Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559

ใบแจ้งข่าว

เครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการทรมานสามองค์กรขอให้ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้นำประเด็นการยุติการทรมานเป็นวาระเร่งด่วนพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และคณะรัฐมนตรีส่วนหน้า

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีได้ส่งจดหมายเรื่องการร้องเรียนเรื่องการทรมานในสถานการณ์ปัจจุบัน ให้กับนายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน  ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้   สภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้นำประเด็นนี้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และคณะรัฐมนตรีส่วนหน้า เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารงานจังหวัดชายแดนใต้  โดยให้ถือว่าการยุติการทรมานเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งนี้ เราเชื่อว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการใช้บังคับกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  นั้นทำให้ผู้เสียหายและชาวบ้านในจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะกล้าร้องเรียนหรือดำเนินคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานฯแต่ไม่ร้องเรียนหรือดำเนินคดี  ปัญหาการทรมานฯเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักสิทธิมนุษยชนต้องทำงานขับเคลื่อนให้เกิดการตรวจสอบ ให้หน่วยงานรัฐปกป้อง คุ้มครองประชาชน รวมทั้งผลักดันเชิงนโยบายต่อภาครัฐ หากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ก็ยากที่จะสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้

โดยทางเครือข่ายองค์กรที่ติดตามเรื่องการรณรงค์การยุติการทรมานมีความกังวลว่าในช่วงเวลาสองเดือนกว่านับแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปีนี้เป็นต้นมา ได้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ โดยผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เช่นนายอีรอเฮง ซาลีลาเต๊ะที่ร้องเรียนว่าตนถูกซ้อมทรมานจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี โดยอ้างว่า เมื่อเวลา 16.00 น วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559  ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปปิดล้อมจับกุม นายอีรอเฮง ซาลีลาเต๊ะ  ชาวบ้านต.ดาโต๊ะ  อ.หนองจิก  จ.ปัตตานี  ทำให้นายอีรอเฮง ซารีลาเต๊ะ ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการจับกุม  อีกทั้งยังมีหลายกรณีที่มีการร้องเรียนในลักษณะดังนี้

  1. อย่างน้อย 5 ราย เป็นการควบคุมตัวเกินระยะเวลาการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ กล่าวคือควบคุมตัวตามคำสั่งคสช. เป็นเวลา 7 วันในพื้นที่กรุงเทพ และมีการควบคุมตัวต่อโดยใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 7 วัน โดยข้อกล่าวหาเดียวกันและต่อมามีการปล่อยตัวบุคคลโดยไม่แจ้งข้อหา
  2. อย่างน้อย 1 รายมีการบังคับให้เปลือยกายระหว่างการสอบสวนและการควบคุมตัว
  3. อย่างน้อง 1 รายมีการใช้ไฟฟ้าช็อคระหว่างการสอบสวน
  4. อย่างน้อย 3 รายที่ญาติไม่สามารถเยี่ยมได้ในวันแรก ต่อมาญาติได้เยี่ยมเพียง 2-3 นาที หรือให้เยี่ยมโดยผ่านวีดีโอคอล หรือการให้นั่งรถกระบะมาเพื่อให้เห็นหน้าแล้วก็ขับรถวนกลับไปควบคุมตัวต่อ
  5. อย่างน้อย 4 รายที่ญาติได้รับการแจ้งว่าไม่ต้องมาเยี่ยมในสามวันแรกเพราะมีกฎห้ามเยี่ยมผู้ต้องหา

อนึ่งแม้ว่าจะมีความรุนแรงทางอาวุธเกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายทั้งที่มีเป้าหมายทางการเมืองและไม่อาจระบุถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติการ แต่การใช้อาวุธรุนแรงทั้งระเบิด การลอบสังหารผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่รักษาความสงบก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ ส่งผลต่อความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังต่อกันมายาวนานและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนานต่อไปตราบที่ทุกฝ่ายยังไม่มุ่งเน้นการใช้สันติวิธีอย่างแท้จริงและยุติการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

คลิกอ่านจดหมายฉบับเต็ม