Skip to main content

 

บทสัมภาษณ์พิเศษ อดีตแกนนำ BRN ต่อประเด็นกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

 

อิมรอน  ซาเหาะ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

 

 

ต้อนรับการเข้าสู่ปีที่ 14  ของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ด้วยบทสัมภาษณ์พิเศษ Ustaz Faqis  สมาชิกอาวุโสของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani / Patani Malayu National Revolutionary Front) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า BRN โดยท่านมีบทบาทสำคัญในขบวนการ BRN ช่วงหลังปี ค.ศ. 1980 ที่ในขณะนั้นอุสตาซฟากิสเพิ่งจบปริญญาโทมาจากประเทศอินโดนีเซีย และอุสตาซเคยให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยทางรอยเตอร์ระบุชื่อของท่านว่า Pak Fakih การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้พูดคุยกันในหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นกระบวนการสันติภาพปาตานี

อุสตาซฟากิส กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกระบวนการสันติภาพ แน่นอนว่าย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็ต้องการ รวมไปถึง BRN เองด้วย ซึ่งไม่เคยคิดจะต่อต้านใดๆ แต่กระบวนการสันติภาพจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักสากล มีคนกลางที่น่าเชื่อถือ และผู้เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพเองก็ควรเป็นผู้ที่เหมาะสม กระบวนการสันติภาพจึงจะประสบผลสำเร็จได้ เมื่อย้อนกลับไปยังปี ค.ศ. 2013 ที่เริ่มมีกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณชนขึ้นมา ทว่าเราไม่อาจเรียกกระบวนการสันติภาพในครั้งดังกล่าวนั้น ว่าเป็นการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN หากแต่เป็นเพียงการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับกลุ่มของอุสตาซฮัสซัน ตอยยิบ และคณะเท่านั้น

“ก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยในครั้งนั้น คุณทักษิณ ชินวัตร มีกำหนดการจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย และตนเองถูกสันติบาลมาเลเซียเชิญตัวให้ไปพบและให้เดินทางไปเพียงคนเดียว ตอนแรกก็กังวลใจว่าเมื่อไปแล้วจะถูกจับกุมตัวหรือไม่ แต่เมื่อไปตามคำเชิญก็ได้พบกับดาโต๊ะคนหนึ่ง โดยเขาได้ถามคำถามที่สำคัญว่า เป้าหมายสุดท้ายของ BRN ต้องการอะไร เหตุใดจึงยังสู้ไม่ถอย ตนเองจึงตอบไปว่าต้องการเอกราช เขาจึงตอบโดยทันทีว่าเป็นไปไม่ได้ ตนเองจึงรู้สึกโกรธมาก” อุสตาซฟากิสเล่าให้ฟัง

อุสตาซฟากิส เล่าต่อว่า หลังจากนั้นก็มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหลายๆ ประเด็น จนดาโต๊ะ อธิบายว่า ประเด็นที่เชิญมาพบก็คือ อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร กำลังจะเดินทางมายังมาเลเซีย และทางสันติบาลต้องการจะเชิญอุสตาซฟากิสให้ไปเจอคุณทักษิณ และขอให้ชวนอุสตาซฮัสซัน ตอยยิบ มาด้วย เมื่อ คุณทักษิณ เดินทางมาถึงมาเลเซีย พวกเราก็ได้เดินทางไปเจอตามที่เคยคุยกับสันติบาลมาเลเซีย โดยเดินทางไปกัน 4 คน ประกอบด้วยตนเอง อุสตาซฮัซซัน ตอยยิบ และอุสตาซอีกสองท่าน ขณะเดียวกัน ก็ได้พบกับตัวแทนของกลุ่มขบวนการอื่นๆ อีกหลายคน

โดยการพูดคุยกับคุณทักษิณ ณ ขณะนั้นไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ทางฝ่ายตนเองได้เขียนข้อเสนอให้อุสตาซฮัซซัน ตอยยิบ เป็นคนอ่าน รายละเอียดก็มีดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วข้างต้น เช่น กระบวนการต้องเป็นสากล คนกลางมีความน่าเชื่อถือ และตัวแทนต้องเหมาะสม เป็นต้น ในขณะที่คุณทักษิณเองก็แสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยได้ยื่นข้อเสนอในขณะนั้นว่าให้เลือกคนของพรรคการเมืองเขาเป็นผู้แทน แล้วปัญหาความขัดแย้งจะสามารถแก้ไขได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

เมื่อใกล้ถึงเวลาของการแถลงข่าวลงนามข้อตกลงเพื่อพูดคุยสันติภาพ ทางสันติบาลได้ประสานมาถามว่าจะให้เลือกใครไปลงนาม ตนเองแนะนำว่าให้เลือกอุสตาซฮัสซัน ตอยยิบ และอุสตาซอีกสองคนที่เดินทางไปพร้อมกันเมื่อครั้งที่ผ่านมา ส่วนตนเองไปไม่ได้เพราะเพิ่งผ่าตัดไตมายังไม่หายดี แม้ว่าปะอูลาที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง BRN จะกำชับให้ตนไปด้วยตัวเองก็ตาม แต่ปรากฏว่าทางสันติบาลมาเลเซียเลือกอุสตาซฮัสซัน ตอยยิบ คนเดียว และเลือกคนอื่นๆ เข้ามาแทน ซึ่งรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้สามารถหาอ่านได้จากข่าวอื่นๆ และบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่ออกมามากมายในช่วงนั้น และจากเหตุดังกล่าวนั้น ส่งผลให้การพูดคุยในครั้งนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ BRN จนการพูดคุยจบไม่ค่อยสวยตามที่เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วตามข่าว

จนมาถึงการพูดคุยสันติภาพล่าสุดหรือการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับมาร่า ปาตานี ซึ่งตนเองคิดว่าน่าจะมีชะตากรรมเดียวกันกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งที่แล้ว เพราะไม่ใช่เป็นการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น แม้ว่าจะมีสมาชิกของบีอาร์เอ็นในมาร่า ปาตานี ก็ตาม แต่พวกเขาไปในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของบีอาร์เอ็น และหากรัฐบาลยังดึงดันที่จะสานต่อการพูดคุยนี้ต่อไป ก็แสดงว่ารัฐเองก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหา หากแต่จัดให้มีการพูดคุยเพื่อให้เห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

อุสตาซฟากิส กล่าวว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่แท้จริงจะต้องสามารถพูดถึงรากเหง้าของปัญหาได้ ไม่ใช่มากำหนดตั้งแต่แรกว่าห้ามพูดคุยประเด็นใจกลางของปัญหา เพราะปัญหาความขัดแย้งในปาตานีไม่ใช่เรื่องความอยุติธรรม ขาดการศึกษา หรือยากจนอย่างเดียว แต่ใจกลางคือการถูกยึดครอง ซึ่งก็ควรให้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ แต่การจะได้เอกราชหรือไม่ อย่างไรนั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

มีการกล่าวหามากมายว่าบีอาร์เอ็นไม่ต้องการการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งไม่จริงแต่อย่างใด เพราะไม่มีองค์กรต่อสู้เพื่อปลดปล่อยใดๆ ที่ไม่เอาด้วยกับการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพ สงครามเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้ศัตรูอ่อนแอและสับสนวุ่นวาย สิ่งที่จะนำไปสู่ชัยชนะก็คือการเมือง ซึ่งการพูดคุยหรือการเจรจาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง นี่คือหลักคิดของเรา

สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพหรือการพูดคุยสันติภาพประสบความสำเร็จ คือ กระบวนการจะต้องอยู่บนฐานสากลและเปิดกว้าง ไม่ใช่ต้องพูดคุยภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐใดรัฐหนึ่ง ฝ่ายรัฐเองจะต้องจริงใจโดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง และควรมีฝ่ายที่สามหรือผู้ไกล่เกลี่ยที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นสากล

อุสตาซฟากิส ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ความจริงใจของรัฐบาลในการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อควบคุมสถานการณ์ และควรแสดงให้เห็นว่าจริงใจ ยกตัวอย่างประเด็นที่เป็นข้อกังขาต่อคนในพื้นที่ เช่น ช่วงแรกๆ ของการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ อุสตาซแวสือแม สุเด็น หรือโต๊ะบาซีกา อดีตเลขาธิการบีอาร์เอ็นที่เห็นด้วยกับการพูดคุยและอยู่เบื้องหลังการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่กลับถูกยิงเสียชีวิตหลังจากการเปิดตัวไม่นาน จึงไม่แปลกที่คนหนุ่มสาวจะต่อต้านการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เนื่องจากคนที่เขาเคารพเสียชีวิตเพราะเห็นด้วยกับการพูดคุย 

อุสตาซฟากิส แสดงความเห็นว่า หากในอนาคตบีอาร์เอ็นได้ขึ้นโต๊ะเจรจาสันติภาพกับรัฐไทย ให้เข้าใจได้เลยว่าไม่ใช่บีอาร์เอ็นพูดคุยหรือเจรจาในนามของบีอาร์เอ็น แต่เป็นการพูดคุยเพื่อประชาชนปาตานีทุกคน รวมไปถึงขบวนการหรือพรรคอื่นๆ ด้วย เพราะชื่อของบีอาร์เอ็นนั้น B ย่อมาจาก Barisan ที่แปลว่า แนวร่วมซึ่งก็หมายถึงแนวร่วมทั้งหมดในปาตานี เพราะปาตานีเป็นของทุกๆ คน ไม่ใช่ของบีอาร์เอ็น หากแต่กระบวนการสันติภาพของบีอาร์เอ็นไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่สันติภาพเท่านั้น ทว่าจะต้องมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายปัญหาด้วย อันหมายถึงการแก้ไขรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะคล้ายกับการที่เราเป็นโรคมาลาเรีย แต่รักษาโดยการทานยาเพียงอย่างเดียว แต่ยุงยังคงเยอะเหมือนเดิม ซึ่งพวกเราก็ทราบกันดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาอีกหลังจากนั้น

อุสตาซฟากิส กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่ถูกมองว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ตนเองคิดว่าเอาเข้าจริงแล้วพวกเขาเองสนับสนุนกระบวนสันติภาพที่ถูกต้องตามหลักการ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ ที่ปฏิเสธกระบวนการสันติภาพหรือการเจรจาเพื่อสันติภาพ ทว่าสำหรับบางคนที่ยังไม่เห็นด้วยเพราะพวกเขาก็ยังคงมองว่ามีบางอย่างในกระบวนการสันติภาพที่ยังคงต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน หากไม่แล้วสังคมปาตานีเองที่จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบไปอีกนานตราบใดที่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไขให้ตรงจุด