Skip to main content

 

ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์ชนในศาสนาอิสลาม

 

โดย ศาสตราจารย์ ดร.มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก

 

 

          อิสลามเป็นศาสนาที่บุกเบิกในเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีจุดยืนจะให้ความคุ้มครองสิทธินุษยชน ทุกคนที่ได้ศึกษากฏหมายอิสลาม (ชารีอะฮ์) กฏหมายจะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อันได้แก่ สิทธิในชีวิต ความเชื่อ ความคิดเห็น ทรัพย์สิน และครอบครัว ดังนั้นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนใดๆ เป็นเรื่องต้องห้ามในอิสลาม ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านอุมัร อิบนิคอตตอบ (คอลีฟะฮ์ท่านที่สอง)ว่า "ทำไมพวกท่านจึงจับมนุษย์ให้เป็นทาส แม้ว่าเขาได้เกิดมาอย่างอิสระเสรี ?"

 

          สิทธิมนุษยชนในอิสลามตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการ กล่าวคือ

 

1.   หลักการว่าด้วยความเสมอภาคของมนุษย์

2.   หลักการแห่งเสรีภาพสำหรับมนุษย์

 

         ในส่วนของหลักการที่ว่าด้วยความเสมอภาคของมนุษย์ในอิสลามนั้น ได้อาศัยพื้นฐานสองอย่างคือ การที่มนุษย์มีแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกัน และมนุษย์มีศักดิ์ศรีเท่ากัน

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดนั้น อิสลามสอนว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์จากวิญญาณเดียวกัน โดยคนทุกคนเป็นพี่น้องกันในครอบครัวใหญ่ ที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำด้านชนชั้น ความแตกต่างระหว่างบุคคลไม่มีผลกระทบต่อลักษณะของการเป็นมนุษย์ด้วยกัน เพราะความแตกต่างนั้นมีไว้เพื่อที่จะรู้จักซึ่งกันและกัน มีศีลธรรมต่อกัน และทำงานร่วมกัน  ดังปรากฏหลักฐานในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลหุญุร๊อต โองการที่ 13 ความว่า

"โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์ นั้นคือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า"

 

สำหรับศักดิ์ศรีหรือความเสมอภาคนั้น ได้แก่ความมีศักดิ์ศรีที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มนุษย์ทุกคน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงสถานะ หรือความมั่งมี ความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างมนุษย์ย่อมไม่กระทบกับแหล่งที่มา หรือสถานะซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเหมือนกัน ความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างมนุษย์ในโลกนี้ น่าจะเป็นสิ่งซึ่งทำให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และให้ความร่วมมือกันในวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

          พื้นฐานที่เกี่ยวกับความเสมอภาคและเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกียรติภูมิ และความมีศักดิ์ศรีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ชาติ ดังปรากฏในซูเราะฮ์ อัลอิสรออ์ โองการที่ 70 ความว่า

 

"และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติลูกหลานของอาดัม"

 

         พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นตัวแทนของพระองค์ในโลกนี้ และทรงได้บัญชาให้เทวฑูต(มลาอิกะฮ์)แสดงความคารวะต่อมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นผู้ที่มีสถานะที่เหนือกว่าทุกสิ่ง พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีให้แก่มนุษย์โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อจะได้ปกป้องมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย ผู้ปกครองหรือผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองก็ตาม มนุษย์ทุกคนทีสิทธิเท่าเทียมกันตามทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า และตามนัยของกฎหมาย

 

          หลักการที่สอง ได้แก่ สิทธิมนุษย์ชน คือการให้เสรีภาพแก่มนุษย์เพื่อจะได้ดำเนินการตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยพระองค์ได้สร้างมนุษย์เพื่อให้เป็นผู้พัฒนาโลก และสร้างอารยธรรม มีความรับผิดชอบที่จะปกครองโลก อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบไม่สามารถที่จะมีได้หากปราศจากเสรีภาพ ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ให้มนุษย์เลือกเองว่าจะศรัทธา หรือปฏิเสธ ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลกะฟิห์ โองการที่ 29 ความว่า

 

"สัจธรรมนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นผู้ใดประสงค์ก็จงศรัทธา และผู้ใดประสงค์ก็จงปฏิเสธ"

 

การพิพากษาคดีตามศาสนาอิสลาม          

          การพิพากษาคดีตามศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม และการปรึกษาหารือ(ชูรอ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์อัลกุรอานได้บัญญัติในซูเราะฮ์ อัลนะห์ โองการที่ 90 ความว่า

 

"แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดี"

 

และในซูเราะฮ์ อัลนิซาอ์ โองการที่ 58 ความว่า

 

"และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม"

 

          โองการในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายตอน ส่วนการปรึกษาหารือ (ชูรอ) นี้เป็นหลักการที่จะต้องปฏิบัติตาม ในช่วงที่ศาสดามุฮัมมัด  ยังไม่ได้รับการดลใจ(วฮี) จากพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้ใช้วิธีการปรึกษาหารือกับสาวกโดยใช้เสียงข้างมาก ซึ่งตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การสู้รบที่สมรภูมิอุฮุด กล่าวคือ ศาสดาได้มีทัศนะว่าชาวมุสลิมไม่ควรที่จะออกไปสู้รบ แต่ทว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำสงคราม และในที่สุดมุสลิมก็ได้รับความปราชัย แม้กระนั้นก็ตามคัมภีร์อัลกุรอานก็ยังยึดถือหลักการเกี่ยวกับการหารือ(ชูรอ) และปรากฏในซูเราะฮ์ อาลาอิมรอน โองการที่ 159 ความว่า

 

"ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงอภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย"

 

         แนวความคิดของนักนิติศาสตร์ส่วนน้อยมีความเห็นว่าการปรึกษาหารือไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น เป็นแนวคิดที่ยอมรับไม่ได้เพราะขัดต่อบทบัญญัติในอัลกุรอานและแนวปฏิบัติของท่านศาสดามุฮัมมัด

 

         สำหรับการปรึกษาหารือในหลักของชูรอนั้น จะทำโดยวิธีใด เป็นเรื่องที่มุสลิมต้องตกลงกันเอง หากประสงค์ที่จะให้การปรึกษาหารือเป็นอย่างไร ที่นิยมกันในปัจจุบันศาสนาอิสลามก็ไม่ขัดข้อง และการพัฒนาระหว่างประเทศที่เห็นสมควร ศาสนาอิสลามไม่เพียงส่งเสริม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงการใช้หลักของการปรึกษาหารือตามแบบชูรอ ซึ่งเป็นเรื่องประชาธิปไตยในความหมายของปัจจุบันนั่นเอง

 

         ศาสนาอิลามยอมรับให้มีการแสดงความคิดเห็นหลายฝ่าย และอนุญาตให้มีการวินิจฉัย แม้แต่ปัญหาขัดแย้งในศาสนา แต่ทั้งนี้ผู้ที่ทำการวินิจฉัย จะต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนตามหลักการวินิจฉัย ซึ่งหากคำวินิจฉัยของเขาไม่ถูกต้อง เขาจะได้รับผลตอบแทนของความพยายามดังกล่าว หากคำวินิจฉัยถูกต้องเขาจะได้รับผลตอบแทนเป็นทวีคูณ

 

        แนวทาง(มัซฮับ) ของนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลาม ยังมีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่ทว่าไม่ได้ห้ามมิให้มีความเห็นที่แตกต่าง ในทางตรงข้ามอิสลามอนุญาตให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างไม่มีขีดจำกัด เพียงแต่ขอให้ความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นไปเพื่อความอยู่ดีกินดี ความมั่นคง และสันติสุขของสังคมอย่างจริงจัง

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ islammore.com

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาสนาอิสลามส่งเสริมความคิดและการกระทำที่รุนแรงหรือไม่ ? โดย ศาสตราจารย์ ดร.มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก

อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น

ประชาธิปไตยกับแนวคิดการเมืองการปกครองแบบอิสลาม

"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 1) โดย ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์

"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 2 ตอนจบ) โดย ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์