Skip to main content

 

การแสวงหาความจริงในกระบวนการสันติภาพ: บทเรียนจากฟิลิปปินส์และอาเจะห์

 

ฟารีดา ปันจอร์

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

       ข้อเขียนชิ้นนี้เป็น การถอดบทเรียนจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเครือข่ายยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน ฃในภูมิภาคเอเชีย “บทบาทของแสวงหาข้อเท็จจริงในการสร้างสันติภาพ (”Transitional Justice Asia Network’s Workshop on “The Role of Truth in Strengthening Peace)  ณ จังหวัดบันดาอาเจะห์  ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่  9-14 ตุลาคม  2560  อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้กลไกต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพจากพื้นที่ความขัดแย้ง  มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ งานชิ้นนี้เน้นให้เห็นบทเรียนของการขับเคลื่อนแง่มุมการแสวงหาข้อเท็จจริงในความขัดแย้งที่ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญว่า ท่ามกลางความไม่ลงรอยของตัวแสดงต่างๆ ในระหว่างความขัดแย้ง การแสดงหาข้อเท็จจริงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะพยุงกระบวนการสันติภาพที่นำให้ความสำคัญกับการนำข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นมาพิจารณา และให้คุณค่าของสันติภาพแก่ผู้คนในความขัดแย้ง

 

กระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับบริบทที่ต้องพิจารณา

        จากการรวบรวมข้อมูล ทั่วโลกในปี 1970-2009  ประเทศในเอเชียเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศกว่า 70 เปอร์เซ็น แต่มีการเพิ่มขึ้นในการฟ้องรองดำเนินคดีระหว่างประเทศกว่า 32 เปอร์เซ็น  ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการนำกลไกความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980  แรกเริ่มมีการใช้เพียงหนึ่งหรือสองกลไก แต่จนกระทั่งในปี 2009 การใช้กลไกยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านมีเพิ่มมากขึ้น  คือ การพิจารณาคดี (trial )การมีคณะกรรมการค้นหาความจริง ( truth commission )และการนิรโทษกรรม (amnesty)  สำหรับการวัดความสำเร็จและความล้มเหลว อาจพิจารณาได้จาก 3 แนวทาง คือ  เช่น ในอาเจะห์เป็นตัวอย่างที่ดีที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องจากความขัดแย้งเข้ามาในกระบวนการการกลไกด้านความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน  สอง การวัดในแง่มุมของการบรรลุผลเช่นในอาฟริกาใต้ในการใช้กลไกนิรโทษกรรมประเทศ

       สาม ประเมินได้จากการวัดความสัมพันธ์ของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับประชาธิปไตย  โดยการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบ  หรือ การศึกษาชุดข้อมูล ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับประชาธิปไตย หรือ การมีคณะกรรมการค้นหาความจริงกับประชาธิปไตย  อย่างไรก็ตามมีปัญหาบางประการของการศึกษาความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งเน้นทั้งแนวคิดและวิธีการ แต่ในความเป็นจริงอาจต้องไปไกลมากกว่าการเน้นเพียงแนวคิดและหลักการที่รวมเอาผู้คนสาธารณะในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องในห้วงเวลาความขัดแย้งกำลังดำเนินอยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก  นอกจากนี้ในความเป็นจริงยังไม่มีการยอมรับหรือรับรู้สาเหตุจากความขัดแย้งว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิทธิในทางสังคมอย่างไร  และที่สำคัญสุดคือการขาดเจตจำนงของรัฐในการเพิ่มสิทธิทางการเมือง หรือการดำรงไว้ซึ่งสถานะของกลไกความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน

       ในกรณีของอินโดนีเซียกลไกยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านค่อนข้างหยุดนิ่งและบ่อยครั้งดำเนินการโดยรัฐ  แต่หลังจากยุคระเบียบใหม่เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยในปี 1998  เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มีการให้ความสำคัญกับกลไกยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นและรัฐก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้นที่จะพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าและสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งการยอมรับกลไกดังกล่าวได้มาจากการประนีประนอมระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ โดยการผลักดันจากองค์กรนักศึกษาและองค์กรภาคประชาสังคม  ที่ได้เสนอแนวทางที่ก้าวหน้าทำให้รัฐบาลยอมรับกลไกยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเข้ามา

       ในความเป็นจริงแม้จะมีการยอมรับในหลักการของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นแนวคิดสากล แต่การนำมาใช้เป็นเรื่องของวิธีการที่ตีความตามแนวทางของท้องถิ่นถึงนิยามของความยุติธรรมและสิ่งที่ควรเป็น เช่นในศรีลังกาก็จะมีประสบการณ์มากในเรื่องนี้ แนวคิดหนึ่งที่ถูกพูดถึงซึ่งเป็นเรื่องของขั้นตอนและการก้าวต่อไป คือ Transformative justice ซึ่งแต่ละประเทศมีพื้นฐานอยู่แล้วนั้นคือ การพิจารณาเข้าไปถึงโครงสร้างของความไม่เท่าเทียม การถูกเลือกปฏิบัติ ความยากจน  การไม่มีส่วนร่วมของพลเมือง ความรุนแรง  การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น หรือการเข้าไปตรวจสอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง

       ในแง่นี้สันติภาพจึงไม่ใช่เป็นเรื่องว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่เป็นแนวทางแห่งการปลดปล่อยที่จำเป็นต้องรวมเอาผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาด้วย  ยิ่งความขัดแย้งไม่ได้เป็นเส้นตรงแต่เคลื่อนที่เป็นวงกลม ก็ต้องยิ่งตระหนักถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างความไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียม และการต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของวัฒนธรรมการไม่รับผิด ที่ฝังอยู่ในโครงสร้างของสังคมที่เกิดจากความไม่เท่าเทียม ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความยุติธรรมที่ไม่ใช่เพียงแค่ปลายทางแต่ในฐานะที่เป็นการสร้างกระบวนการยุติธรรมเชิงเชิงประวัติศาสตร์ (historical  justice)  ก็เพื่อจะเข้าใจคนอื่นๆ และเหตุผลการต่อต้านให้ดีมากขึ้น

       ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า Transformative Justice  คือ การเปลี่ยนแปลงแนวคิด ความสัมพันธ์  หรือ การให้ลำดับความสำคัญของการทำงานหน่วยงานหรือกลไกของรัฐมากกว่าการโครงสร้าง ผ่องถ่ายจากการให้จากการให้ความสำคัญในเชิงกฎหมายมาสู่ประเด็นการเมืองและสังคม ดังนั้นเจตนารมณ์และความเป็นจริงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเท่านั้น แต่เริ่มจากการให้ความสำคัญในสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม การเข้ามามีส่วนร่วมของหุ้นส่วนและภาคส่วนต่างๆ   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับบริบทของท้องถิ่นที่มีความเหมาะสม เน้นเรื่องของการปฏิบัติและการเข้าถึงหลักฐานเชิงประจักษ์  สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือการขยายความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน อาจกล่าวได้ว่า Transformative justice อาจไม่ใช่แนวทางของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเสียทีเดียว แต่เป็นการขยายกลไกการแก้ไขปัญหาที่เป็นทางการซึ่งรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

 

บังซาโมโร: การค้นหาความจริงในระหว่างกระบวนการสันติภาพ

        สำหรับฟิลิปปินส์ หากมองในภาพระดับประเทศ การก่อตัวของการมีคณะกรรมการค้นหาความจริงไม่ได้มาจากข้อตกลงสันติภาพ การเกิดขึ้นของคณะกรรมการค้นหาความจริงมีพัฒนาการมาจากการมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในสมัยประธานาธิบดี คอราซอน อากิโน ซึ่งนำประชาธิปไตยและก้าวเข้ามาบริหารประเทศหลังจากหลังจากโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีมาร์คอส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อตั้งมาในสมัยของเธอเป็นกลไกชั่วคราวที่ใช้วินิจฉัยกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตและยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีคอรัปชั่นด้วย

        นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและความทรงจำในประวัติศาสตร์โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเมื่อปี 1992  ในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ โดยมี 2 วาระคือ วาระแรก เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพ วาระที่สอง คือ การมีคณะกรรมการค้นหาความจริงและวาระอื่นๆ เช่นการรับรองฝ่ายต่างๆ ให้มาเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพ  แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีระบุไว้หรือบัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึงการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงดังที่มีในข้อเสนอดังกล่าว

       สำหรับประสบการณ์ความขัดแย้งที่บังซาโมโรระหว่างรัฐบาลและขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร หรือ MILF โดยในปี 2012 มีการเซ็นกรอบข้อตกลงบังซาโมโร ซึ่งเป็นเอกสารแม่ที่เกี่ยวข้องกับการก่อรูปทางการเมือง รวมทั้งยังมีเอกสารชิ้นสำคัญต่างๆ อยู่ภายในข้อตกลงนั้น เช่น Annex of Normalization ซึ่งได้ระบุถึงแง่มุมของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและการสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดาย กรอบข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้มีการระบุถึงการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง เพียงแต่มีข้อเสนอแนะในการมีกลไกที่เหมาะสมในการติดตามข้อเท็จจริงและการสร้างความปรองดอง

       อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะดังกล่าวนำมาสู่การการก่อตั้งกลไกคณะกรรมการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านและการสร้างความสมานฉันท์  (Transitional Justice and Reconciliation Commission- TJRC) ซึ่งเป็นกลไกอิสระ  ในรายงานของคณะกรรมการ TJRC  ได้เน้นระบุเน้นการทำงานที่เน้นการแสวงหาข้อเท็จจริง  (rights to  know ) และการจัดการกับอดีต (dealing with the past )  โดยองค์กรประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยประธานและคณะกรรมการย่อยๆหลากหลายด้าน ได้แก่  ด้านความทรงจำเชิงประวัติศาสตร์  ด้านการต่อต้านวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด  ด้านการยึดหลักนิติรัฐ  ด้านการจัดการการครอบครองที่ดิน และสุดท้ายการสร้างความสมานฉันท์

        TJRC  ยังได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะคณะกรรมการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านแห่งชาติและการสร้างความสมานฉันท์แห่งบังซาโมโร (National Transitional Justice and Reconciliation Commission on the Bangsamoro-NTJRCB) ซึ่งเป็นเวทีของภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานสนับสนุนกลไกของ TJRC ซึ่งเป็นกลไกหลักในกรณีพิเศษต่างๆและได้รับมอบหมายหน้าที่อื่น เช่น การสอบสวนเหยื่อที่โดนละเมิดสิทธิมนุษยชนให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ หรือการเข้าไปทำงานภายในคณะกรรมการย่อย  เช่น เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน  ความรุนแรงทางเพศในระหว่างความขัดแย้ง การไม่ต้องรับผิดของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน การพัฒนากฎหมาย  การสนับสนุนสันติภาพและการสร้างความสมานฉันท์  การจัดการกับความทรงจำในอดีต การแสดงหาความจริง และการมีกระบวนการรับฟังสาธารณะ

       อาจกล่าวได้ว่า  การมีคณะกรรมการ TJRC นำมาสู่ข้อเสนอแนะที่จะจัดตั้งกลไกในระดับชาติและกลไกย่อยๆ เพื่อทำงานเกี่ยวกับเหยื่อในความขัดแย้ง อีกทั้งยังจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและการศึกษาทางด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกลไกที่ดำรงอยู่แล้วในปัจจุบัน  เช่น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคหรือในหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง  เช่น การเพิ่มเติมแง่มุมของของศิลปะ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  และการมีโครงการศึกษาวิจัยในระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ  ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ  ในบังซาโมโรที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภายใต้การเป็นพลเมืองของรัฐ

       โดยสรุป แม้จะมีการคืบหน้าการก่อตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงที่เป็นผลจากกรอบข้อตกลงบังซาโมโรและ Annex of Normalization และทำงานได้เพียงบางส่วน และจัดทำรายงานแล้วในบางด้าน เช่น กระบวนการรับฟัง การจัดการกับอดีตและการครอบครองที่ดิน แต่ข้อเสนอแนะหลายๆ อย่าง ที่นำเสนอกับรัฐบาลและMILF ยังไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและครอบคลุมแง่มุมของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านทั้งหมด จุดเด่นของฟิลิปปินส์ คือการสนับสนุน กระบวนการรับฟังที่จะสามารถเข้าไปเสริมกลไกของศาลหรือ กลไกอื่นๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่เดิม

 

รายงานของคณะกรรมการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและการสร้างความสมานฉันท์ในความขัดแย้งที่มินดาเนา

ดูฉบับเต็ม http://www.tjrc.ph/skin/vii_tjrc/pdfs/report.pdf

 

 

อาเจะห์หลังความขัดแย้ง: การค้นหาความจริงและการสร้างความสมานฉันท์

       เมื่อความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างขบวนการอาเจะห์เสรีและรัฐบาลอินโดนีเซียที่ดำเนินมากว่า 29 ปี สิ้นสุดลง ตามมาด้วยด้วยข้อตกลงสันติภาพในปี 2005 และมีการตั้งเขตปกครองพิเศษอย่างเป็นทางการในปี 2006  นับจากห้วงเวลาดังกล่าว ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของอาเจะห์มีความสำคัญมากขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ ตั้งแต่ปี 2016  โดยได้รับมอบหมายงานจากรัฐบาลท้องถิ่นในการดำเนินการ 3 ประการหลักด้วยกัน คือ  การค้นหาความจริง  การฟื้นฟูเยียวยา และการสร้างความสมานฉันท์

       คณะกรรมการ 6  คณะ ประกอบไปด้วยภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในพื้นที่   โดยได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกลางซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลัก 18 คน และเจ้าหน้าที่ช่วยงานอีก 36  คน มีสำนักงานชื่อว่า Komisi Kebenaran dan Rekonsiliasi  หรือ KKR  ซึ่งทำงานในลักษณะการเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของอาเจะห์  อย่างไรก็ตามการก่อตั้งคณะกรรมการ KKR ค่อนข้างใหม่สำหรับอาเจะห์และรัฐบาลกลางอาจยังมองว่ายังเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลที่จะทำให้อินโดนีเซียถูกจับจ้องจากประชาคมระหว่างประเทศ สิ่งที่คณะกรรมการค้นหาความจริงกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้คือการรวมรวมข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบได้กว่า 10,000 กรณี และการดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งจะทำงานสื่อสารผลงานของ KKR ในจาการ์ตาให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

       เมื่อกล่าวถึงคณะทำงาน 6 คณะ ซึ่งได้รับมอบหมายตามภารกิจ คือ หนึ่ง การวิจัยหรือการทำรายงานซึ่งมีทีมที่ส่งมาจากรัฐบาลกลางที่ตั้งขึ้นในช่วงประธานาธิบดี บีเจ ฮาบีบี  คือ คณะทำงานของ Komnas Ham  หรือ คณะทำงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งลงมาทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่น งานด้านข้อมูลมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล  (document search)ทั้งงานวิจัยทั้งจากนักวิชาการในประเทศและจากต่างประเทศ การเก็บรวบรวม statements หรือข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยตั้งเป้าไว้ใน 4 ปีข้างหน้าให้ได้ 100,000 ข้อเท็จจริง ทั้งจากกรณี คนหาย  คนถูกฆ่าหรือถูกทรมาน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะมีชั้นของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ( investigation )และขั้นตอนของการแถลงและรับฟังความเห็นสาธารณะ (public hearing ) ข้อเท็จจริงที่ได้รับการตรวจสอบจะนำไปใช้ในการกระบวนเยียวยาอย่างครอบคลุม (comprehensive reparation)  ส่วนกระบวนการสุดท้ายคือการสร้างความสมานฉันท์  (reconciliation ) หากเป็นกรณีที่มีการฆ่าล้างเป็นจำนวนมาก (gross human rights violence)จะส่งไปให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

       สิ่งที่คณะกรรมการค้นหาความจริงอาเจะห์ให้ความสำคัญคือ การแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งมีทั้งการเก็บเอกสารชั้นต้นที่ได้จากการลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงและเอกสารชั้นรองที่ได้จากเอกสารซึ่งนำมาสู่การวิเคราะห์ ทั้งการลงรหัสและการตรวจสอบ สุดท้ายเมื่อได้เป็นข้อมูลก็จะมีแบ่งปันข้อมูลไปเผยแพร่ด้วยกัน ส่วนแรกคือ เอกสารที่เป็นทางการสำหรับรัฐบาล คือ รายงานที่เป็นทางการ  และส่วนที่สองเอกสารที่เผยแพร่ทั่วไปที่ไม่เป็นทางการ มีการจัดทำและใช้งานโดยองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น KONTRAS, AJAR หรือองค์กรอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน และในช่วงสิ้นปีนี้คณะกรรมการค้นหาความจริงจะมีการแถลงความก้าวหน้าผลงานต่อสาธารณะจากข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมไว้

       สิ่งท้าทายของการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้คือ การสร้างแพลตฟอร์มร่วมกันระหว่างการทำงานของรัฐบาลและภาคประชาสังคม ซึ่งค่อนข้างยากในการทำงานให้ลงตัวกันนอกจากนี้  ขณะเดียวก็ยังจำเป็นต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ผู้ว่าอาเจะห์  Zaini Abdullah แต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ที่มา:  https://www.kanalaceh.com/2017/01/11/diplotkan-rp3-miliar-ini-kata-wakil-ketua-kkr-aceh/