Skip to main content

 

 

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

ธงและสัญลักษณ์ประจำพรรคฮิซบุลลอฮ มีสีเหลืองเป็นสีประจำพรรค ความหมายของ "ฮิซบุลลอฮ" หมายถึง "พรรคของพระผู้เป็นเจ้า" 

 

(ปล.การติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในเลบานอนจะละเลยเรื่องของ "ฮิซบุลลอฮ" ไปไม่ได้เด็ดขาด ผมขอรับใช้ข้อมูลเบื้องต้นให้กับท่านผู้อ่านที่สนใจในประเด็นนี้เพื่อการแลกเปลี่ยนกันครับ)

#ฮิซบุลลอฮ_ตัวรุก_ตัวแรง_กระดานมหาอำนาจ"

"อับบาส อัล มูซาวี" (Abbas al-Musawi)และ "ซุบฮี อัล ตูฟายลี" นักเคลื่อนไหวชาวเลบานอล ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในนาม "ฮิซบุลลอฮ" และประกาศตนอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๘

คำว่า "ฮิซบุลลอฮ" เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง "พรรคของพระผู้เป็นเจ้า" ได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อนี้จากโองการหนึ่งในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอ่าน ที่หมายถึง "พรรคที่ยิ่งใหญ่ พรรคที่ประสบชัยชนะ"

ท่านผู้นำ "อับบาส" รับการศึกษาในเมืองนาญัฟ (Najab) ประเทศอิรัก ที่นั้นเองที่เขาได้รับการอิทธิพลและศึกษามุมมองของ "อิหม่าม รูฮุลลอฮ โคมัยนี" หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสำนักคิดชีอะห์ ซึ่งภายหลัง "โคมัยนี" ได้กลายเป็น "ผู้นำสูงสุด" ของอิหร่าน ภายหลังจากการปฏิวัติครั้งใหญ่ของแดนเปอร์เซีย ปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ในนาญัฟ, "อับบาส" ได้เป็นลูกศิษย์ของปราชญ์อุโฆษสำนักคิดชีอะห์นาม "มูฮัมหมัด บากีร อัล ซัดร์" (Muhammad Baqir al-Sadr) ผู้ก่อตั้งพรรคอิสลาม ดาวะห์ (حزب الدعوة الإسلامية Islamic Dawa Party) ขึ้นในสนามการเมืองอิรัก ซึ่งต่อมาพรรคนี้ได้กลายเป็นพรรคการเมืองในอิรักที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับอิหร่าน มีสำนักงานใหญ่ในเมืองนาญัฟนั้นเอง

ปัจจุบันพรรคอิสลาม ดาวะห์มีท่าน "นูรีย์ อัล มาลิกี" (Nouri al-Maliki) อดีตนายกรัฐมนตรีแปดปีของอิรัก ซึ่งปัจจุบันนั่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีอิรัก เป็นเลขาธิการพรรคฯ และท่าน "ฮัยดัร อัล อาบาดี" (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรักท่านปัจจุบันเป็นประธานพรรค

ภายหลังจากร่ำเรียนในอิรักแล้ว ท่าน"อับบาส"จึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิในปี พ.ศ.๒๕๒๑ เต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจจากทฏษฏีการเมืองและศาสนาของท่านผู้นำโคมัยนี

ส่งผลให้ปีแรกที่กลับบ้านนั้นท่านได้ร่วมกับสหายเลบานีสที่ชื่อท่าน "ซุบฮี อัล ตูฟายลี" (Subhi al-Tufayli) ก่อตั้งกลุ่ม "ฮิซบุลลอฮ" อย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาในเลบานอน โดยใช้ฐานของพรรคอะมัล พรรคการเมืองชีอะห์เลบานีสที่"ซีเรีย"ซัพพอตอยู่

(อนึ่ง--"พรรคอะมัล"นี้เป็นกลุ่มการเมืองที่ได้รับการพัฒนาจากความพยายามของท่าน"มูซา ศอดร์" ผู้ก่อตั้ง "ขบวนการผู้ถูกริดรอน" อันมีเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิการปกครองคืนจากการยึดครองของอิสราเอล)

เป้าหมายหลักของการก่อตั้ง "พรรคฮิซบุลลอฮ" นี้คือปกป้องอธิปไตยของเลบานอนให้พ้นจากเงื้อมมือของผู้รุกรานนามอิสราเอลที่รุกคืบเข้ายึดพื้นที่บางส่วนของเลบานอนในขณะนั้นให้จงได้

โดยมี "ซุบฮี อัล ตูฟายลี" หนึ่งในผู้ก่อตั้งเป็นผู้นำกลุ่มฮิซบุลลอฮเป็นท่านแรก แต่เป็นได้เพียงปีเดียว จึงส่งไม้ต่อไปยังท่าน "อับบาส อัล มูซาวี" ผู้ก่อตั้งอีกคน

ทั้งนี้แม้ว่า "ท่านซุบฮี" จะไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งของกลุ่ม แต่ก็ยังได้ช่วยงานโฆษกของพรรคยาวไปกว่า ๔ ปี

ด้วยบริบทของบ้านเมืองของเลบานอนที่มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นนโยบายของพรรคคือการยอมรับในเสรีภาพของการนับถือศาสนา เน้นการปรองดองระหว่างประชาชนเลบานอน และการต่อต้านอิสราเอลในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังทางทหารในการขับไล่ทหารยิวออกจากตอนใต้ของเลบานอนให้จงได้

การดำเนินงานของฮิซบุลลอฮเป็นไปด้วยความก้าวหน้า จวบจนกระทั่งได้รับการยอมรับในเวทีการเมือง มีสมาชิกมากขึ้น ฐานเสียงแข็งแกร่งขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากทั้งอิหร่านและซีเรีย จนกลายมาเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญของรัฐสภาเลบานอนในที่สุด

ในอีกด้านก็เป็นเป้าหมายการทำลายล้างหลักของอิสราเอล จนมีการลอบสังหารเบอร์หนึ่งของพรรค "ท่านอับบาส" ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นผลสำเร็จ ด้วยการยิงมิสไซน์จากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งนอกจากจะพรากชีวิตท่านผู้นำแล้ว ยังทำให้ภริยาและลูกชายวัย ๕ ขวบเสียชีวิตในคราวเดียวกันด้วย

และนั้นก็เป็นอีก "จุดเริ่มต้น" ของความวุ่นวายระดับโลกที่มีส่วนโดยตรงกับ "ฮิซบุลลอฮ"

หนึ่งเดือนหลังการลอบสังหาร เกิดเหตุวินาศกรรมระเบิดสถานทูตอิสราเอลในบรูโนส ไอเรส,อาร์เจนติน่า ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า ๒๙ ศพ บาดเจ็บอีกกว่า ๒๔๒ คน ซึ่งภายหลังเชื่อว่าเป็นการตอบโต้ปฏิบัติการของอิสราเอลในเลบานอน

ภายหลังจากยุค "ท่านอับบาส" ที่ถูกสังหารแล้ว "ท่านฮัสซัน นาสรัลลอฮ" (Hassan Nasrallah) ก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำฮิซบุลลอฮท่านที่ ๓ ซึ่งในวัยเด็ก ท่านเองก็เป็นสมาชิกอย่างภาคภูมิใจของ "พรรคอะมัล" ซึ่งต่อมาได้เข้าศึกษาในเมืองนะญัฟ อิรัก เช่นเดียวกับ "ท่านอับบาส" และได้รับอิทธิพลทางแนวคิดการเมืองจาก "มูฮัมหมัด บากีร อัล ซัดร์" เหมือนกัน

"ท่านฮัสซัน" เป็นนักทำงานทางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายสำนักคิดชีอะห์ในเลบานอน ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาการเมืองกลางในนามตัวแทนของพรรคอะมัล ทั้งนี้ส่งผลให้ท่านฮัสซันเป็นแกนนำของกลุ่มการเมืองสายชีอะห์ในเลบานอนเสมอมา

ท่านฮัสซันได้อุทิศการทำงานการเมืองทั้งครอบครัว บุตรชายคนโตของท่านนาม "มูฮัมหมัด ฮาดี" เสียชีวิตในการสู้รบกับทหารอิสราเอลในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๐

หลังจากสูญเสียบุตรชายได้สามปี "ฮิซบุลลอฮ"ภายใต้การนำของ "ท่านฮัสซัน" นี้คือการคว้าชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพอิสราเอลในพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ส่งผลให้อิสราเอลต้องถอนทัพออกจากพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอนสำเร็จ

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าชัยชนะครั้งนั้นยิ่งใหญ่มาก เป็นการบรรลุความฝันของการก่อตั้งพรรคฮิซบุลลอฮตั้งแต่อดีตให้เป็นความจริง สหประชาชาติประกาศยอมรับอำนาจของเลบานอนในพื้นที่ที่อิสราเอลถอนกำลัง

และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนให้เห็นว่าศักยภาพทางการทหารของฮิซบุลลอฮนั้นสามารถคุ้มครองเลบานอนให้รอดพ้นจากการรุกรานของอิสราเอลได้เป็นอย่างดี

"ท่านฮัสซัน" ได้เสริมเขี้ยวเล็บของฮิสบุลลอฮอย่างต่อเนื่อง ในยุคนี้กองกำลังฮิซบุลลอฮมีจรวดนำวิถีระยะไกลที่ฮิซบุลลอฮระบุว่าสามารถโจมตีอิสราเอลได้

แม้ว่านโยบายของฮิซบุลลอฮจะมุ่งเน้นในการต่อสู้อิสราเอลด้วยกำลัง แต่ท่านฮัซซันก็เคยเจรจา "แลกตัวประกัน" กับรัฐบาลอิสราเอลในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ส่งผลให้มีการปล่อยตัวเชลยศึก-นักโทษทั้งชาวเลบานีสและปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก และเช่นกันที่ศพของลูกชาย "มูฮัมหมัด ฮาดี" ก็ได้กลับสู่มาตุภูมิอย่างสมเกียรติ

ผลงานทางการเมืองของฮิซบุลลอฮนั้น จะว่าไปก็เป็นที่ยอมรับของประชาชนเลบานีสนะครับ มีทั้งสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล มีสถานีโทรทัศน์ของตนเองเรียกว่า "มานาร์" อันเป็นที่รู้จักดีในประเทศอาหรับ

ปัจจุบัน "กลุ่มฮิซบุลลอฮ"ภายใต้การนำของ "ท่านฮัสซัน" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "กลุ่มก่อการร้าย" จากทั้งอิสราเอล สหรัฐอเมริกา เลยไปถึงกลุ่มประเทศโลกตะวันตก หรือแม้แต่บางประเทศสมาชิกในสันนิบาตอาหรับ ก็ว่ากันไปตามนั้น

มหาอำนาจ"หมีขาว" รัสเซียได้ปฏิเสธถึงการกล่าวถึง "ฮิซบุลลอฮ" ในทางก่อการร้าย

ขณะที่"มหามังกร" สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงเป็นกลาง ไม่ดี ไม่ร้าย แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง

ทุกวันนี้ "พรรคฮิซบุลลอฮ" มีที่นั่งในรัฐสภาเลบานอน ๑๑ ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๑๒๘ ท่าน และยังมีสมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลถึง ๒ ท่าน บริหารกระทรวงเยาวชนและการกีฬา และกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศ

"ท่านฮัสซัน" ได้ตั้งให้ "ฮาชิม ซาฟี อัดดีน) (Hashim Safi Al Din)ญาติของท่าน ให้สืบทอดอำนาจแทน ในกรณีที่ท่านฮัสซันโดนลอบสังหาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึง "ความไม่ไว้วางใจ" ในสถานการณ์การเมืองในเลบานอนได้ดี ((อดีต)นายกรัฐมนตรีเลบานอน "ซาอัด อัลฮารีรี" ที่ลาออกในซาอุดีฯก็กลัวถูกลอบสังหารเหมือนกันนะ)

พ.ศ.๒๕๕๕ เกิดวิกฤตทางการเมืองในซีเรียจนเป็นเหตุให้มีสงครามกลางเมืองขึ้น ทาง "ฮิซบุลลอฮ" ประกาศเข้าร่วมสงครามโดยเลือกข้างสนับสนุน"ประธานาธิบดีบัชชาร์ อัล อะซัด" พันธมิตรทางการเมืองสำคัญของอิหร่านต่อสู้กับฝ่ายกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจซาอุดีอารเบีย

(ปล๒.การเข้าร่วมสงครามของฮิซบุลลอฮในซีเรียนี้ได้รับการวิจารณ์จาก "ซุบฮี อัล ตูลัยฟี" อดีตผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำฮิซบุลลอฮคนแรกถึงจุดยืนที่แตกต่างกัน)

ซึ่งหากตั้งใจศึกษาถึงที่มาของฮิซบุลลอฮ จะพบว่ายุทธศาสตร์ทางการเมืองของสำนักคิดชีอะห์มีความสอดคล้องกับการแผ่ขยายอำนาจของอิหร่านในปัจจุบัน

กล่าวคือ...

"ท่านอาจารย์มูฮัมหมัด บากีร อัล ซัดร์" ก่อตั้ง "พรรคอิสลาม ดาวะห์" ซึ่งมีบทบาทสูงในอิรักในปัจจุบัน

"ท่านอับบาส" ก่อตั้งกลุ่ม "ฮิซบุลลอฮ"ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีพื้นที่ทั้งการทหารและการเมืองอันมั่นคงในเลบานอน

โดยทั้งหมดนี้มาจากอิทธิพลของ "ท่านอิหม่ามโคมัยนี" ซึ่งได้ปฏิวัติอิหร่านอันเป็นปฐมบทของการแข่งขันทางอำนาจยุคใหม่ในดินแดนตะวันออกกลางอันร้อนระอุ

และ---ทั้งสามแผ่นดิน อิหร่าน อิรัก และเลบานอน ในวินาทีนี้ก็ล้วนแต่เป็นของ "แสลง" ของบิ๊กเนมในภูมิภาคอย่างซาอุดิอารเบีย (ยังไม่รวมสถานการณ์ในเยเมน หรือ ซีเรียอีกนะจ๊ะ)

และ---ในช่วงเวลา ๓๘ ปีจากการปฏวัติอิหร่านถึงปัจจุบัน หากนับเป็นการย่อส่วนของช่วงเวลาประวัติศาสตร์แล้ว ดินแดนแถบนี้การเมืองเกมอำนาจร้อนกว่าองศาในทะเลทรายอีกครับ

และ---ไม่แน่เหมือนกันนะครับที่การแข่งขันการเป็น "ผู้นำ" ในแถบนี้ ต้องอาศัยแผ่นดินรอบนอกของมหาอำนาจทั้งสอง (ซาอุ-อิหร่าน) เป็นกระดานเดินหมาก ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ประชาชน ในพื้นที่แถบนั้น จะเป็นเบี้ยในเกมไปอีกนานเท่าไร

และ---ผู้ชนะในเกมนี้ อาจจะไม่ใช่ผู้เล่นก็ได้ ... เพราะการควบคุมจาก"ภายนอก" มันได้ผลจาก "ภายใน" เยอะ ข้อนี้ไซออนิสต์เขาเก่งล่ะ

ไหนๆอ่านมาถึงนี้แล้ว ขอแถมให้อีกนิดละกันว่า

หากจะเปรียบเทียบกันเล่นๆแล้ว "ฮิซบุลลอฮ" มีสถานะใกล้เคียงกับ "ฮามาส" ของปาเลสไตน์ ที่มีนโยบายต่อต้านอิสราเอลในทุกรูปแบบเหมือนกัน มีกองกำลังเป็นของตนเองเช่นกัน แกนนำของพรรคฯเป็นเป้าหมายและถูกลอบสังหารจากยิวไซออนิสต์ด้วยวิธีการคล้ายๆกัน ได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่ด้วยที่นั่งในสภาฯ

จะแตกต่างกันก็ในหลักการทางความเชื่อที่ "ฮิซบุลลอฮ" นั้นนิยมในสำนักคิดชีอะห์ ส่วน "ฮามาส" นั้นอยุ่ในสำนักคิดซุนนีย์

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าด้วยยุทธศาสตร์ต่อต้านยิวไซออนิสต์ร่วมกันของทั้งสองกลุ่มนี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกันอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าความร่วมมือดังกล่าวสร้างความวิตกกับความมั่นคงของอิสราเอลในภูมิภาค

ส่วนตัวแล้วมองว่าการใดๆที่จะทำให้ความร่วมมือดังกล่าวลดทอนลงหรือขาดไปจะเป็นผลดีที่สุดกับอิสราเอล ดังนั้นผลทางการเมืองก็ดี หรือการสงครามก็ดี ที่ส่งผลให้ทั้งสองพรรคเหินห่างกัน ก็ถือเป็นทางเลือกของฝ่ายความมั่นคงไซออนิสต์ ก็ดูจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง .

#PrinceAlessandro

14-11-2017

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, เครา

"มูฮัมหมัด บากีร อัล ซัดร์" ปราชญ์อุโฆษสำนักคิดชีอะห์ ผู้ก่อตั้งพรรคอิสลาม ดาวะห์ (حزب الدعوة الإسلامية Islamic Dawa Party) ในอิรัก ผู้เป็นอาจารย์และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของ "ท่านอับบาส" ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮิซบุลลอฮในเลบานอน ท่านต้องโทษประหารชีวิตในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ ในอายุ ๔๕ ปี โดยคำสั่งของพลเอกซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักในขณะนั้น

 

ในภาพอาจจะมี 5 คน, เครา

"อับบาส อัล มูซาวี" (Abbas al-Musawi) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำคนสำคัญของฮิซบุลลอฮ ท่านโดนกองกำลังยิวไซออนิสต์ลอบสังหารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, เครา และ ภาพระยะใกล้

ท่าน "ซุบฮี อัล ตูฟายลี" (Subhi al-Tufayli) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฮิซบุลลอฮ ท่านเป็นผู้นำกลุ่มฮิซบุลลอฮคนแรก โดยเป็นผู้นำระหว่างปี พ.ศ.2526 ถึง พ.ศ.2527

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, เครา, แว่นกันแดด, หมวก และ ภาพระยะใกล้

"ท่านฮัสซัน นาสรัลลอฮ" (Hassan Nasrallah) ผู้นำกลุ่มฮิซบุลลอฮคนปัจจุบัน ตามรายงานเชื่อว่าท่านฮัสซัน นาสรัลลอฮนี้สืบเชื้อสายจากท่านอะลี บิน อะบีตอลิบ หลานชายท่านศานทูตมูฮัมหมัด (ขอความสันติสุขและการเทิดพระเกียรติจงมีแด่ท่าน)  ผู้คนจึงเรียกคำนำหน้าชื่อท่านว่า "ซัยยิด" 

 

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

แผนที่ตะวันออกกลางที่ผมลองขีดเส้นสีแดงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงเส้นเชื่อมต่อแห่งอำนาจ อันมีความสำคัญต่อสถานการณ์ในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่า "ร้อนระอุ" มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก