Skip to main content

 

การไว้ทุกข์ในวิถีชีวิตมุสลิม

 

ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ

ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้

 

 

ชีวิตหนึ่งเมื่อเกิดมา ย่อมเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆหลากหลายนานา ทั้งสุข ทุกข์ ร้อน หนาว หัวเราะ ร่ำไห้ สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง เป็นธรมดา เช่นเดียวกับเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ เป็นสัจธรรมแห่งชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งหมดนี้เป็นวิถีที่องค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้เหนือความเป็นไปแห่งจักรวาลทั้งมวล และไม่มีใครหรืออะไรหลีกเลี่ยงได้….

 

وَتِلْكَ الْأَيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيْنَ النَّاسِ وَلِيَعْلَمَ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَيَتَّخِذَ مِنكُمْ شُهَدَاءَ ۗ وَاللَّهُ لَا يُحِبُّ الظَّالِمِينَ (آل عمران : ١٤٠)

“วันเวลาเหล่านั้น เราทำให้มันหมุนเวียนไปในหมู่มนุษย์ เพื่อจะได้รู้ว่าใครมีศรัทธาอย่างจริงแท้ และจะได้ทรงรับเอาบรรดาวีรชนในหมู่พวกเจ้าเอาไว้ อัลลอฮฺนั้นไม่ทรงรักผู้อธรรม”

 

โองการแห่งอัลลอฮฺตรงนี้ นอกจากจะบอกถึงสัจธรรมหนึ่งของชีวิตแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริง โลกคือสนามทดสอบที่องค์อัลลอฮฺจะทำให้เราได้ประจักษ์ว่าใครเป็นอย่างไรในยามที่เผชิญกับบททดสอบต่างๆที่พระองค์ทรงกำหนดให้มีขึ้น ใครที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระองค์ ใครที่ท้อแท้ ถดถอย ใครเสียจุดยืน ใครหลงเพลินไปกับความสุข ใครที่รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งอัลลอฮฺ ใครทรยศ ใครอดทนต่อความทุกข์ยาก และฯลฯ

 

ในบรรดาบททดสอบที่สำคัญมากและทุกคนต้องพบเจอแน่นอนคือ ความตาย อันเป็นสภาวะแห่งการพลัดพรากจากโลกที่เคยอยู่สู่อีกโลกที่ตัวตนของมนุษย์จะปรากฎชัดเจน ผ่านการประกอบกรรมต่าง ๆ ที่ตนเคยทำไว้ ผู้ตายต้องเผชิญการสอบสวน แต่ผู้อยู่เบื้องหลังต้องเผชิญบททดสอบว่าแสดงท่าทีอย่างไรต่อการลิขิตแห่งอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า เพราะความตายเป็นลิขิตจากอัลลอฮฺ มิใช่ทางเลือกของชีวิต

 

وَلَنَبۡلُوَنَّكُم بِشَيۡءٖ مِّنَ ٱلۡخَوۡفِ وَٱلۡجُوعِ وَنَقۡصٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَنفُسِ وَٱلثَّمَرَٰتِۗ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ (البقرة:١٥٥ - ١٥٦)

“แน่นอนเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยบางสภาวะทั้งความหวาดกลัว ความหิวโหย ความร่อยหรอของทรัพย์สิน การสูญเสียชีวิต และสูญเสียผลไม้ต่างๆ ไป ดังนั้น จงแจ้งความยินดีแก่ผู้อดทนเถิด ผู้อดทนซึ่งเมื่อต้องประสบกับทุกข์ภัย พวกเขาก็จะกล่าวตามคติพจน์ว่า แท้แล้วเราทั้งหลายต่างเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และเราต่างล้วนต้องคืนกลับสู่พระองค์ทั้งสิ้น”

 

เมื่อความตายเป็นการลิขิตจากอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า หน้าที่ของมุสลิมจึงต้องน้อมยอมรับโดยดุษณี ด้วยเหตุนี้การแสดงออกซึ่งความเสียใจของมุสลิม กรณีการตายของบุคคลอันเป็นที่รักจึงถูกวางให้ดำเนินไปใน 3 กรอบใหญ่คือ

 

1. กรอบแห่งธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะมีความเศร้าโศก เมื่อเกิดความพลัดพรากสูญเสีย สิ่งที่เป็นธรรมชาติวิสัยไม่ควรถูกขัดขวาง อิสลามจึงอนุญาตให้ผู้สูญเสียแสดงออกถึงความเศร้าสลดได้ตามควร แต่ต้องไม่เลยเถิดถึงขั้นตีโพยตีพาย รำพึงรำพันหรือตีอกชกหัว อันเป็นลักษณะที่สะท้อนว่าบุคคลนั้นไม่ตั้งมั่นต่อความศรัทธาในลิขิตแห่งอัลลอฮฺ

 

เมื่อครั้งที่อิบรอฮีมบุตรของบรมศาสดามุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) เสียชีวิต ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง บรมศาสดาก็ได้หลั่งน้ำตาอาลัยรักต่อหน่อเนื้อเชื้อไขของท่าน ซึ่งได้จากไปในวัยเพียง 2 ขวบ ครั้นเกิดเหตุการณ์ สุริยุปราคาในวันนั้น จนมีเสียงโจษขานกันว่า ดวงอาทิตย์ก็ยังอาลัยรักต่ออิบรอฮีม บรมศาสดาก็ได้ชี้แจงว่า สุริยุปราคาเกิดขึ้นด้วยพระประสงค์แห่งอัลลอฮฺเจ้า มิใช่เพราะการเกิดหรือดับของใครทั้งสิ้น

 

2. กรอบแห่งสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์ มุสลิมมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมโลก แต่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับศาสนิกอื่น ๆ ด้วย บนหลักการทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ ขณะที่ต้องรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมเอาไว้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ ตามนัยยะของพระดำรัสแห่งอัลลอฮฺในซูเราะห์อัลมุมตะหินะฮฺ : 8 ที่ว่า

 

لَّا يَنۡهَىٰكُمُ ٱللَّهُ عَنِ ٱلَّذِينَ لَمۡ يُقَٰتِلُوكُمۡ فِي ٱلدِّينِ وَلَمۡ يُخۡرِجُوكُم مِّن دِيَٰرِكُمۡ أَن تَبَرُّوهُمۡ وَتُقۡسِطُوٓاْ إِلَيۡهِمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُقۡسِطِينَ

 

“องค์อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้า ในอันที่จะทำดี และให้ความเป็นธรรม แก่บรรดาผู้ซึ่งมิได้ทำสงครามกับพวกเจ้า ด้วยเหตุทางศาสนา และมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้มีความเป็นธรรม”

 

การทำดีอย่างหนึ่งก็คือร่วมยินดีเมื่อพวกเขามีความสุขและร่วมทุกข์เมื่อพวกเขาเศร้ามอง ดังนั้น หากมุสลิมจะร่วมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเพื่อนต่างศาสนาก็ถือเป็นการแสดงออกทางจริยธรรมที่พึงปฏิบัติอย่างยิ่ง แต่กระนั้น ก็ต้องอยู่ในกรอบความเป็นมุสลิมที่มีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺเป็นพื้นฐานของชีวิต ศรัทธาที่สอนว่า ความตายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกสองโลก โลกปัจจุบันที่คนเรายังมีสิทธิและโอกาสเลือกทางเดินของตนเองว่าจะยอมรับต่อบทบัญญัติขององค์อัลลอฮฺหรือจะยอมรับต่อบทบัญญัติของผู้อื่น กับโลกหลังความตาย ซึ่งมนุษย์เราไม่มีสิทธิทำอะไรได้อีกนอกจากน้อมรับคำตัดสินจากอัลลอฮฺเท่านั้น

 

ภายใต้หลักคิดนี้ มุสลิมจึงสามารถแสดงความอาลัยรักบุคคลในศาสนาอื่นเพียงเฉพาะในมิติของเพื่อนที่อาศัยอยู่ร่วมโลกเดียวกันร่วมสังคมเดียวกันเท่านั้น ไม่อาจก้าวล่วงไปกระทำการอันหวังผลที่จะเกิดในโลกหลังความตาย ซึ่งเป็นพระราชอำนาจแห่งอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น มุสลิมสามารถยืนให้เกียรติศพของเพื่อนต่างศาสนาได้ เช่นเดียวกับที่ บรมศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวซัลลัม) เคยยืนขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่ศพของชาวยิว ร่วมปลอบโยนให้กำลังใจแก่ญาติมิตรของผู้วายชนม์ หรือร่วมสงเคราะห์ช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถยืนหยัดต่อไปได้ ตามความเหมาะสม แต่ไม่สามารถร่วมในพิธีกรรมของศาสนาหรือกิจกรรมอันเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอื่นใดนอกเหนือจากกิจกรรมตามหลักศาสนาอิสลามได้ เช่น การสวด การเผา การส่งวิญญาณ ฯลฯ เนื่องจากพิธีกรรมทางศาสนาเหล่านี้ถูกทำขึ้น โดยมุ่งหวังให้ผู้จากไปได้ประสบกับกความสุขสถาพรในโลกหลังความตายซึ่งมุสลิมเชื่อว่า นั่นเป็นอาณาเขตแห่งพระราชอำนาจของอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว พระองค์เท่านั้นที่จะตัดสินให้ใครได้รับอะไร โดยไม่มีอำนาจอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

 

โดยนัยนี้ ขณะอยู่บนโลก เราจึงไม่อาจตัดสินได้ว่าใครจะสถิตอยู่ ณ สรวงสรรค์ หรือทุกข์ทรมานอยู่ในนรกอเวจี ไม่อาจทำได้แม้กระทั่งการขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้เมตตาสงสารอภัยโทษแก่บุคคลหนึ่งซึ่งไม่ได้ศรัทธาต่อบทบัญญัติของพระองค์ แต่ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามความเชื่อถือศรัทธาและแนวทางที่ผู้นั้นได้เลือกไว้เอง ทั้งนี้ ตามพระดำรัสแห่งอัลลอฮฺในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ : 113 :

 

مَا كَانَ لِلنَّبِيِّ وَالَّذِينَ آمَنُواْ أَن يَسْتَغْفِرُواْ لِلْمُشْرِكِينَ وَلَوْ كَانُواْ أُوْلِي قُرْبَى (التوبة: ١١٣)

 

“ไม่บังควรเลยที่นบีและบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จะวิงวอนขอต่อองค์อัลลอฮฺให้ทรงอภัยโทษต่อบรรดาผู้ตั้งภาคี ถึงแม้พวกเขาจะเป็นญาติใกล้ชิดก็ตาม”

 

3. กรอบการยอมรับต่อชะตาลิขิตจากอัลลอฮฺ ขณะดำรงชีวิตคนเรามีสิทธิเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ก็มีหลายอย่างที่คนเราไม่มีสิทธิเลือกเลย เช่น เลือกที่จะเกิดเป็นลูกของใคร เพศใดหรือชนชาติใด จะตายเมื่อไหร่ เป็นต้น อำนาจในการจัดการสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในมือมนุษย์แต่เป็นพระราชอำนาจแห่งอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ผู้มีศรัทธาจึงต้องน้อมรับพระลิขิตนั้น ความตายก็เป็นหนึ่งในพระลิขิตที่ทุกชีวิตต้องพบเจอ ดังพระดำรัส

 

كُلُّ نَفۡسٖ ذَآئِقَةُ ٱلۡمَوۡتِۗ وَنَبۡلُوكُم بِٱلشَّرِّ وَٱلۡخَيۡرِ فِتۡنَةٗۖ وَإِلَيۡنَا تُرۡجَعُونَ ( الأنبياء: ٣٥)

 

“ทุกชีวิตล้วนต้องลิ้มรสแห่งความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าทั้งด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าทุกคนต้องกลับสู่เรา”

โองการแห่งอัลลอฮฺโองการนี้ บ่งบอกว่าสำหรับผู้ตายชะตากรรมของเขาอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ ขณะเดียวกันความตายเป็นบททดสอบแก่ผู้ยังมีชีวิตว่าจะอดทดต่อพระลิขิตแห่งอัลลอฮฺมากน้อยเพียงใด

สำหรับมุสลิมเมื่อเผชิญกับบททดสอบนี้ สิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความอดทน

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ إِنَّ اللّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ (البقرة:١٥٣)

 

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงขอความอนุเคราะห์ (จากอัลลอฮฺ) ด้วยความอดทนและการละหมาดเถิด แท้จริงองค์อัลลอฮฺนั้น ทรงอยู่พร้อมผู้อดทนเสมอ”

 

ความอดทน หมายถึง เมื่อมีความทุกข์ก็พยายามข่มทุกข์ โดยตระหนักว่า นั่นคือสัจธรรมที่ทุกชีวิตต้องพบเจอ เป็นสภาวะที่องค์อัลลอฮฺทรงกำหนดเหนือทุกชีวิต กระนั้นความทุกข์ก็เป็นสภาวะชั่วคราวเช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งบนโลกที่มีการดำรงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ควรยึดติดกับสิ่งชั่วคราวจนลืมสัจธรรมอันเป็นความถาวรยั่งยืน คือการที่ทุกคนต้องกลับคืนสู่องค์อัลลอฮ์ และต้องถูกสอบสวนทุกการกระทำที่ผ่านมา

 

เหตุดังนี้ แม้จะอนุญาตให้แสดงออกซึ่งความเศร้าโศกและรำลึกถึงผู้จากไปได้ แต่อิสลามมิได้บัญญัติให้มุสลิมต้องมีสัญลักษณ์ใด ๆ เพื่อแสดงออกถึงความทุกข์ระทมนั้น ตรงกันข้าม การบัญญัติให้อดทน ทำให้เข้าใจได้ว่าเราต้องข่มความเศร้าโศกไว้ภายในโดยไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใด ๆ ยกเว้นแต่ลักษณาการที่เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การหลั่งน้ำตา เป็นต้น

 

ดังนั้น มุสลิมจึงไม่มีธรรมเนียมปฎิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายที่แสดงถึงการไว้ทุกข์แก่ผู้ตาย และถือว่าการทำเช่นนั้นขัดต่อหลักแห่งการยอมรับต่อพระลิขิตแห่งอัลลอฮฺ เนื่องจากเป็นเสมือนการป่าวประกาศว่าไม่ยินดีต่อสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด และขัดต่อหลักแห่งความอดทนที่จะต้องข่มความทุกข์เศร้าไว้ภายในใจให้มากที่สุด โดยไม่ประกาศป่าวร้อง

 

ภายใต้กรอบทั้งสามนี้มุสลิมจึงอยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างความรู้สึกของตนเองกับพระลิขิตแห่งอัลลอฮฺ ระหว่างความภักดีต่ออัลลอฮฺและการรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเพื่อนมนุษย์ ระหว่างการปฏิบัติในโลกนี้กับการคาดหวังภาคผลในโลกหน้า และการปฏิบัติใด ๆ ที่หลุดจากกรอบทั้งสาม ย่อมถือว่าหลุดกรอบแห่งอิสลามนั่นเอง

 

ดาวน์โหลด PDF 

 

File attachment