Skip to main content

ทำความเข้าใจการประท้วงในอินโดนีเซีย: การเมืองของความเถรตรงทางศาสนา

 

 

The harm inflicted on religion by those who defend it improperly is greater than the harm caused by those who attack it properly

(Al-Ghazali, Tahafut al-Falasifah, p.11)

 

“ความเสียหายอันเกิดจากการปกป้องศาสนาอย่างไม่เหมาะสมมีความร้ายแรงยิ่งกว่าความเสียหายของศาสนาอันเกิดจากผู้ที่โจมตีมันอย่างเหมาะสม”

(อิหม่าม อัล-ฆอซาลี, ตาฮาฟุต อัล ฟาลาซีฟะฮ์, หน้า 11)

การประท้วงกลางกรุงจากาตาร์ที่นำโดย FPI (Front Pembela Islam: แนวหน้าผู้ปกป้องอิสลาม) ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาแม้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการเมืองอินโดนีเซีย แต่การประท้วงครั้งนี้มีนัยยะสำคัญยิ่งในแง่ของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศนี้นับตั้งแต่พลังประชาธิปไตยได้ทำการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมซูฮาร์โต้ในปี 1998 การประท้วงในครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามแนวการกลับไปสู่รากฐานดั้งเดิม (Fundamentalism) ทั้งยังเป็นการประกาศว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีอำนาจเข้มแข็งพอที่ทุกฝ่ายไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองที่อิสลามจะเป็นเสียงเรียกให้ผู้คนออกมาชุมชุม (Rallying cry) เมื่อเกิดข้อถกเถียงในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันของคุณค่าทางศาสนาและคุณค่าของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการที่ดีพอและพลังของการรอมชอมอันเป็นลักษณะสำคัญของอิสลามในอินโดนีเซียอ่อนแอลง ประเทศนี้จะกลายเป็นเสมือนหนึ่งปากีสถานที่กลุ่มการเมืองและศาสนาแนวเดียวกันนี้ได้ใช้อิสลามเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง อิสลามสายแข็ง (Hardliner) จะครองพื้นที่การเมืองในท้องถนน การเมืองของความรู้สึกจะเข้าแทนที่การเมืองของเหตุผลและอาจสร้างปัญหาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าการแสวงหาฉันทามติร่วมกันในสังคมดังที่เคยเป็นมา ภาพพจน์ที่แข็งกร้าวจะเข้าแทนที่ลักษณะอิสลามในอินโดที่นักวิชาการผู้ศึกษาอิสลามกล่าวว่าเป็น “รอยยิ้มแห่งอินโดนีเซีย”  

บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยภายหลังระบอบซูฮาร์โต้ทำให้กลุ่มต่างๆในสังคมทั้ง NGOs ประชาสังคม กลุ่มแนวคิดทางศาสนา กลุ่มทางการเมืองและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆเจริญงอกงามมีพื้นที่ในการแสดงออกและสร้างกิจกรรมของตัวเองอย่างคึกคัก เมื่อโซ่ตรวนแห่งอำนาจนิยมได้ถูกปลดลงโดยพลังประชาธิปไตยในประเทศที่มีมุสลิมประมาณ 250 ล้านคนนี้ กลุ่มทางศาสนาซึ่งถูกกดทับและถูกกระทำมากที่สุดภายใต้ระบอบซูฮาร์โต้จึงเป็นกลุ่มที่มีพลังน่าเกรงขามที่สุด เนื่องจากมีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ มีสมาชิกที่ชัดเจน และจากการที่กลุ่มศาสนาส่วนใหญ่ทำงานในเชิงสังคมสงเคราะห์และการศึกษาทำให้พลังของพวกเขามีรากฐานที่มั่นคงและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างกว้างขวางอีกด้วย

FPI นำโดย ฮาบี๊บ มูฮัมหมัด ริซิก ชิฮ้าบ (Habib Muhammad Rizieq Syihab, 1965-)      ซึ่งจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกษัตริย์ซาอูด กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีแนวทางอันเข้มงวดในการตีความคำสอนทางศาสนา โดยต้องการนำเอาคำสอนในศาสนาอิสลามมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงตามความเข้าใจอิสลามในลักษณะตีความตามตัวอักษรอันเข้มงวดและเถรตรงของพวกเขา โดยไม่ให้ความสำคัญมากนักกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม นอกจากนั้นการปฏิบัติตามการตีความดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะบังคับ (enforce) จากบนสู่ล่าง ด้วยกองกำลังทหารบ้าน (paramilitary) ที่พวกเขามีอยู่ มากกว่าการค่อยๆสร้างความตระหนักรู้ ยกระดับการศึกษาและทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจากล่างขึ้นบนดังเช่นการทำงานของสององค์กรหลักทางศาสนาในอินโดนีเซีย คือ มูฮัมมาดียะฮ์ (Muhammadiyyah) และ นะฮดาตุ้ล อูลามาอ์ (Nahdlatul Ulama) ซึ่งทำงานในเชิงเผยแพร่ศาสนาผ่านการสร้างเครือข่ายและสร้างสถาบันทางสังคมสังคม เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สหกรณ์ ตลอดจน องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรการกุศลอื่นๆ

FPI เติบโตจากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น ยาเสพติด อาชญากรรม ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมอันเกิดจากการแพร่ขยายของสถานบันเทิงเริงรมย์ บ่อนการพนัน โสเภณี และความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1998-2000 ทำให้การเคลื่อนไหวของ FPI ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านชนชั้นล่างเนื่องจากพวกเขาต้องทนอยู่กับสภาพปัญหาทางสังคมและไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจาก FPI ที่มักจะส่งคำเตือนไปยังสถานบันเทิงที่เปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและหากสถานบันเทิงเหล่านั้นยังคงไม่สนใจต่อคำเตือนพวกเขาจะดำเนินการด้วยวิธีรุนแรง พฤติกรรมดังกล่าวของ FPI เป็นที่ถกเถียงอย่างมากถึงความถูกต้องชอบธรรม และมีความพยายามจะแบนองค์กรนี้จากหลายฝ่าย   

เหตุการณ์ที่ทำให้ FPI เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนมุสลิมว่าเป็นแนวหน้าในการปกป้อง อิสลามอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อมีเด็กหนุ่มมุสลิมในชุมชน Ketapang ในจังหวัด อัมบอนถูกกลุ่มวัยรุ่นคริสเตียนทำร้ายร่างกาย เมื่อพ่อของเด็กเข้าไปเพื่อช่วยเหลือ กลับถูกทำร้ายและถูกทรมานร่างกายจนต้องส่ง โรงพยาบาล ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความโกรธและกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แต่เหตุการณ์มาถึงจุดเดือดเมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวคริสต์หัวรุนแรงประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกันทำร้ายชาวมุสลิมและเผามัสยิด ผู้นำชุมชนมุสลิมได้ขอความช่วยเหลือจาก FPI ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ Petamburan เมื่อ FPI มาถึงทั้งสองฝ่ายต่างตะลุมบอนเข้าหากันแล้ว มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแต่ FPI สามารถยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์บานปลายไปเป็นทุ่งสังหารได้ และในสัปดาห์ต่อมาซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ใน Petamburan ได้เกิดความรุนแรงในชุมชน Kupang ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด East Nusa Tenggara อันเป็นจังหวัดที่มีชาวคริสต์เป็นชนส่วนใหญ่ โดยเริ่มต้นเมื่อชาวคริสต์พร้อมใจกันออกมาตามท้องถนนและเผามัสยิดทุกมัสยิดที่พวกเขาเดินผ่าน มีมุสลิมเสียชีวิตไปกว่า 10 คนจากเหตุการณ์ดังกล่าว FPI ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเรียกร้องให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำคนผิดมาลงโทษและเรียกร้องให้ชาวคริสต์หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการยั่วยุต่อชาวมุสลิมรวมทั้งเรียกร้องให้มุสลิมทำการต่อสู้ (jihad) เพื่อปกป้องเกียรติยศของอิสลาม

ภายใต้คำขวัญ “ใช้ให้กระทำความดี และยับยั้งจากความชั่ว (Amr bil maruf wal nahi al-munkar)”ซึ่งเป็นข้อความจากคัมภีร์อัลกรุอ่านและเป็นข้อความที่มุสลิมคุ้นเคยกันดี FPI ได้ใช้ข้อความสั้นๆพื้นๆและเข้าใจง่ายนี้ดึงดูดชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐและเอือมระอากับการคอรัปชั่นและความเหลวแหลกทางศีลธรรม ให้ร่วมกันต่อสู้ (jihad) เพื่อทำลายความชั่วและการคอรัปชั่น (gusur kemaksiatan)โดยถือเป็นหน้าที่ทางศาสนา (fardu)ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องกระทำ ทั้งนี้ในภาษาและโลกทัศน์ของมุสลิม คำว่า “Maksiat(ความชั่วช้า/มีนัยยะของการก่อให้เกิดความเสื่อมทางศีลธรรม)” และ “jihad (การดิ้นรนต่อสู้/มีนัยยะของการต่อสู้กับความชั่วทางศีลธรรมภายในตนเองและในสังคม)” เป็นสองคำที่สามารถปลุกเร้าความรู้สึกร่วมทางศาสนา การร่วมกันต่อสู้กับ Maksiat เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติยิ่งทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ สมาชิกและผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของ FPI จึงขยายตัวและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว Misbahul Anam เลขาธิการของ FPI อ้างว่า FPI มีสมาชิก 15 ล้านคน และมีสาขาตั้งอยู่ใน 17 จังหวัดทั่วทั้งประเทศ[1]

แต่การรวมกลุ่มเป็นขบวนการเคลื่อนไหวโดยตัวมันเองคือการเมือง ซึ่งย่อมต้องมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อต้องขับเคลื่อนผู้คนออกสู่ท้องถนนจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยคที่เข้าใจง่ายเร้าอารมณ์ ด้วยการลดทอนความสลับซับซ้อน ความประณีต บริบท และปัจจัยอื่นๆของอิสลามลงมาให้อยู่ในระดับที่ง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด  วิธีการเช่นนี้มีด้านที่อันตรายและราคาที่จะต้องจ่ายอย่างมหาศาล ผลของความเข้าใจเรื่องญิฮาดอย่างง่ายๆเป็นตัวอย่างได้ดีถึงภัยพิบัติที่จะมาเยือนเมื่อขาดความประณีต บริบท และความสลับซับซ้อนของการนำเอาคำนี้ไปใช้ ยิ่งไปกว่านั้น บทเรียนจากการต่อสู้ในซีเรียพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ความแข็งกร้าวและภาษาของการต่อสู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาสังคมแทนการรอมชอมและแสวงหาความเห็นพ้องทำให้ประเทศที่สวยงามที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับต้องมีสภาพที่น่าหดหู่ดังเช่นในปัจจุบัน แน่นอนว่ามีปัจจัยอื่นๆด้วยเช่นการแทรกแซงจากมหาอำนาจ แต่การแทรกแซงจะมีความหมายและมีผลก็ต่อเมื่อเกิดการต่อสู้และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในสังคม

กรณีการประท้วงในครั้งนี้ เกิดขึ้นในบริบทที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ต้าเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อผู้ว่าฯคนปัจจุบันคือ นาย Basuki Tjahja Purmama ซึ่งเป็นชาวคริสต์เชื้อสายจีนประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้ออกมาบรั๊ฟคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่กล่าวว่าการเลือกผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมมาเป็นผู้นำนั้นเป็นข้อห้ามทางศาสนา โดยเขากล่าวว่า “อย่าไปเชื่อคนอื่น ในใจลึกๆของพ่อแม่พี่น้องมันก็ได้ไม่ใช่เหรอ แต่จะมีคนโง่ๆกลุ่มหนึ่งอ้างโองการจากคัมภีร์อัลกรุอ่าน บทที่ชื่อ อัลมาอีดะฮ์ วรรคที่ 51 ว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ที่จะไม่เลือกผมJangan percaya sama orang bias aja kan dalam hati kecil bapak ibuEnggak bias milih sayaYang ada dibohongin pake surat al-Maidah:51 macam macam ituItu hak bapak ibu ya…” แม้คำพูดของ นาย Basuki จะเป็นการหมิ่นเหม่ ต่อการเอาตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่มุสลิม) เข้าไปตีความและหาว่ามุสลิมโง่ที่เข้าใจตามแบบของมุสลิม และเขาควรจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง และขอโทษต่อชาวมุสลิม (ซึ่งผู้เขียนยังมองไม่ออกว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลามตรงไหน) แต่การที่ฝ่ายมุสลิมและมีความสัมพันธ์กับ FPI ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนาย Basuki นำเอาประเด็นด้านศาสนามาใช้ประโยชน์ทางการเมืองในเบื้องแรกย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความโองการในคัมภีร์อัลกรุอ่านตามตัวอักษรแบบง่ายๆของ FPI ว่าการเลือกผู้ที่มิใช่มุสลิมมาเป็นผู้นำผิดหลักการศาสนาตามโองการที่ 51 ในบทที่ชื่อว่า อัลมาอีดะฮ์ ของคัมภีร์อัลกรุอ่าน[2]

 เป็นที่เข้าใจได้ว่าในระบอบการเมืองในอดีตนั้นชุมชนทางการเมือง (political community)วางอยู่บนรากฐานของศาสนา ศูนย์รวมความภักดีทางการเมือง (political loyalty) ของผู้คนคือศาสนา การภักดีต่อศาสนาหมายถึงความภักดีทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ความเป็นศาสนาเดียวกันจึงมีความสำคัญ ถ้าผู้นำไม่ใช่ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันจะไม่สามารถสถาปนาความภักดีทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดปัญหาการกบฏตามมา อัลกรุอ่านโองการดังกล่าวสะท้อนสภาพปัญหาทางการเมืองในขณะนั้นและต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว (ประกอบกับกิจกรรมการสอดแนมของชาวยิวและชาวคริสต์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการทำลายชุมชนทางการเมืองมุสลิมที่เพิ่งตั้งไข่) อีกทั้งการขึ้นมาเป็นผู้นำในอดีตเกิดจากการใช้กำลัง ระบบการสืบสันติวงศ์และการขยายอาณาจักร การนับถือศาสนาเดียวกันจึงเป็นเรื่องปกติ สมเหตุสมผล และเป็นวิถีของชุมชนการเมืองในลักษณะดังกล่าว

แต่ความเป็นประเทศ และความเป็นรัฐชาติในปัจจุบันแตกต่างจากชุมชนทางการเมืองในอดีต การสร้างชาติเกิดจากความความพยายามที่มาจากผู้คนทุกศาสนาและทุกชาติพันธุ์ (แม้ว่าชาติพันธุ์ของชนส่วนใหญ่จะครอบงำอยู่ก็ตาม) สร้างชุมชนร่วมกันผ่านข้อตกลงร่วมกันซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชุมชนออกจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกและสร้างรัฐชาติขึ้นมาใหม่ก็มาจากหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของผู้คนในทุกศาสนาและทุกชาติพันธุ์ การตีความว่าผู้นำจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้นจึงเป็นการตีความที่ไม่คำนึงถึงสภาพบริบทของสังคม (ahistorical interpretation) จิตใจคับแคบ (narrow minded) เห็นแก่ตัว (selfishness) ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของอิสลามที่อ้างตัวว่าเป็นศาสนาแห่งความยุติธรรม ศาสนาแห่งความเมตตา และเป็นศาสนาของมนุษยชาติ

การนำศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง การลดทอนความประณีตของศาสนา การไม่นำพาต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการทำความเข้าใจตัวบท ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งผลร้ายต่อสังคมมุสลิม ผลของความตั้งใจที่จะปกป้องศาสนากลับทำลายศาสนาในที่สุดดังคำพูดของอิหม่ามฆอซาลี ที่ยกมาข้างต้น  

        

เชิงอรรถ

[1] Jajang Jahroni, Defending the Majesty of Islam: Indonesia’s Front Pembela Islam, 1998-2003(Chiang Mai: Silkworm Books, 2008), 32.

[2] ในโองการดังกล่าวมีใจความว่า…”โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่าได้ยึดเอาชาวยิวและชาวคริสต์มาเป็นมิตร บางส่วนของพวกเขาคือมิตรของอีกบางส่วน…”

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://prachatai.com/journal/2016/11/68826