Skip to main content

 

การประชุมสุดยอดวาระวิสามัญขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 57 ชาติที่เมืองอิสตันบูล ของตุรกีคราวนี้ บอกว่า

โอไอซีขอประกาศให้ “เยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์” และเชื้อเชิญ “ทุกๆ ประเทศให้รับรองรัฐปาเลสไตน์และเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงที่ถูกยึดครองของรัฐแห่งนี้” แถลงการณ์สุดท้ายของที่ประชุมระบุ

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำขององค์การชาติมุสลิมใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้บอกด้วยว่า การตัดสินใจของทรัมป์ที่รับรองเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลนั้น “เป็นโมฆะในทางกฎหมาย” และ “เป็นการจงใจบ่อนทำลายความพยายามเพื่อสันติภาพทุกๆ อย่าง” ซึ่งจะเป็นการให้แรงกระตุ้นแก่ “ลัทธิสุดโต่งและลัทธิก่อการร้าย”

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี ในฐานะประธานวาระปัจจุบันของโอไอซี ได้กล่าวเปิดประชุมครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้ทั่วโลกรับรองเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยเขตเมืองเก่าของนครศักดิ์สิทธิ์ 3 ศาสนาแห่งนี้ และถูกทหารอิสราเอลยึดครองอยู่ ให้เป็น เมืองหลวงของปาเลสไตน์ ขณะที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ขึ้นปราศรัยเตือนว่า สันติภาพในตะวันออกกลางจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีการดำเนินการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล

การประชุมซัมมิตฉุกเฉินครั้งนี้มีขึ้น เพื่อแสวงหาทางให้บรรดาชาติมุสลิมทั่วโลกมีการตอบโต้อย่างร่วมมือประสานงานกันต่อความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

#แอร์โดอัน ซึ่งถือว่าตนเองเป็นนักต่อสู้เพื่อชาวปาเลส

ไตน์คนหนึ่ง ยังกล่าวประณามอิสราเอลว่าเป็นรัฐซึ่งต้องจำกัดความด้วยคำว่า

“การเข้ายึดครอง” และ “การก่อการร้าย”

จากการตัดสินใจของทรัมป์ จึงเท่ากับว่า

#“อิสราเอลได้รับรางวัลสำหรับกิจกรรมการก่อการร้ายทั้งหมดที่ตนเองดำเนินการ ทรัมป์นั่นเองซึ่งเป็นผู้ที่มอบรางวัลนี้ให้”

ประธานาธิบดีตัยยิบ แอร์โออัน ของตุรกี ในที่ประชุมซัมมิตฉุกเฉินขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่เมืองอิสตันบูล วันพุธ (13 ธ.ค.)

ผู้นำตุรกีกล่าวต่อไปว่า “ผมขอเชื้อเชิญประเทศต่างๆ ซึ่งให้คุณค่าแก่กฎหมายระหว่างประเทศและความยุติธรรม ประกาศรับรองเยรูซาเลมที่ถูกยึดครองว่าเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์” พร้อมกับบอกว่าประเทศมุสลิมทั้งหลายจะ “ไม่มีวันทอดทิ้ง” ข้อเรียกร้องนี้

ทางด้านอับบาสซึ่งกล่าวปราศรัยด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยวบอกว่า ตะวันออกกลางจะไร้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพจนกว่าเยรูซาเลมจะได้รับการรับรองในฐานะเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ พร้อมประณามการกระทำตามอำเภอใจของทรัมป์ในการยกนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ให้ยิว และสำทับว่า วอชิงตันไม่เหลือบทบาทในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางอีกต่อไป

อับบาสบอกว่า ตะวันออกกลางจะไร้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพจนกว่าเยรูซาเลมจะได้รับการรับรองในฐานะเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ พร้อมประณามการตัดสินใจของทรัมป์ว่า เป็นการมอบของขวัญให้ขบวนการฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ราวกับเยรูซาเลมเป็นเมืองของอเมริกาที่จะยกให้ยิวได้ตามใจชอบ

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสันนิบาตอาหรับ ซึ่งเป็นองค์การของชาติอาหรับทั้งหลายที่รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย ได้จัดการประชุมฉุกเฉินระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีมติเรียกร้องให้สหรัฐฯเพิกถอนการตัดสินใจของทรัมป์ รวมทั้งเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติประณามทรัมป์ แต่ก็ยอมรับว่าอเมริกาคงใช้สิทธิ์วีโต้เรื่องนี้

มติเช่นนี้ของกลุ่มอาหรับซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนปวกเปียก ขณะที่ตุรกีบอกว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของอาหรับเท่านั้น แต่เป็นของโลกมุสลิมทั้งหมด

ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ในที่ประชุมซัมมิตฉุกเฉินขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี)

ก่อนที่บรรดาผู้นำจะขึ้นปราศรัยในวันพุธ เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี แถลงว่า ชาติโอไอซีนัดพบกันครั้งนี้เพื่อประกาศให้ทรราชย์ “หยุด” และว่า การตัดสินใจของอเมริกามีเป้าหมายเพื่อรับรองความชอบธรรมในการพยายามยึดครองเยรูซาเลมของอิสราเอล

“พวกเขาหวังว่าชาติอิสลามจะเงียบกริบ แต่เราจะไม่ยอมเงียบอีกต่อไป พฤติกรรมข่มเหงรังแกนี้ทำลายความเป็นไปได้ของสันติภาพและดินแดนของการอยู่ร่วมกัน การตัดสินใจของอเมริกาไม่มีผลบังคับกับเรา”

คาวูโซกลูเสริมว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สมาชิกทั้งหมดของโอไอซีต้องต่อสู้เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับรัฐปาเลสไตน์ที่มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงโดยอิงกับพรมแดนปี 1967

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นไม่ยอมรับการผนวกดินแดนฝั่งขวาของเยรูซาเลมของอิสราเอลในปี 1967 และภายใต้ฉันทามติของนานาชาติที่มีมายาวนานนั้น อนาคตของเมืองนี้ต้องกำหนดขึ้นผ่านการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ขณะเดียวกัน ปาเลสไตน์ก็ต้องการได้พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเยรูซาเลมซึ่งเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ อิสลาม และยิว เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงของรัฐอิสระของตนในอนาคตเช่นกัน โดยปัจจุบัน มีชาวปาเลสไตน์ราว 200,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และปาเลสไตน์อ้างว่า พวกเขามีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับเยรูซาเลมทั้งทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนา

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีกล่าวว่า อังการาจะไม่เรียกร้องให้ใช้มาตรการแซงก์ชันเพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของอเมริกา แต่จะขอให้ประเทศอื่นๆ รับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ และออกแถลงการณ์คัดค้านการกระทำของวอชิงตันอย่างแข็งกร้าว

 

ที่มา : เอเจนซีส์