Skip to main content

 

 

บังกลาเทศไม่รับ.. ผลักดันโรฮิงญาหนีตายกลับสมรภูมิรัฐยะไข่

เอเอฟพี - บังกลาเทศควบคุมตัวชาวโรฮิงญา 90 คน และบังคับกลับพม่าในวันนี้ (27) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจบังกลาเทศ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกองกำลังทหารพม่าเปิดฉากยิงผู้คนที่หลบหนีออกจากประเทศ

ตำรวจเข้าสกัดชาวโรฮิงญาในค่ำวันเสาร์ (26) หลังข้ามเขตพรมแดนประเทศ ที่ทหารพม่าเพิ่งยิงปืนค.และปืนกลเข้าใส่ชาวบ้านที่กำลังหลบหนีจากรัฐยะไข่

ชาวบ้านถูกจับกุมตัวได้ภายในเขตแดนของบังกลาเทศห่างจากชายแดนราว 4 กิโลเมตร ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังค่ายผู้ลี้ภัย ที่มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ตามการระบุของหัวหน้าตำรวจท้องถิ่น

“ทั้ง 70 คน ถูกควบคุมตัวและถูกผลักดันกลับพม่าโดยเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน” เจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าว

ตำรวจระบุว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางส่วนเข้ามาในบังกลาเทศผ่านบริเวณชายแดนที่กองกำลังพม่าเพิ่งระดมยิงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า

“พวกเขาอ้อนวอนขอให้เราไม่ส่งตัวพวกเขากลับไปพม่า” เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งระบุ

โรฮิงญาอีก 20 คน ถูกจับได้ในวันนี้ (27) และส่งกลับหลังข้ามแม่น้ำนาฟ ที่เป็นพรมแดนโดยธรรมชาติระหว่างพม่าและบังกลาเทศ ตามการระบุของผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดน

รัฐยะไข่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความเกลียดชังทางศาสนาที่มุ่งเป้าไปยังชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติ ที่ถูกข่มเหงรังแกและถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

เมื่อเดือนต.ค. 2559 กลุ่มติดอาวุธที่ชื่อกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) ได้โจมตีด่านชายแดนพม่าหลายจุด ทำให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้เหตุโจมตีดังกล่าว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและประชาชนราว 87,000 คนต้องหลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศ

ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ปะทุขึ้นในวันศุกร์ (25) โดยสมาชิกของกลุ่ม ARSA ซึ่งซุ่มโจมตีด่านตำรวจพม่าหลายจุดด้วยมีด ปืน และระเบิดแสวงเครื่อง และฆ่าเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงไปอย่างน้อย 12 นาย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 100 ราย ตั้งแต่วันศุกร์ (25) เป็นต้นมา และทำให้ชาวโรฮิงญาอีกหลายพันคนต้องหลบหนีไปบังกลาเทศอีกระลอก

แต่เจ้าหน้าที่ฝั่งบังกลาเทศปฏิเสธที่จะปล่อยให้ชาวโรฮิงญาเข้าไปเขตแดน ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กติดค้างตามพื้นที่รอยต่อชายแดน

รัฐบาลบังกลาเทศได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีพรมแดนติดพม่าและเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ ไม่ปล่อยให้ผู้อพยพโรฮิงญาเหล่านี้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ด้วยเวลานี้ บังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 400,000 คน

แต่แกนนำชุมชนโรฮิงญา สื่อท้องถิ่น และนักข่าวของเอเอฟพี ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 3,000 คน ที่สามารถเดินทางเข้ามาในบังกลาเทศได้ และพบว่าชาวโรฮิงญาลี้ภัยอยู่ตามค่ายและหมู่บ้านต่างๆ ตั้งแต่วันศุกร์ แม้จะมีการลาดตระเวนอย่างเข้มงวด.