Skip to main content

ในภาพอาจจะมี 1 คน, ชุดสูท

 

"วกลงมาแดนสิงโต" (ตอนที่ ๑)

เมื่อเอ่ยถึง "สิงค์โปร์ -- Singapore--" ท่านผู้อ่านคิดถึงอะไรบ้าง ?

ส่วนใหญ่ของคำตอบแล้ว มาจากรากฐานที่ชายคนนี้เป็นต้นเรื่องครับ

"#ลี_กวน_ยิว" [ Lǐ Guāngyào]

ผู้ถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งสิงค์โปร์"

เท่าที่ผมศึกษาประวัติศาสตร์มา ยังไม่เคยเห็นความเป็นไปของชาติใด ที่จะสอดคล้องกับชีวประวัติของผู้นำแบบแยกไม่ออก มาเท่า "สิงค์โปร์" กับ "ลี กวน ยิว" เลย

กล่าวง่ายๆว่า "สิงค์โปร์" เป็นอย่างไร "ลี กวน ยิว" ก็เป็นอย่างนั้น หรือในทางกลับกัน "ลี กวน ยิว" เป็นแบบไหน "สิงค์โปร์" ก็เป็นเช่นนั้น

"ท่านลี" เกิดในครอบครัวเชื้อสายจีน รุ่นที่ ๔ นับจากการอพยพย้ายถิ่นฐานจากกวางตุ้งเข้ามายังสิงค์โปร์ สถานที่ซึ่งเป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ อันอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษในขณะนั้น

บิดาเป็นพนักงานบริษัทเชลล์ มารดาเป็นครูสอนคหกรรม สอนการทำครัว มีงานอดิเรกเป็นการเขียนหนังสือ บุพการีท่านลีทั้งสองท่านเป็นคนขยันขันแข็งตามดีเอ็นเอชาวจีน ที่เหนือกว่าหน่อยคือการสนับสนุนให้ลูกชายลีคนนี้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ท่านลีจึงมีต้นทุนทางภาษาทั้งจีน อังกฤษ และมาเลย์มาตั้งแต่เด็กๆ

ครอบครัวท่านลี มีความเห็นตรงกันว่าการยกระดับคุณภาพของชีวิตและวงศ์ตระกูลนั้นมีเพียงทางเดียวนั้นคือ "การศึกษา" ท่านพ่อจับมือท่านแม่ส่งเสีย "ท่านลี" ร่ำเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ต่อมา "ท่านลี" ศึกษาต่อด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ จนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ ๑ แถมยังเป็น "เนติบัณฑิตอังกฤษ" กลับมาบ้านเกิดอีกด้วย

ใครรู้จัก "ลี กวน ยิว" จะพบว่า "ผู้ใหญ่ลี" ท่านนี้ มีพรสวรรค์ด้านการวางแผนเป็นอย่างยิ่ง ทุกๆเรื่องต้องมีแผน ไม่มีแผน "ผู้ใหญ่ลี" ตีกลองหยุดทำ ไม่เดินเด็ดขาด

ถึงขนาดว่าการหาคู่ครองมาสร้างครอบครัว "ท่านลี" ยังวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน โดยวางเป้าผู้หญิงเคียงกายต้องเป็น "คนฉลาดที่สุด" ซึ่งแผนการที่ท่านวางก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ท่านได้เจ้าสาวเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากเคมบริดจ์นามว่า "กวา เกี๊ยก ชู"

พูดถึงภริยาท่าน ก็ครอบครองมันสมองไม่ธรรมดา เคยสอบซีเนียร์แคมบริดจ์เป็นอันดับ ๑ ของมลายาหรือมาเลเซียในปัจจุบัน (สมัยก่อนสิงค์โปร์รวมอยู่ในมาเลเซีย) เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแรฟเฟิลส์ ต่อมาคว้าทุนพระราชินีอังกฤษเรียนปริญญาตรีเพียง ๒ ปี ก็ครองเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

ครอบครัวผู้ใหญ่ลีมีกำเนิดทายาทชาย ๒ ท่านคือ "ลี เซียน ลุง" กับ "ลี เซียน ยาง" ก็จบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากแคมบริดจ์ทั้งคู่ ส่วนลูกสาวคนเดียว จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาวิทยาลัยสิงค์โปร์ ไม่น้อยหน้าเช่นเดียวกัน

สรุปทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ทุกคน เกียรตินิยมอันดับ ๑ หมดครับ !

เชื่อว่าผลลัพธ์ทางครอบครัวเช่นนี้ เกิดขึ้นได้เพราะ "แผน" ที่ถูกวางไว้โดยรอบคอบล้วนๆ

"ท่านลี" เป็นคนที่มีความมุมานะมาก ท่านซึมซับจากการเห็นคุณพ่อ คุณแม่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต ท่านเชื่อในความพยายามอย่างยิ่ง

ท่านยอมรับว่า "ตัวเองเป็นคนมุ่งมั่นมาก ถ้าตัดสินใจว่าสิ่งใดคุ้มค่า ก็จะใส่หัวใจและวิญญานลงไป"

หากใครสงสัยในเรื่อง "มหัศจรรย์สิงค์โปร์" ที่เป็นดินแดนไม่มีอะไร ให้มีอะไรได้ ลองหาบทปราศรัยผู้ใหญ่ลีฟังสักบท สองบท จะพบว่ามีแรงกระตุ้นให้พลเมืองสิงค์โปร์ทำงานหนัก และพึ่งตนเองให้ได้

เป้าหมายของ "ผู้ใหญ่ลี" คือทำให้ "พลเมืองสิงค์โปร์หนึ่งคน" ต้องทำงานให้เท่ากับคนเอเชียชาติอื่น ๑๐ คน !"

นั้นคือ "ค่านิยม" ที่บิดาแห่งสิงค์โปร์นิยามลูกหลานของตนเอง

เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น คนจะ "ตาย" กันหมด ประเทศจะไม่รอด และสุดท้ายการ "เป็น อยู่ คือ" สิงค์โปร์จะเป็น "บาปกรรม" ของชีวิต ที่ท่านเป็น"ผู้ใหญ่ลี"มีส่วนอย่างแน่นอน

เมื่อประชากรต่างเร่งสปีดอัพเลเวลของตนเอง รัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจ พยายามสนับสนุนให้พลเมืองตนสร้างนวัตกรรมให้กับแผ่นดิน เพราะเมื่อไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ต้องเป็นทรัพยากรให้กับชาติด้วยความสามารถให้ได้มากที่สุด

แม้ว่าคนทั่วโลกต่างมองอย่างมีความรู้สึกว่า "เป็นสิงค์โปร์แล้วอึดอัด" ทำอะไร คิดอะไร อย่างกับหุ่นยนต์ แต่หากเอาผลงานและคุณภาพชีวิตมาเทียบ ประเทศนี้เป็นประเทศที่น่าอิจฉามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง หรืออย่างน้อยในประเทศอาเซียนเรา

"ผมถูกหาว่าเข้าไปยุ่งชีวิตส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป แต่ถ้าผมไม่ทำ เราจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้" คำโอดครวญจาก "ผู้ใหญ่ลี" สะท้อนความเป็นไปในข้อนี้ดี

ตัวอย่างหนึ่งที่จะยกมา คือ "เอกสิทธิ์หนังสือเดินทาง" ที่มอบการเดินทางสู่ ๑๗๓ ประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่าให้กับชาวสิงค์โปร์เป็นที่เรียบร้อย (ประเทศไทยเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่าได้ ๒๙ ประเทศ) ข้อนี้ก็บ่งบอกถึง "การทำงานหนัก" ของระบบราชการภายใน และระบบการทำงานต่อภายนอกอย่างเด่นชัด

หรือความพยายามในการทำให้ "สิงค์โปร์" เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเล และจุดเชื่อมต่อทางเครื่องบิน ที่ทราบกันทั่วว่า ดินแดนเมืองสิงโตแห่งนี้รับกำไรด้านนี้เป็นทั้งตัวเงิน

หรือโอกาสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เมื่อประเทศมีเนื้อที่เล็ก แต่พาสปอรต์มีเนื้อที่กว้างเกือบทั่วโลก คนสิงค์โปร์จึงเดินทางได้ง่าย ประกอบกับบ้านตัวเองคือแลนด์มาร์กของภูมิภาค ฉะนั้นคนสิงค์โปร์จึงมีต้นทุนที่ได้เปรียบกว่าชาติอื่นๆ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน หรือโอกาสในการนำ "ของใหม่ๆ" เข้ามาใช้ก่อนใครในภูมิภาค หรือในทวีปเอเชียเลยก็มี

เหล่านี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย หากขาดแผนการ วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของชายที่ชื่อว่า "ลี กวน ยิว" ผู้เป็นดั่งรากฐานของสิงโตชาตินี้ครับ .

 

#PrinceAlessandro

09-10-2017