัยอิสระ พาเราไปคุยกับ ‘ซันจานา หัตโถธุวะ’ (Sanjana Hattotuwa) นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อของศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นนักออกแบบการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และสนใจศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับระบบนิเวศของสื่อมวลชนในการสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ  หนึ่งใน โครงการที่น่าสนใจของเขาคือ เว็บไซต์สื่อชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในศรีลังกา และโครงการ ICT4Peace

 

บทเรียนจากสื่อพลเมืองศรีลังกา “ซันจานา หัตโถธุวะ”:

สื่อสังคมออนไลน์ช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างไร?


จุฑิมาศ สุกใส

 

“ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและคนที่รับสารทั่วไปในปัจจุบันนี้ไม่อ่านอะไรยาวๆ อย่างงานวิจัยหลายสิบหลายร้อยหน้าแล้ว เขาอยากอ่านอะไรที่สั้นๆ เข้าใจง่าย เหมือนอย่างมีม (Meme) ที่มีรูปภาพและคำพูดคมๆ กระชับมากกว่า”  เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้จาก ‘ซันจานา หัตโถธุวะ’ (Sanjana Hattotuwa) นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อของศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา

          นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิส่งเสริมสันติภาพในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังทำงานขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการวิกฤติและการรักษาสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติอีกด้วย ในปี 2553 เขาเป็นชาวศรีลังกาคนแรกที่ได้รับทุน TED Fellowship และทุนด้านการเป็นผู้ประกอบการข่าวสารและความรู้จากมูลนิธิ Ashoka

         ซันจานาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นนักออกแบบการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และสนใจศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับระบบนิเวศของสื่อมวลชนในการสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ  หนึ่งใน โครงการที่น่าสนใจของเขาคือ เว็บไซต์สื่อชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในศรีลังกา และโครงการ ICT4Peace

         โจทย์ของเราวันนี้คือ ภาคประชาชนจะทำอย่างไรที่จะสามารถสื่อสารในสถานการณ์ความขัดแย้งได้ โดยไม่ต้องมีนักเขียนโปรแกรม เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ใช้วิธีลงแรง ไม่ต้องลงเงินมากมายนอกจากคอมพิวเตอร์ กล้องที่มี และค่าอินเทอร์เน็ต และจะรับมือกับปรากฏการณ์ออนไลน์ร่วมสมัย เช่น เรื่องนักป่วนออนไลน์ หรือการออกแบบการสื่อสารโดยอาศัยข้อมูลอย่างไร?

เขียนไม่ได้ แนะใช้ 'ภาพถ่าย' ขับเคลื่อนสังคม

         ซันจานาเล่าเรื่องโครงการ “ภัณฑารักษ์หมุนเวียน” ในอินสตาแกรม (INstagram.com) “คุณแค่เปิดอินสตาแกรมอันหนึ่ง แล้วก็เริ่มถ่ายรูปที่สะท้อนปรากฏการณ์เชิงประเด็นของคุณสักสองสัปดาห์ อาจจะมีการคุยประเด็นกันว่าเราจะถ่ายภาพเชิงประเด็นอะไร เขียนคำบรรยาย ติดแฮชแท็กที่กำหนดร่วมกัน พอครบสองอาทิตย์ แล้วก็เอาชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่านส่งต่อให้คนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการภัณฑารักษ์หมุนเวียนไปถ่ายรูป เขียนคำบรรยายต่อ พอจบโครงการ คุณจะได้ภาพเเละเรื่องเล่าจากที่ต่าง ๆ  ที่เชื่อมร้อยหัวข้อที่กำหนด หรือจะให้คนอื่นถ่ายภาพไว้ที่แอคเคาทน์ของเขาเองแล้วติดแฮชแท็กที่คุณกำหนดก็ได้เหมือนกัน

         วิธีนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ใช้อินสตาแกรมสามารถมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเรื่องเล่าหรือประสบการณ์ในชีวิตประจำวันผ่านภาพ ซึ่งเหมาะกับกรณีที่เราอยากดึงให้คนที่มีปัญหาเรื่องการเขียน หรือไม่สามารถหาเครื่องมือและตัดต่อวิดีโอได้คล่องให้เข้ามามีส่วนร่วมสื่อสารขับเคลื่อนเชิงประเด็นได้อย่างหลากหลาย โดยที่ไม่ต้องลงทุนทำเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ โดยอินสตาแกรมเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการฟรีและมีผู้ใช้จำนวนมาก ทั้งยังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย จึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแทบไม่ต้องลงทุนอะไร แต่สามารถแผยแพร่ไปให้ผู้รับสารได้จำนวนมาก ถ้าประชาสัมพันธ์ดี ๆ ก็จะมีคนเข้ามาร่วมถ่ายภาพเล่าเรื่องได้มาก คุณก็จะได้นิทรรศการออนไลน์ที่รวบรวมมุมมองและความคิดที่หลากหลายจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีก”

เปิดพื้นที่เพิ่มเสียงให้ 'คนชายขอบ' นิยามตนเอง

         “ผมคิดว่าการหารูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนที่เราต้องการคุยด้วยและเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมในการสื่อสาร การสร้างเนื้อหา สร้างเรื่องเล่าของตนเอง การนิยามตนเองว่าเขาเป็นใคร ต้องการอะไร ได้เปิดผยอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับไว้อย่างยาวนานเป็นสิ่งที่มีพลังมาก การที่เล่าเรื่องและเผยแพร่เรื่องของตนเอง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและมีพลัง โดยเฉพาะคนชายขอบ คนที่เคยเป็น ‘เหยื่อ’ ในสังคม ที่ไม่ค่อยมีปากเสียง และมีคนพูดแทนพวกเขาตลอดเวลา การเล่าเรื่องช่วยทำลายมายาคติและทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างจากการเล่าเรื่องกระแสหลัก ซึ่งบางทีก็เป็นเหยื่อของการนำเสนอแบบผิวเผินที่อาจตอกย้ำอคติ อาจจะไม่ถึงขนาดสร้างความเกลียดชัง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้จักเพื่อนร่วมสังคมของเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ทำให้เราสัมผัสถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมของเรา การเปิดพื้นที่สื่อใหม่เพื่อเข้าไปทำความรู้จักกับความหลากหลาย จึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสังคมที่อดทนต่อความเห็นต่าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเคารพความเป็นมนุษย์”

         “ลองไปดูโครงการภาพถ่ายเล่าเรื่องในอินสตาแกรมที่ดังๆ ก็จะเป็นเรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ ที่เราเคยคิดว่าใครจะไปสนใจ แต่จริงๆ แล้วโครงการภาพเล่าเรื่อง หรือวิดีโอเล่าเรื่องที่จับภาพชีวิตคนธรรมดาดังมาก ลองดูโครงการที่คนไทยพอจะรู้จักอย่าง humans of New York  ก็ได้   http://www.humansofnewyork.com/ หรือในอินสตาแกรมก็มีตัวอย่างหลายราย ที่เป็นเรื่องในมุมมองที่น่าสนใจของคนธรรมดา  ทุกคนมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจนะครับ เพียงแต่รอการบันทึกและการถ่ายทอดอยู่ วิธีนี้เป็นการสร้างพลังให้กับคนธรรมดาๆ และทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น ถ้าทำในอินสตาแกรมแล้วคนแชร์มากๆ ก็ยิ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องที่เราอยากจะสื่อสารไปในตัว”

           สื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในสังคม แต่ถ้าไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ ซันจานาบอกว่า เรายังสามารถใช้เครื่องมือพื้นๆ อย่างเช่น ข้อความสั้นทางโทรศัพท์ (SMS) หรือหมายเลขโทรศัพท์ ที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล แสดงความคิดเห็น เช่น โทรศัพท์เข้าร่วมแจ้งเหตุ หรือโทรเข้าฮอทไลน์ที่มีการบันทึกเสียงไว้เป็นข้อมูล หรือจะส่ง SMS ไปที่เบอร์โทรที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ  “การออกแบบการสื่อสารในพื้นที่คงต้องดูว่า คนในพื้นที่มีทรัพยากรอะไรอยู่เเล้ว จากนั้นหาระบบเข้าไปรองรับต้นทุนที่มีอยู่ตรงนั้น หลายพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือค่าบริการอินเทอร์เน็ตแพง ระบบ SMS เพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลก็สามารถใช้ได้อย่างได้ผลเหมือนกัน”

ใช้สื่อออนไลน์ 'ค้นความจริง สยบข่าวลือ'

         สำหรับซันจานาบทบาทที่สำคัญของสื่อสังคมออนไลน์อีกประการหนึ่ง คือ การค้นหาความจริงระยะสั้นอย่างรวดเร็ว “ลองคิดดูนะครับว่าทุกวันนี้มีข่าวลวง ข่าวลือมากมาย แต่เราสามารถตรวจสอบได้โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หลายคนอาจจะคิดว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องแพร่ข่าวลือ  แต่จริงแล้ว เราสามารถส่งสารหาคนในพื้นที่ให้สามารถไปถ่ายรูป ตรวจสอบข้อมูล  แล้วก็เอามาโพสต์ ก็เป็นการต่อต้านการสร้างข่าวลือหรือช่วยสลายข่าวลือได้ อย่างถ้าใช้ทวิตเตอร์ (twitter.com) หรืออินสตาแกรม ก็สามารถถ่ายภาพสดแล้วก็แท็กสถานที่ เวลา เพื่อยืนยันและแชร์กันไป อันนี้ก็ช่วยจัดการข่าวลือได้อย่างดี”

         การสยบข่าวลวงและข่าวลือมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความรับรู้ที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในบริบทของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองหรือความขัดเเย้งที่ใช้อาวุธ  และทำให้ประชาชนไม่ตกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

         แน่นอนว่านอกจากเรื่องข่าวลือทุกที่มีตัวป่วน ในอินเทอร์เน็ตมีโทรล หรือตัวป่วนที่โพสต์ข้อความไม่พึงประสงค์ ดูถูกเหยียดหยาม ใส่ข้อมูลเท็จ ป่วนหรือ “เกรียน” ผู้อื่น การเปิดพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์จะทำอย่างไรกับบุคคลเหล่านี้

         “ตอนแรกที่ผมทำเว็บไซต์เปิดให้คนมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสื่อภาคพลเมือง ช่วงเวลาที่ศรีลังกายังมีความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทามิล รวมทั้งมีแนวคิดเหยียดชาติพันธุ์ ศาสนา ผมดูและกรองคอมเมนท์เองทุกวัน ตอนหลังเรามีแอดมินมาช่วยดู ในฐานะแอดมินเราก็คัดกรองเรื่องที่เป็นอันตรายจริงๆ  ตามนโยบายของเว็บ หรือเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท ขู่ฆ่า นัดกันก่อความรุนแรง ฯลฯ ท้ายที่สุดสังคมออนไลน์หรือสังคมโลกจริงต่างก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการและอยู่ร่วมกับความเห็นต่าง ไม่ใช่ว่าเราจะไปเซ็นเซอร์ทุกอย่างที่เราไม่ชอบ เพราะของแบบนี้ คนอ่านที่ยังมีสติอยู่เขาสามารถแยกแยะได้ ว่าอะไรคือการปลุกระดม อะไรคือการสื่อสารด้วยเหตุด้วยผล”

         “เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีพื้นที่เปิดทางการเมืองบนสื่อ ใครๆ ก็สามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นเข้าไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องยอมรับความคิดเห็นที่อ่านดูก็รู้ว่าเป็นตัวป่วน ถ้าเนื้อหาไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยให้เขาโพสต์ไป ถ้ายิ่งไปสนใจมากเขาก็ยิ่งป่วนมาก คนอื่นๆที่ยังรักษาบรรยากาศการสนทนาด้วยเหตุด้วยผลก็สามารถคุยกันต่อได้ ในสังคมปกติ เราก็มีพวกตัวป่วนแบบนี้ ก็ขอให้ถือว่าเป็นบทเรียนว่าการสร้างสันติภาพ การอยู่ร่วมกับความหลากหลายเราต้องมีความอดทนกับสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทนถ้าทำผิดกติกามากๆ ผู้ใช้คนอื่นอาจจะรายงานให้บล็อค หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ได้ ”


 

ใช้ 'Big Data' สร้างยุทธศาสตร์การสื่อสาร

         นอกจากเป็นนักกิจกรรมด้านการสื่อสารและขับเคลื่อนสังคมเเล้ว ซันจานายังสนใจ “Big Data”  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้สร้างขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อศึกษาถึงแนวโน้มและการวางแผนเพื่อรับมือกับสถานกรณ์ในอนาคต

         บิ๊ก ดาต้า คือข้อมูลที่เกิดจาก การสำรวจเเละติดตามดูพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากแหล่งต่างๆ เช่น คำค้นในกูเกิ้ล (google) คำที่ใช้บ่อยเเละมากที่สุดในทวิตเตอร์ (Trending)  หรือแม้กระทั่งคำค้นที่ผู้อ่านใช้เพื่อหาบล็อก (Blog) หรือเว็บไซต์ขององค์กร ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นแนวโน้ม ความต้องการของคนที่ค้นหาข้อมูล หรือคำที่คนนิยมพูดถึงในบล็อก 10 อันดับแรก  ข้อมูลเหล่านี้อาจเก็บผ่านเว็บไซต์สำหรับค้นหาข้อมูล  โซเชียลเน็ตเวิร์ก อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งได้มาง่ายๆ โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์การใช้เว็บของกูเกิ้ล เช่น กูเกิ้ล อนาลิติค (google analytigs) หรือเครื่องมือวิเคราะห์การเข้าชมและกิจกรรมในบล็อก หรือเว็บไซต์  ฯลฯ  ที่สามารถสื่อถึงความต้องการ ความคิด หรือประเด็นที่เป็นที่สนใจของผู้อ่านหรือผู้ใช้ในขณะนั้น

         ซันจานาแนะว่าข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มาก ในทุกระดับ ทั้งในการปรับแต่งและออกแบบการสื่อสาร ให้เหมาะกับความต้องการของผู้อ่านเเละ/หรือใช้ข้อมูล ใช้เพือวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การสื่อสารในอนาคต รวมทั้งยังสามารถร่วมกับองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม บิ๊ก ดาต้า เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ด้วย
เขายกตัวอย่างว่า หากเราวิเคราะห์ว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย หรือพื้นที่มีความขัดแย้งใช้คำค้นอะไรในกูเกิ้ล หรือสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เราย่อมสามารถ “วัดอุณหภูมิ” หรือคาดคะเนทิศทางความสนใจของประชาชนในพื้นที่  การวิเคราะห์คำค้น จึงเป็นทั้งเครื่องมือในการทำนายความสนใจและทิศทางของสาธารณะ เเละยังสามารถส่งสัญญาณเตือนหรือยืนยันให้เห็นแนวโน้มที่อาจส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพต่างๆ  ได้ก่อนที่จะเกิดเหตุนั้นจริงๆ  ทำให้เหมือนสามารถมองเห็นแนวโน้มลางๆ จากโลกออนไลน์ไปสู่โลกจริงได้บ้าง

         “สื่อใหม่เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการจับกระเเสสังคม แค่เข้าไปดูว่าคนกดไลค์อะไรมากๆ ก็สามารถบ่งชี้ทิศทาง อารมณ์ ความรู้สึกร่วมของคนในพื้นที่ การสังเกตเเละติดตามอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์อย่างมากถ้าเราทำงานกับความขัดแย้ง เราสามารถหาตัวแสดงที่มีอิทธิพล ตัวป่วน ฯลฯ  และสามารถพิจารณาว่าจะใช้การสื่อสารเพื่อสร้างกระแสลดความชอบธรรมในการกระตุ้นเร้าความเกลียดชังและความรุนแรงได้อย่างไร เรายังสามารถสร้างระบบการเตือนเเละเตรียมตัวรับมือกับความรุนแรงที่เป็นแรงกระเพื่อมจากโลกออนไลน์มาสู่ชีวิตจริง และเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้”

         สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสื่อสารกลับมายังเจ้าของเว็บไซต์ เจ้าของบล็อก หรือแม้กระทั่งคนที่มีเครื่องมือการรับฟัง “เสียง” ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต  น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยใช้ข้อมูลด้านนี้ให้เป็นประโยชน์ในการออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับผู้รับสารเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ใช้การสื่อสารขับเคลื่อนสังคมมือใหม่

         “ผมคิดว่านอกจากสื่อสารแล้ว เราต้องอาศัยข้อมูลการบริโภคสารและแนวโน้มเหล่านี้มาใช้เพื่อออกแบบการสื่อสาร ถ้าคนไม่อ่านตัวหนังสือมาก ก็ไม่เป็นไร สมัยนี้การสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอสั้นๆ สามารถเข้าถึงและทำให้ผู้ชมสนใจมากกว่า ผมจะไม่บ่นนะว่า ‘ทำไมคนอ่านตัวหนังสือน้อยลง’ แต่ถ้าเขาชอบแชร์ภาพมีม หรือว่าวิดีโอ ทำไมเราไม่ทำภาพมีมโดนๆ หรือทำวิดีโอที่สามารถแชร์เป็นไวรัล เพื่อสื่อสารกับผู้รับสารจำนวนมากกว่า แทนการเขียนเว็บยาวๆ ตัวหนังสือเยอๆ ล่ะ”

ใช้เป็นและตระหนักรู้เกี่ยวกับ 'ความปลอดภัยสื่อออนไลน์'

          ซันจานา กล่าวว่า “ในการสื่อสารกับคนจำนวนมาก ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีความตระหนักรู้เรื่องสื่อออนไลน์ ไม่ใช่แค่สื่อออนไลน์มีอันตรายอย่างไร แต่เราต้องรู้ว่าจะใช้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ทำอย่างไรให้ผู้ใช้สามารถใช้สื่อโดยไม่สร้างมลภาวะในโลกออนไลน์ ปลุกเร้าความเกลียดชัง หรือเป็นเหยื่อของขบวนการสร้างความเกลียดชัง ผู้ใช้ควรสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรมีเหตุผล อะไรไม่มีเหตุผล ถ้าปลูกฝังหรือให้การศึกษาเด็ก ๆ ไม่ทัน ก็ต้องมีนโยบายที่เหมาะสมในการจัดการตัวป่วน จัดการกับข้อความที่ทำร้ายผู้อื่นหรือก่อให้เกิดอันตราย โดยที่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วย”

         “อีกเรื่องที่ต้องเรียนรู้คือเรื่องความปลอดภัยในใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะคนที่เคลื่อนประเด็นการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นเรื่องอ่อนไหวและขัดแย้งกับรัฐหรือแนวคิดกระแสหลัก อาจจะต้องระวังว่า ในขณะที่เราจับตาดูรัฐ รัฐก็จับตาดูเราด้วย พลาดอะไรขึ้นมา รัฐก็มีอำนาจและทรัพยากรในการจัดการคนเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า อย่าคิดแบบประมาทว่าคุณเป็นคนตัวเล็กๆ  ไม่มีข้อมูลอะไรสำคัญ คงจะไม่โดนแฮคหรือโดนล้วงข้อมูล เรื่องนี้ก็ไม่แน่เพราะคนตัวเล็กๆ ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นก็ระวังตัวและข้อมูลให้ปลอดภัยกัน พยายามหาความรู้และปรับการรักษาความปลอดภัยออนไลน์อย่างสม่ำเสมอด้วยครับ”

         นี้คือการแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์สื่อภาคพลเมืองของศรีลังกาสู่สังคมไทย.
        - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อ่านเพิ่มเติม 

- “ไม่สามารถแยกการสื่อสารออกจากสันติภาพได้” ปาฐกถาพิเศษของ Sanjana Hattotuwa

หมายเหตุ:  บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3 วารสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม ที่วางอยู่บนฐานคิด “พลังสื่อขับเคลื่อนในมือคุณ” (new media people can do) เพราะเมื่อภูมิทัศน์การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป วาระข่าวสารและการสื่อสารไม่ได้ผูกขาดในมือนักสื่อสารมืออาชีพอีกต่อไป และเน้นย้ำว่าสิทธิการสื่อสารเป็นเรื่องของทุกคนที่เทคโนโลยีสนับสนุนให้ทุกคนทำได้มากขึ้นจนเป็นพลังแห่งพลเมืองผู้เปลี่ยนแปลง เนื้อหาสาระจึงเป็นเรื่องราวเพื่อถ่ายถอดประสบการณ์ เปิดพื้นที่การสื่อสาร รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน ท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยและเคารพต่อเสียงที่แตกต่างกัน โดย ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3-4 จะออกมาต้นปี 2015