Skip to main content

 

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ : โลกนี้แค่ที่พัก

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

ขอบคุณภาพจาก www.mtoday.co.th

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

โลกนี้แค่ที่พัก นะ ลูกน่ะเป็นคำเรียบง่ายแต่มีใจความลึกซึ่ง เป็นคำสอนของมามาซอฟียะห์ พิศสุวรรณ มารดาอายุ 90 ปีของ ท่านดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณหรือมุสลิมเรียกชื่อท่านว่าอับดุลฮาหลีม “บังหลีม” ซึ่งได้กลับสู่ความเมตตาของพระเจ้าหรืออนิจกรรม ในวัย 68 ปี เมื่อ 30 พฤศจิกายบ พ.ศ. 2560 หรือตรงกับ 12 รอบีอุลเอาวาล ฮ.ศ. 1439 ตามปฎิทินอิสลามซึ่งตรงกับวันประสูติและสวรรคตของท่านแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด

คำสอนดังกล่าวถูกปลูกฝังตั้งแต่ท่านยังเยาว์วัยจนท่านกล่าวว่า ท่านได้ยึดมั่นคำสอนของมารดา กตัญญูต่อมารดาตามที่ศาสนทูตมุฮัมมัดเคยอบรมอัครสาวกของท่านเมื่อ1400 ปีผ่านมาว่าสวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา

ด้วยการถูกปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดูจากมารดาผู้เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม พ่อของท่านหะยีอิสมาอีล ก็เป็นโต๊ะครูผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดนครศรีธรรมราช เติบโตในปอเนาะตั้งแต่เล็กซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม และหลักคำสอนศาสนาอิสลามแก่ประชาชนทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้หรือแม้กระทั่งกรุงเทพมหานครและภาคกลางจึงทำให้ท่านมีวันนี้

ในเรื่องการศึกษานั้น ท่านเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านตาล, มัธยมศึกษาจากโรงเรียนพรสวัสดิ์วิทยา, โรงเรียนเบญจมราชูทิศ และโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ตามลำดับด้วยการปั่นจักยานไปกลับจากบ้านไปโรงเรียนกว่าสิบกิโลเมตรทุกวัน แต่ตอนอายุยังไม่ถึงวัยเข้าโรงเรียนท่านเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน ภาษาอาหรับ มลายูและหลักธรรมคำสอนศาสนาอิสลามที่ปอเนาะบ้านตาลหรือโรงเรียนประทีปศาสน์ในขณะนี้

ในขณะที่ตอนเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาท่านก็ยังเรียนวิชาดังกล่าวก่อนไปโรงเรียน หลังเลิกเรียนและเสาร์-อาทิตย์เหมือนเด็กมุสลิมภาคใต้ทั่วไปซึ่งสื่อทั่วไปมิได้รายงานสิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านภูมิใจ ว่าเป็นเด็กปอเนาะ

ในระดับปริญญาตรี ท่าน ได้ศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนปี 1-2 และได้รับทุน Frank Bell Appleby ไปศึกษาต่อ ปี 3-4 ด้านรัฐศาสตร์ที่ Claremont Men's College, Claremont University และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากที่นั่น และศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกที่ Harvard University ด้านรัฐศาสตร์ โดยได้รับทุนจาก Rockefeller

ในตอนที่ไปเรียนที่อเมริกาท่านก็ยังภูมิใจเขียนบันทึกไว้ว่า”เด็กปอเนาะได้มาเหยียบอเมริกาแล้วเมื่อปีค.ศ. 1984”

หลังจบการศึกษา ช่วงปี 2525-2529 ท่านได้เป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะถูกทาบทามให้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะตอบรับและก็ได้รับเลือกตั้งในที่สุด

เมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นได้ชักชวนให้ ท่านมารับหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภา หลังจากนั้นเมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2531 ท่าน ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการให้กับ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากนั้นในปี 2535 ท่าน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาในปี 2540 ท่านก็ ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2540-2544 และมีการผลักดันบทบาทของอาเซียนในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกภายในอาเซียนอีกด้วย

ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่ต้องจารึกถึงท่านคือมีบทบาทสำคัญกล่าวคือ การรณรงค์หาเสียงให้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นต้องแข่งกับ นายไมค์ มัวร์ (Mike Moore) อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยการแข่งขันนั้นดุเดือดจนอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในท้ายที่สุด ท่าน ก็ได้ทำข้อเสนอที่ให้ผลัดกันเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนละ 3 ปี จนทุกฝ่ายพึงพอใจ

หลังจากครบวาระของรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 (ปี 2540-2544) ท่านไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมือง จนในปี 2551 เป็นวาระที่ไทยจะต้องเป็นเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีมติให้เสนอชื่อ ท่าน เป็นเลขาธิการอาเซียน

ตั้งแต่ ปี 2551-2555 ซึ่งท่าน มีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียนจนแล้วเสร็จในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยังได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทั้ง 10 ชาติตระหนักและรู้จักอาเซียนให้มากขึ้นอีกด้วย

หลังจากลงจากตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนปี 2555ท่านยังทำงานด้านสังคมทั้งในละต่างประเทศจนวาระสุดท้าย

โพสต์สุดท้ายของท่าน กล่าวคือ แนะนำรัฐเร่งส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกผลักดันเด็กไทยและวิธีดึงดูดคนจากทั่วโลก เมื่อวันที่ 29 พ.ย. เวลา 20.42 น. ท่านได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว....... อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/social/hot/528106

การจากไปอย่างกระทันหันครั้งนี้ของท่านมีปรากฎการณ์ทางสื่อมากมายกล่าวยกย่องท่านเป็นบุคคลทรงคุณค่าทั้งในประเทศไทย อาเซียนและประชาคมโลกซึ่งผู้เขียนไม่สามารถนำกล่าวได้หมดแต่ขอฝากประเด็นเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้เอาเป็นแบบอย่างและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชน มุสลิมหรือมิใช่มุสลิม ในประเทศหรือนานาชาติได้ศึกษา ถอดบทเรียนหรือแม้กระทั่งวิจัย

1.ด้านการเมือง 2. ด้านการต่างประเทศ 3.ด้านความมุ่งมั่นโดยไม่ยอมแพ้ต่อขีดจำกัดโดยเฉพาะการศึกษา 4.การดำเนินชีวิตตามวิถีมุสลิมท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์ พหุสังคม/วัฒนธรรม และศาสนิกสัมพันธ์ ดังที่ว.วชิรเมธีได้เขียนไว้ว่า “การจากไปของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนนับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลสำคัญของไทย ของอาเซียน และของโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในทัศนะของอาตมภาพ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นนักการเมืองผู้เป็นความหวังของสังคมไทย เป็นสุภาพบุรุษที่มีความรอบรู้ ลุ่มลึก แหลมคม และมีรสนิยมวิไลในทางศิลปะและวรรณกรรม เป็นปัญญาชนมุสลิมผู้มีหัวใจเปิดกว้างต่อศาสนิกต่างศาสนาทุกถ้วนหน้า เป็นตัวแทนของไทยในเวทีโลกที่เราอวดอ้างได้อย่างภาคภูมิใจ มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่น่ายกย่อง และมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการสร้างสรรค์สันติภาพโลกอย่างยั่งยืน หลายปีที่ผ่านมา อาตมภาพได้ร่วมทำงานด้านสันติภาพโลกกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ครั้งหลังสุดคือการประชุม “เครือข่ายมนุษยธรรมเพื่อสันติภาพโลกแห่งเอเชีย” ที่มูลนิธิวิมุตตยาลัย ร่วมกับ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ( 6 - 8 กรกฎาคม 2560)งานนั้น ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมที่เรียกเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างท่วมท้นและก่อให้เกิดความหวังใหม่ในเวทีโลกหลังจบงานนี้ เราคุยกันว่า ปีหน้าจะสานต่องานใหญ่ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ งานประชุมร่วมกัน ระหว่างปัญญาชนชาวพุทธ และ ปัญญาชนมุสลิมโลก ซึ่งคิดกันว่า จะจัดขึ้นที่ไร่เชิญตะวันเหมือนเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อกรุยทางสร้างสันติภาพผ่านสุนทรียสนทนาซึ่งเป็นบทบาทที่ท่าน ดร.สุรินทร์ มีความเชี่ยวชาญเป็นส่วนตัวดังได้เคยใช้ศักยภาพด้านนี้ทำงานในฐานะเลขาธิการอาเซียนมาแล้ว แต่...ช่างน่าเสียดาย ที่งานใหญ่เพื่อโลกงานนี้ คงเป็นได้แค่ความฝันโมงยามแห่งความสุขตลอดเวลาที่ได้สนิทเสวนากันมาหลายปี มิตรภาพอันยั่งยืน ความทรงจำที่แสนงามของกัลยาณมิตรต่างวัยและต่างศาสนา จะยังคงอยู่ในใจของอาตมาไปตราบนานเท่านาน

ขออำนวยพรให้ท่าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ หลับให้เป็นสุข ณ สวรรค์สถานตราบนิรันดร์”

ท้ายนี้ขอกล่าวคำว่าโลกนี่แค่ที่พัก ทุกคนจงมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชาติ เพราะมันคือความดีที่ไม่สิ้นสุดถึงแม้ชีวิตเรา ลมหายใจเราจะมลายหายไปแล้ว