Skip to main content

 

ผมก็ศิษย์อาจารย์ศรีหนึ่งด้วย

"เราคุยเรื่อง space and platform" ทฤษฎีนี้ไม่สวยหรูอย่างที่คาด

 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

 

 

 

เมื่อวาน ผมได้มีโอกาสแวะเวียนไปที่ deep south watch ใน ม.อ.ปัตตานี ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี และ รอมฎอน ปันจอร์ สองนักคิดนักทฤษฎีแห่งชายแดนใต้

ประเด็นที่ผมได้แลกเปลี่ยนคือ ผมบอกอาจารย์ศรีว่า "ภาคประชาชนในภาคใต้ 11 จังหวัดนอกจากสามจังหวัดชายแดนใต้ กำลังอินและซึมซาบกับแนวคิดเรื่องพื้นที่กลางและชานชาลาที่อาจารย์ศรีได้ไปไข่ทิ้งไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดทฤษฎีการบริหารจัดการเครือข่ายที่หลากหลายที่มาแทนแนวคิดเรื่องขบวน"

ชานชาลาหรือพื้นที่กลาง คือแนวคิดที่เปิดพื้นที่สนามให้ทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทได้ตามแต่ตนถนัด มีการควงของพลังความรู้ พลังปฏิบัติการและพลังสื่อสารจนทำให้เกิดกระแสสูงของการเปลี่ยนแปลงได้

แต่อาจารย์ศรีและรอมฎอนต่างหัวเราะแล้วบอกว่า "สงสัยทฤษฎีนี้จะมีปัญหาใช้ไม่ได้" ผมว่า"อ้าว ทำไมอ่ะ" อาจารย์ศรีเลยเฉลยว่า "เพราะพอเวลาผ่านไป คนที่เป็นคนอำนวยความสะดวกในสนามหรือชานชาลาก็คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของชานชาลา แล้วก็ยึดชานชาลาไปเลย กลายเป็นแฟรงเกนสไตน์หรือผีดิบเผด็จการตัวใหม่ไปเสีย  ผมเลยบอกว่า "นี่เหมือน animal farm เลย"

อาจารย์ศรีแถมท้ายด้วยว่า "ภาคเหนือภาคอีสาน ทหารเขาเน้นปิดชานชาลาไม่ให้เปิดให้ภาคประชาชนมีสนามเล่น แต่ในชายแดนใต้ยิ่งแล้วใหญ่ มีนวัตกรรมใหม่ เรามีชานชาลาและพื้นที่สนามของเราที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่า ทหารมาซื้อชานชาลาของเราไปดื้อๆ ด้วยเงิน 50 ล้านเสียเลย แล้วได้ผลด้วย ทำเอาภาคประชาสังคมที่ต้องการพื้นที่ชานชาลา ต้องมาคำนับเกรงใจเจ้าของชานชาลาคนใหม่ไปโดยปริยาย"

นี่คือความรู้ใหม่ ว่าด้วย space and platform แนวคิดว่าด้วยการขับเคลื่อนภาคประชาชนในโลกที่ซับซ้อนในปัจจุบัน

ขอบคุณอาจารย์ศรีสมภพและรอมฎอน ผมก็ศิษย์อาจารย์ศรีหนึ่งด้วยครับ