Skip to main content

เมื่อวันอังคาร ที่ 16 ธันวาคม 2014 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในเมืองเปชาวัร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน แม้ว่ายังมีข้อสงสัยถึงกลุ่มที่ปฏิบัติการที่แน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นการอ้างชื่อของกลุ่มก่อการร้ายภายใต้การกระทำของกองทัพปากีสถานในช่วงการเมืองปากีสถานที่ทหารเข้ามามีบทบาทสูง บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มที่สนับสนุนโดยอเมริกา บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มติดอาวุธที่อ้างว่าเป็นกลุ่มเตหฺรีคอีฎอลิบาน (Tehreek-e-Taliban Pakistan (TTP)) ซึ่งเป็นเพียงสาขาหนึ่งของกลุ่มฎอลิบานในอัฟกานิสถานหากแต่มีแนวทางการดำเนินการที่ต่างไปจากองค์กรแม่ ปฏิบัติการที่อ้างว่าเป็นการทำของกลุ่มนี้ผ่านการยอมรับของโฆษกกลุ่มเองได้ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตของผู้คนบริสุทธิ์จำนวนมากหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ระเบิดในการาจี การปะทะกันที่ด่านชายแดนอินเดียและปากีสถาน รวมไปถึงการระเบิดในโบสถ์ซิกข์ในเมืองเปชาวัรเองในปีที่ผ่านมา เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้กองทัพปากีสถานมีการควบคุมการปฏิบัติการมากขึ้น จนทำให้การปฏิบัติการของกลุ่มเป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้ล่าสุดไม่มีใครคาดคิดว่าองค์กรที่อ้างแนวคิดอุดมการณ์อิสลามนิยมจะเลือกเป้าหมายเป็นโรงเรียน ซึ่งแน่นอนว่าขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม ทั้งยังถูกประณามแม้แต่จากองค์กรแม่อย่างฏอลิบานในอัฟกานิสถานเอง

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของกองทัพ โดยอ้างว่าเป็นการแก้แค้นต่อปฏิบัติการณ์การกวาดล้างทางตอนเหนือของวาริซสถานของกองทัพรัฐบาลปากีสถาน ครั้งนี้ส่งผลให้กว่า 142 คนเสียชีวิต ซึ่งในจำนวนนี้ 132 คนเป็นเด็ก นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทีสะเทือนขวัญมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง เนื่องจากว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง คือ เด็ก ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับสงครามและความขัดแย้ง อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายอ่อนที่บริสุทธิ์

การปะทะโดยใช้โรงเรียนเป็นสนามนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่ในหลายพื้นที่ขัดแย้ง โรงเรียนได้กลายมาเป็นสนามรบ เพื่อสร้างสถานการณ์เรียกร้องหรือแก้แค้นกันระหว่างคู่ขัดแย้งอย่างไร้ความปราณี หากเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลักๆ ที่โรงเรียนกลายเป็นเป้าหมาย จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นหลายครั้ง

เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา อิสราเอลได้ระเบิดโรงเรียน ที่กลายเป็นที่พักพิงของชาวปาเลสไตน์กว่าสามพันคน ในระหว่างการทำสงครามในกาซ่า ในไนจีเรีย กลุ่มติดอาวุธโบโกฮาราม (Boko Haram) ได้เข้าไปปฏิบัติการในโรงเรียนหลายครั้งโดยอ้างว่าเป็นการต่อต้านการศึกษาในแบบตะวันตก

ในวันที่ 20 เมษายน 1999 มีนักเรียนสองคนได้เข้าไปยังโรงเรียนมัธยมปลาย Columbine ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และใช้ปืนยิงกราด ส่งผลให้นักเรียน 12 คนตาย และบาดเจ็บอีกหลายคน หลังจากนั้นผู้ที่ยิงก็ฆ่าตัวเองตาย เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามของชาวอเมริกันต่อกฎหมายการควบคุมปืน ตลอดจนการที่ความรุนแรงได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมขึ้นมา 

วันที่ 1 กันยายน 2004 กลุ่มชาวเชชเนียได้เรียกร้องการยอมรับรัฐเชชเนียจากสหประชาชาติ และให้รัสเซียออกไปจากเชชเนีย โดยที่ได้มีการปิดโรงเรียนในเบซลาน ออซเซทเทียเหนือ ในรัสเซีย และจับครู นักเรียน รววมทั้งผู้ปกครองเป็นตัวประกัน หลังจากนั้นสามวันกองกำลังรัสเซียได้ใช้อาวุธหนักบุกเข้าโรงเรียน ซึ่งการปะทะนี้ส่งผลให้มีคนตายกว่า 300 คน ในจำนวนนี้ มีเด็กจำนวน 185 คน หลังจากเหตุการณ์ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียก็ออกมาอ้างว่าการบุกเข้าโรงเรียนครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในแผนปฏิบัติการแต่ทำไปเพราะเห็นว่าเริ่มมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ

วันที่ 14 ธันวาคม 2012 อาดัม ลานซ่า วัยรุนอเมริกันวัย 20 ปี ได้ยิงแม่ของตัวเองที่บ้าน หลังจากนั้นก็ไปยังโรงเรียนประถม Sandy Hook ในนิวเทาว์ พร้อมกับอาวุธ และยิงนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งทำให้เด็ก 20 คนและเจ้าหน้าที่ 6 คนเสียชีวิต หลักจากนั้นก็ยิงตัวเองตาย

6 กรกฎาคม 2013 กลุ่มติดอาวุธที่ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มนักรบโบโก ฮาราม ได้เข้าไปยังโรงเรียนในหมู่บ้านมามูโด ในรัฐโยเบ ของไนจีเรีย ส่งผลให้คนประมาณ 42 คนเสียชีวิต ในจำนวนนี้มีเด็ก 20 คน และมีอีกหลายคนถูกเผาทั้งเป็น

6 ตุลาคม 2013 เกิดเหตุระเบิดพลีขีพที่ได้ขับรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยระเบิด เข้าไปยังสนามเด็กเล่นของโรงเรียนประถมในคอบัค ของอิรัก ทำให้อย่างน้อย 15 คนเสียชีวิต รวมไปถึงเด็กและผู้อำนวยการโรงเรียน

14-15 เมษายน 2013 กลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามบุกเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐในเมืองชิบอค รัฐโบรโน ของไนจีเรีย แล้วจับนักเรียนหญิงสองร้อยคนออกไปจากหอพัก หลังจากนั้นมีบางคนที่หนีออกมาได้ ส่วนที่เหลือก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

10 พฤศจิกายน 2014 เกิดเหตุระเบิดในโรงเรียนมัธยมศึกษาในเมือง Potiskum รัฐโยเบของไนจีเรียในระหว่างการรวมตัวเข้าแถวช่วงเช้าส่งผลให้อย่างน้อย 47 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน

และล่าสุดเกิดเหตุในปากีสถานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา

หากย้อนดูเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นได้ว่าส่วนใหญ่ เป็นการปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่เป็นรัฐกับกลุ่มเรียกร้อง แน่นอนว่าการโจมตีเป้าหมายอ่อนอย่างโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหว หลายครั้งก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการกระทำของอีกฝ่ายเพื่อโยนความผิดให้กับอีกฝ่าย หลายครั้งก็อาจเป็นการกระทำของกลุ่มเรียกร้องเพื่อให้สถานการณ์แย่จนถึงขั้นที่เสียงเรียกร้องของพวกเขาจะถูกรับฟัง แต่คำถามคือ สมควรหรือไม่ที่เด็กซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งจะต้องมารับผลของความขัดแย้งนั้น แน่นอนว่าการเมืองแห่งอำนาจอาจมองได้ว่าเป็นเครื่องเมืองของการแข่งขันและเรียกร้องให้ได้มาซึ่งอำนาจ การเสียสละเหล่านี้จะเกิดผลต่อการต่อรองที่จะนำมาซึ่งสันติสุขแห่งเสรีภาพที่ได้รับมาในอนาคต แต่หากมองด้วยการเมืองแบบคุณธรรมแล้ว สิทธิของความเป็นมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ต่อความขัดแย้งวุ่นวาย ในโลกที่แก่งแย่งซึ่งอำนาจของเหล่าผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและไม่ควรถูกละเมิด

ในเหตุการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายครั้งเช่นเดียวกันที่โรงเรียนได้กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบุกเข้าไปยิงครู การเผาโรงเรียน หรือการตั้งระเบิด เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่แน่นอนว่าจะเกิดเสียงที่ดัง และเป็นที่น่าสนใจ แต่ผลที่ต้องเกิดตามมาต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิต และภาวะความกลัวที่จะตามกระทบจิตใจของเด็กเหล่านี้ต่อไปล้วนเป็นคำถามที่ต้องพิจารณาทบทวนวิธีการต่อสู้อันชอบธรรมชองตนเอง วิธีการเปลี่ยนพื้นที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่สอนอะไรก็ตาม พื้นที่โรงเรียนก็ยังคงเป็นสถานศึกษา ที่มีเด็กที่เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ก็ยังควรเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการปกป้องในสิทธิพื้นฐาน คือ สิทธิแห่งการมีชีวิตอยู่ นั่นเอง ข้ออ้างของความชอบธรรมใดๆ ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ แม้เป้าหมายเป็นสิ่งที่ดี วิธีการที่จะไปถึงก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ข้อมูลประกอบโดยสรุปจาก :

Azad Essa. Looking back: Schools as killing fields. Accessed URL: http://www.aljazeera.com/news/asia/2014/12/looking-back-schools-as-killing-fields-20141216184858116606.html