Skip to main content

 

โรงเรียนจ้องฮั้ว : หลากชีวิตในความเป็นไปของการดูแล (เด็ก) ในพื้นที่ฯ

10 ปีกับความหวังที่ยังรอคอย “สันติภาพ”

---------------------------------------------------------------------------------------------------

สุรชัย (ฟูอ๊าด)  ไวยวรรณจิตร / คอลัฟ ต่วนบูละ และคณะ (นักวิจัย)

โครงการบูรณาการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเพื่อลดผลกระทบ

จากความรุนแรงต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ : จากชุมชนสู่เด็ก

โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

“เราก็อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ เราก็เป็นชาวจังหวัดปัตตานี เราต้องเข้มแข็งเพราะเรามีลูกๆอีกกว่า 800 ชีวิต (นักเรียน) ที่เราต้องดูแล...” เสียงสะท้อนจากโรงเรียน

 

 

          เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 คณะทีมวิจัยร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ได้ลงพื้นที่ถอดบทเรียนเพื่อจัดทำคู่มือแผนเผชิญเหตุและการเยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงเรียนจ้องฮั้ว อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุมชนถอดบทเรียนครั้งนี้มีผู้เข้ามาร่วมประชุมประกอบด้วย ครู ผู้ปกครองของเด็กที่ได้รับผลกระทบฯ อสม. นักจิตวิทยา นักวิชาการสาธารณสุข และบุคลากรของ UNICEF

เบื้องต้นจากข้อมูลทราบว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงเรียนต้องสูญเสียบุคลากรครูไปแล้วสองคน เมื่อปี 2550 จากเหตุระเบิดที่ร้านน้ำชาซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่มากนัก ครูคนหนึ่งกำลังท้อง 5 เดือน (เสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก) เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากการถูกสะเก็ดระเบิด อีกเหตุการณ์หนึ่งพ่อแม่ของเด็กถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจิตใจของเด็กนักเรียนที่ต้องเห็นคุณครูของตนเองเสียชีวิตโดยไม่มีวันกลับมา นักเรียนที่โดนสะเก็ดระเบิดจะมีอาการกังวลเพราะกลัวเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีก และนักเรียนที่เห็นเหตุการณ์พ่อถูกยิงจะมีอาการหวาดผวาจนต้องย้ายจากที่อยู่เดิมในชนบทเข้ามาอยู่ในตัวเมือง อย่าว่าแต่เด็กเลยเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ก็ยังรู้สึกกลัวต่อเหตุการณ์ เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์มันจะเกิดกับเราเมื่อไร แต่ในเมื่อเราเป็นชาวปัตตานี เราต้องดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างแข้งแข็ง โรงเรียนไม่เคยนิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรของโรงเรียน เราพยายามหามาตรการต่างๆ ที่จะป้องกัน และช่วยเหลือเยียวยาบุคลากรของเราเท่าที่เราสามารถทำได้ ดังนั้น “จึงเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับการจัดทำคู่มือแผนเผชิญเหตุของศูนย์สุขภาพจิตที่ 12” ...เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุม

 

บทบาทของโรงเรียน (ครู) กับการดูแลเด็ก

          บทบาทของโรงเรียนกับการดูแลเด็กนักเรียนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดกับโรงเรียนทั้ง 4 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม บทบาทการช่วยเหลือของโรงเรียนจะมีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดตามลักษณะเหตุการณ์ ดังนี้

1)     เหตุการณ์ที่ครูของเด็กเสียชีวิตจากการถูกระเบิด เด็กนักเรียนอาจจะไม่ได้รับ

ผลกระทบโดยตรง เพราะตอนเกิดเหตุการณ์เป็นช่วงที่โรงเรียนกำลังจะเปิดภาคการเรียน ซึ่งเด็กๆ ยังไม่มีเรียน แต่เด็กๆ ทุกคนก็ทราบข่าวว่าคุณครูอันเป็นที่รักของตนเองเสียชีวิตแล้ว และเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น สิ่งที่โรงเรียนได้กระทำเพื่อให้เด็กเข้าใจต่อสถานการณ์ คือ พยายามให้คุณครูอธิบายแก่เด็กให้เข้าใจโดยเฉพาะเด็กนักเรียนโตๆ ที่สามารถรับรู้เรื่องราวได้แล้ว

2)     เด็กที่เรียนที่โดนระเบิดจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อทราบข่าว ทางโรงเรียนก็ได้ไปเยี่ยมเด็กที่

รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน โดยให้เป็นหน้าที่ของครูประจำชั้นของเด็ก เนื่องจากเห็นว่าเด็กจะมีความใกล้ชิดกับครูประจำชั้นมากที่สุด จากความใกล้ชิดและสนิทสนมของเด็ก ทำให้เราสามารถรู้ว่าเด็กนักเรียนคนนี้เขาต้องการให้เพื่อนสนิทในชั้นเรียนเดียวกันมาเยี่ยม เพราะปกติตอนอยู่ที่โรงเรียนเด็กจะมีเพื่อนสนิทด้วยกัน 3 คน หนึ่งในนั้นคือ น้องโชค การที่เพื่อนได้มาเยี่ยมทำให้เด็กที่ได้รับผลกระทบมีกำลังใจมากขึ้น นอกจากนี้ทางโรงเรียนได้รับเด็กนักเรียนคนนี่เป็นเด็กพิเศษที่ทางโรงเรียนต้องดูแล ปัจจุบันเด็กได้รับทุนจากโรงเรียนตลอดและสนับสนุนทางด้านการเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เด็กและครอบครัว

3)     เหตุการณ์พ่อของเด็กถูกยิงต่อหน้าต่อตา เด็กคนนี้นอกจากได้รับผลกระทบทาง

ร่างกายแล้ว จิตใจของเด็กยังมีความรู้สึกหวาดผวาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เดิมจะอาศัยอยู่ในชนบท แต่เนื่องจากความกลัวที่กระทบต่อเด็ก ทำให้ต้องย้ายมาอยู่ในเมืองกับคุณตา สิ่งแรกที่ทางโรงเรียนทำเมื่อได้ทราบข่าว คือ การเข้าไปเยี่ยมและให้กำลังใจเด็ก แม้เด็กจะได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก แต่จิตใจของเขาต้องการคนคอยดูแล ให้คำปรึกษา ครูทุกคนไปเยี่ยมน้อง และทางโรงเรียนเองก็ได้จัดทุนให้เด็กเสมอมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กมีอาการในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

 

 

4)     ล่าสุด “น้อง A (นามสมมุติ)” อยู่อนุบาล 3/1 ช่วงตุลาคมปิดภาคเรียนที่ผ่านมา คุณปู่

ซึ่งทำหน้าที่ผู้ปกครองขับรถพาน้องไปหาของป่า ระหว่างทางได้มีคนร้ายดักยิง น้องเห็นน้องกระโดดลงจากรถ แต่ก็ยังถูกยิงที่ขา คุณปู่เสียชีวิตตามที่เป็นข่าว ผลจากสถานการณ์ช่วงแรกๆ น้องหลับก็จะมีอาการสะดุ้งตลอด พร้อมพูดว่า “อย่า...อย่า...อย่า...อย่ายิง...”

          โรงเรียนจะไม่นิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิจ้องฮั้ว อะไรทีเกิดขึ้นกับเรา สิ่งใดอยู่ความรับผิดชอบของเรา เรายินดีให้การสนับสนุน ช่วยเหลือเท่าที่เราสามารถทำได้ เพราะต้องอยู่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง กระบวนการที่ทางโรงเรียนตระหนักคือ พยายามกำชับผู้ปกครอง และ กำชับครู เพื่อช่วยกันดูแลเด็กๆอยู่ตลอด

 

 

บทบาทสาธารณสุขกับการดูแลเด็ก

          บทบาทสาธารณสุขกับการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น นอกจากการดูแลรักษาอาการของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว นักจิตวิทยาของโรงพยาบาลปัตตานี ก็ได้ลงมาช่วยดูแลเรื่องสุขภาพจิตของเด็กร่วมกับโรงเรียนตลอด ซึ่งเด็กได้รับการดูแลจากโรงเรียนค่อนข้างดีมาก ทำให้หายจากอาการทางจิตได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาก็ได้ลงเยี่ยมติดตามเด็กมาโดยตลอด บริบทการทำงานของสาธารณสุขในเขตเมือง จะขึ้นตรงต่อโรงพยาบาลปัตตานีเลย จากคำพูดของนักจิตวิทยาท่านหนึ่งกล่าวว่า “หลายๆครั้งที่เราเห็นรอยยิ้ม เราสามารถเปลี่ยนคราบน้ำตาเป็นรอยยิ้มได้ มันคือความสุขของการทำงานของเรา แม้งานของเราจะเป็นงานนามธรรมที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นก็ตาม” สื่อสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่นักจิตวิทยายังคงทำงานด้วยใจที่มุ่งมั่นในการคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์

 

 

บทบาทของชุมชนกับการดูแลเด็ก

          เริ่มจากบทบาทของผู้ปกครองของเด็ก สิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาถึงบทบาทของผู้ปกครองต่อการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ คือ การให้กำลังใจลูก คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา เพราะใน Case ที่น้องโดนสะเก็ดระเบิด ตอนเกิดเหตุการณ์ระเบิดคุณแม่ของเด็กก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บประการใด สิ่งแรกที่ทำ คือ การวิ่งไปกอดลูก ก่อนจะมีคนมาช่วยและส่งโรงพยาบาล ดีที่คุณแม่ไม่ได้รับบาดเจ็บจึงได้มีเวลามาเฝ้าลูกที่ได้รับบาดเจ็บ

          สำหรับบทบาทของ อสม. ในการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ยังไม่สามารถวิเคราะห์ถึงบทบาทจริงต่อการดูแลเยียวยาจิตใจของเด็ก เนื่องจาก ตัวแทนของ อสม. ที่มาร่วมประชุมเป็นคนใหม่ ยังไม่เข้าใจในบริบทของงานที่ทำเกี่ยวกับการดูแลเยียวยาจิตใจเด็กจากเหตุการณ์ เป็นการรับช่วงต่อจาก อสม. ที่เคยเข้ามาร่วมโครงการกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 12ฯ กอปรกับพื้นที่เขตเมืองกว้าง อสม. ต้องรับผิดชอบดูแลหลาย Case แต่อย่างไรก็ตาม อสม. ก็ได้สะท้อนมาว่า “เคยมีเหตุการณ์วางเพลิงแถวชุมชนที่ตัวเองอยู่ ในขณะที่คนร้ายกำลังขว้างขวดระเบิด เขาได้ออกมาตะโกนให้ชาวบ้านออกมาช่วยดับไฟไหม้ ก็ไม่มีใครสักคนที่กล้าออกมาช่วย ด้วยความกล้าหาญดังกล่าวมันเกิดจากจิตสาธารณะของความเป็น อสม.”

         

บทเรียนสะท้อนย้อนคิด

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับข้อค้นพบในครั้งนี้ คือ บทบาทของโรงเรียนค่อนข้างเด่นชัดในการดูแลเยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบฯมากกว่าบทบาทของ Setting อื่นๆ (สาธารสุขและชุมชน) เพราะการใช้กระบวนการให้เด็กไปเยี่ยมเพื่อนด้วยกันถือเป็นการเยียวยาที่มีคุณค่ามาก ยิ่งเป็นเพื่อนที่เขารักและสนิท ตลอดจนมีกระบวนการที่ผู้ปกครองสามารถมาติดต่อขอรับเอกสารเพื่อดำเนินการตามสิทธิต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยพบจากโรงเรียนทั่วไป ตลอดจน สร้างกลไกด้วยการกำชับครูและผู้ปกครองให้ดูแลเด็กและลูกหลานของตนเองอยู่ตลอด นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

 

 

File attachment
Attachment Size
bthkhwaamorngeriiyncchnghaw_1.pdf (249.71 KB) 249.71 KB