Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์

เรื่องสำคัญที่ว่าก็คือวิธีที่ความรุนแรงทางการเมืองที่นี้ถูกจับตา เฝ้าดู และมอนิเตอร์จากโลก ซึ่งในสายตาของพวกเขานั้น ขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นขณะนี้อยู่ที่ใด

น่าตกใจที่ฐานข้อมูลความรุนแรงที่มีการจัดตั้ง (Organised Violence) ที่จัดทำขึ้นโดย Uppsala Conflict Data Program (UCDP) หรือโครงการข้อมูลความขัดแย้งอุปซาลา ซึ่งมีฐานอยู่ในสวีเดนชี้ให้เห็นประเภทและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงซึ่งต่างไปจากฐานอื่นๆ นั่นก็คือ การระบุอย่างจำเพาะเจาะจงว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นไม่ได้มีเพียงแต่คู่ขัดแย้งระหว่าง "รัฐบาลไทย" กับ "กลุ่มก่อความไม่สงบปาตานี" เท่านั้น (ใช่แล้วครับ เขาเรียกขานว่า Patani insurgents!)

หากแต่รวมไปถึงอีกคู่ขัดแย้งนึงด้วย นั่นก็คือ Patani insurgents กับ Civilians หรือในที่นี้ก็คือกับพลเรือนนั่นเอง (ดูในภาพครับ)

เหตุที่เขานับกันอย่างนี้ก็เพราะในบรรดาวิธีการจำแนกของเขา มีสิ่งที่เรียกว่า One-sided violence หรือ "ความรุนแรงข้างเดียว" ด้วย พัฒนาการของวิธีการนับอย่างนี้น่าสนใจ เพราะเนื่องจากหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา แนวโน้มของความรุนแรงที่มีการจัดตั้งหลายที่ในโลกนั้นเล่นงานพลเรือนเสียจนมีสัดส่วนที่มากกว่ากำลังพลอย่างน่าใจหาย การมอนิเตอร์ความรุนแรงประเภทนี้จึงสมเหตุสมผล

ประเทศไทยนั้นมีความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังกันแทบจะทุกชนิด ทั้งที่รัฐกับรัฐ (ไทยกับกัมพูชา) รัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (ที่ชายแดนใต้หรือปาตานี) กลุ่มที่ไม่ใช่รัฐปะทะกันเอง (แถบชายแดนพม่า) และกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐกับพลเรือน (ที่นี่!)

UCDP แจกแจงด้วยว่าการเล่นงานพลเรือนของขบวนการปาตานีนั้นมีอยู่ 3 ชนิด อย่างแรกคือ การพุ่งเป้าไปที่ "พลเรือน" ที่สัมพันธ์กับองค์กรภาครัฐ ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน ครู ไปจนถึงคนทำงานระดับล่าง (ตามคำของเขา) อย่างคนเก็บขยะ อย่างที่สองคือ คนพุทธที่ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่มายาวนานเพียงใดก็ตาม และอย่างที่สามคือการสังหารแบบไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรหรือคนกรีดยาง ไม่มีคำอธิบายที่หนักแน่นมากนักว่าเหตุใดพวกเขาทำเช่นนั้น แต่ทั้งสามอย่างนั้นใช้วิธีการหลากหลาย แน่นอน ไม่มีการประกาศความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ

ผมเดาเอาว่าผู้นำทางทหารของบีอาร์เอ็นเมื่อหลายปีก่อนคง "อนุญาต" ให้ปฏิบัติการทางทหารเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยบางเหตุผลที่ต้องการยกระดับความรุนแรงให้ไปไกลเกินกว่าที่หลายฝ่าย (รวมไปถึงฝ่ายตนเอง) จะคาดการณ์ได้ ปฏิกริยาที่แข็งกร้าวและไร้สติของทางการไทยในช่วงแรก (และบางครั้งจนถึงตอนนี้) ยืนยันความสำเร็จของการใช้ความรุนแรงเกินคาดเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม พวกเขากำลังถูกจับจ้องอยู่ท่ามกลางการตรวจสอบจากหลายทิศหลายทาง (ควรต้องย้ำว่า UCDP เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลสำคัญและได้รับความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควรในแวดวงคนศึกษาและทำงานที่เกียวข้องกับความขัดแย้งและสันติภาพ) ยุทธศาสตร์การปิดลับซ่อนเร้นนั้นอาจทรงพลังอยู่ แต่ก็คงด้อยพลังไปทีละเล็กละน้อย มีแต่การปรับตัวเพื่อรุกในทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้นที่จะยืนรักษาระยะของการต่อสู้ของพวกเขาเอาไว้ได้

ปัญหาก็คือจะทำอย่างไร? ผมไม่ทราบสถานการณ์ภายในมากนักและคงเสนออะไรไม่ได้อย่างโดดเด่นสมจริง สิ่งที่พอจะคาดเดาได้บ้างก็คือทิศทางที่เน้นการทหารและวิธีการนำในแบบเดิมควรได้รับการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน พร้อมๆ กับการริเริ่มจริงจังกับแนวทางที่เน้นไปในทางการเมืองมากขึ้น

โดยอาศัยต้นทุนที่พอมีหรือพอหลงเหลืออยู่บ้างนั่นเอง

(สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียด คลิกที่นี่ครับ http://ucdp.uu.se/#/onesided/999 หากติดตามการสนทนาที่ต่อเนื่องจากข้อเขียนนี้ กรุณาคลิก ที่นี่)

หมายเหตุ: อ่าน เหตุผลที่บีอาร์เอ็นควรปรับ (บางอย่าง)

 

Fig. 1 - ภาพจากเว็บไซต์ UCDP แสดงแผนที่ความรุนแรงข้างเดียวระหว่าง "กลุ่มก่อความไม่สงบปาตานี" กับ "พลเรือน"

Fig. 2 - ภาพประมวลข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงข้างเดียวในกรณีนี้

Fig 3 - ภาพแสดงแผนที่ความรุนแรงระหว่าง "คู่ขัดแย้งหลัก" หรือระหว่าง "รัฐบาลไทย" กับ "กลุ่มก่อความไม่สงบปาตานี"

Fig. 4 - แผนที่ความรุนแรงที่มีการจัดตั้ง หรือ Organised violence ตามนิยามของ UCDP รายละเอียดที่เกี่ยวกับประเทศไทย ดูที่นี่ http://ucdp.uu.se/#/country/800

Fig. 5 - สถิติภาพรวมของความรุนแรงที่มีการจัดตั้งในประเทศไทย

Fig. 6 - ภาพรวมของความรุนแรงที่มีการจัดตั้งทั้งโลกตั้งแต่ปี 1975-2015 ในเว็บไซต์ของ UCDP (ดูรายละเอียดได้ใน http://ucdp.uu.se/)