Skip to main content

 

เรื่องเล่า … เท่าที่สังเกต

ตอน : สังเกตการณ์…งานกินหอย เกาะแลหนัง

 

 

29 สิงหาคม 2559 ได้มีโอกาสมาร่วมงานเทศกาลกินหอย ครั้งที่ 1  ณ ชุมชนบ้านเกาะแลหนัง อ.เทพา จ.สงขลา ตามคำเชื้อเชิญจากผู้นำที่นี่  ผู้คนคึกคักมากชาวบ้านในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงต่างพากันมาร่วมงาน อีกทั้งผู้คนที่สัญจรไปที่มาจากการพบเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างก็มาร่วมงานในครั้งนี้กันอย่างล้นหลาม ทำเอาพื้นที่หน้าโฮมสเตย์ของแบมะนาวี (หนึ่งในบรรดาผู้นำที่นี่) สถานที่จัดงาน ดูแคบลงเลยทีเดียว

 อันที่จริงข้าพเจ้าก็คุ้นเคยกับชุมชนนี้มาบ้างพอสมควร จากการมาเยี่ยมเยือนในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา  มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับผู้คนที่นี่  ความเป็นเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุดของคนในหมู่บ้านนี้ คงจะเป็นเรื่องของความสมัครสมานสามัคคีกัน โดยสังเกตจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมา  ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นงานมหกรรมเลยก็ว่าได้ เท่าที่ข้าพเจ้าได้สอบถามและพูดคุยกับคนในชุมชน ต่างก็เล่าให้ฟังว่า มีการวางแผนและตระเตรียมการเพื่อวางระบบการจัดงานมาเป็นแรมเดือน ทั้งประชุมหารือแบ่งฝ่ายเพื่อรับผิดชอบงาน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ ทั้งผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านก็ต่างให้ความร่วมมืออย่างดี  อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐและเอกชนด้วยแม้จะไม่มากมายนักก็ตาม

        เกาะแลหนัง เท่าที่ข้าพเจ้าและใครหลายคนนั้นรู้จักก็คือ เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ขนาดย่อมและเป็นที่ตั้งของสถาบันศึกษาปอเนาะญาลันนันบารู สถานที่สำหรับฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เท่านั้น   แต่การจัดกิจกรรมเทศกาลกินหอย ที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับเป็นการเปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ โดยเป็นการนำเสนอความโดดเด่นของผลผลิตจากธรรมชาติ นั่นคือ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยตาควาย และหอยอีกสารพัดชนิด รวมทั้งยังเป็นการเปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกิจกรรมในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายหอยชนิดต่าง ๆ พร้อมบริการย่างและแถมน้ำจิ้มรสเด็ดให้แล้ว ยังมีบริการล่องเรือชมบรรยากาศทัศนียภาพรอบเกาะที่เป็นที่ตั้งของสถาบันศึกษาปอเนาะญาลันนันบารู  อีกด้วย  เท่าที่สังเกตแล้ว ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

 

จุดประกาย…สู่การจัดงาน

        เท่าที่สังเกต จากการพูดคุยกับเหล่าบรรดาผู้นำชุมชน บอกเล่ากับข้าพเจ้าว่า จุดประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการระดมเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าในชุมชน ซึ่งผู้นำและชาวบ้านได้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนนี้ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง  โดยแรงบันดาลใจหลักที่จุดประกายความคิดนี้นั้น มาจากความคิดที่จะพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนพึ่งตนเองโดยไม่ต้องการที่จะเปิดโอกาสให้กลุ่มคน องค์กรบางหน่วยมาใช้เป็นฐานในการแสวงหาผลประโยชน์จากชุมชน  และที่สำคัญการปลูกฝังจริยธรรมให้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงวิถีปฏิบัติการดำเนินชีวิตในครรลองของศาสนาและวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 

        เท่าที่สังเกต ข้าพเจ้ามองเห็นสิ่งหนึ่ง ที่ผู้นำได้มอบให้กับชาวบ้านในชุมชนนี้โดยชัดเจนนั่นคือ การชี้ทางและให้คำแนะนำ แต่ทว่าไม่ได้บังคับและให้อิสระในการตัดสินใจและเคารพทุกความคิดเห็น ทั้งยังคอยให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านไม่ว่าด้วยเรื่องใด ๆ  และที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องของการพัฒนา ก็คือ การสร้างความสามัคคีให้คนในชุมชนด้วยการเฝ้าระวังเรื่องของยาเสพติด ซึ่งก่อเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จากความร่วมมือของชาวบ้านเป็นอย่างดี

        นับได้ว่าชุมชนที่นี่ ยังคงสภาพของความเป็นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านประมงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่า ถูกความศิวิไลซ์มารบกวนน้อยมาก

        พอได้ฟังแล้ว… แอบบอกกับตัวเองในใจว่า “แบบนี้สิน่ะ ที่เรียกว่า ผู้นำ คือ ผู้ที่พร้อมจะก้าวนำ แต่เป็นการก้าวพร้อม ๆ กับผู้ตามเสมอ”

 

 

อิ่มเอม

งานนี้นอกจากจะได้ทานหอยสด ๆ กันแล้ว ข้าพเจ้ายังเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของชาวบ้านที่มาช่วยงาน ตลอดจนนักเรียนจากสถาบันศึกษาปอเนาะญาลันนันบารู มาร่วมช่วยงานด้วย แม้จะบางตาเพียงไม่กี่คน เนื่องจากการคัดกรองมาเพื่อทำภารกิจโดยเฉพาะ แต่ก็ถือว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ ความอิ่มเอมนอกจากการกินและก็กินแล้ว ยังมีความอิ่มเอมที่เห็นจำนวนผู้คนที่มาร่วมงานกันอย่างล้นหลามเหนือความคาดหมาย เสมือนกำลังบอกว่า ครั้งหน้าต้องมีอีกแน่นอน

กิจกรรมบนเวที มีบ้าง เป็นบางเวลา

แต่…เท่าที่สังเกต ผู้ร่วมงาน ทุกคนล้วนใจจดใจจ่อกับการย่างหอยกันมากกว่า จนลืมไปว่า “วันนี้แดดร้อนดีน๊ะ “

แต่ถึงอย่างไร ข้าพเจ้าก็ยังเห็น “รอยยิ้ม” ด้วยความอิ่มเอมจากชาวบ้านทุกคนแม้จะอยู่บนคราบเหงื่อก็ตาม

 

#เรื่องเล่าเท่าที่สังเกต

#สายลมแห่งตักวา