Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

ความรุนแรงในภาคใต้ปีนี้ทำได้เด็กตาย-บาดเจ็บกว่า 20 คนแล้ว

 

กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิและสวัสดิภาพของผู้หญิงและเด็กในภาคใต้ เผยเหตุระเบิดล่าสุดใน จ.ปัตตานี ส่งผลให้เด็กหญิงวัย 8 และ 9 ปี 2 รายได้รับบาดเจ็บ และสถิติตั้งแต่ต้นปี มีเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย ด้านองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงประณามผู้ก่อเหตุยกระดับความรุนแรงสู่การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะมุ่งโจมตีพลเรือน และเรียกร้องรัฐบาลไทยยึดนิติรัฐในการจัดการปัญหาและหยุดปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นเชื้อไฟให้กับการก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้

 

กลุ่ม “ด้วยใจ” ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านสิทธิและสวัสดิภาพ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้ชี้ว่า จากเหตุการณ์ระเบิด 2 ครั้งเมื่อเวลา 22.40 น. ของวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา บริเวณลานจอดรถเซาท์เทิร์นผับและหน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น ปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน และมีเด็กหญิงวัย 8 และ 9 ปี ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ทำให้สถิติเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้ มีจำนวน 17 คน และมีเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน

 

โดยกลุ่มด้วยใจระบุว่าผลกระทบไม่ได้มีแต่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่ทรัพย์สินของประชาชนก็ส่งผลต่อผู้ปกครองของเด็กทำให้ขาดรายได้ที่จะดูแลเด็กให้ได้รับการพัฒนา ซึ่งถือว่ากระทบต่อสิทธิในการได้รับการพัฒนาและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุมครองของเด็กๆ ด้วย กลุ่มด้วยใจเรียกร้องให้กลุ่มผู้ก่อเหตุ ให้หยุดกระทำความรุนแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อเด็ก และเลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางการเมือง รวมถึงคำนึงถึงความสง่างามของการต่อสู้ และของให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเป็นธรรมเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนโดยทำให้เชื่อมั่นด้วยว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

 

ด้านนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประณามเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการมุ่งโจมตีพลเรือน และเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ยังคงห่วงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายว่าด้วยสงคราม ซึ่งการละเมิดนั้นกระทำโดยทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายกองกำลังในภาคใต้ โดยย้ำว่าการฆ่า การบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมานไม่ใช่สิ่งที่ชอบธรรมในการตอบโต้ต่อการโจมตีพลเรือนชาวพุทธและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการไม่รับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และขณะนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

นายอดัมส์ยังเรียกเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตอบสนองต่อการโจมตีที่โหดเหี้ยมด้วยการยึดถือหลักนิติรัฐ และยุติการละเมิดที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งหากรัฐบาลยังคงปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐจากการรับผิดในการก่ออาชญากรรม ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุที่สุดโต่ง

 

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยได้ออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 29 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยระบุว่าความรุนแรงดังกล่าวเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิงวอนให้ประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่อง ระมัดระวังการก่อเหตุไม่สงบและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขความรุนแรงและอยู่ร่วมกันในฐานะประชาชนชาวไทยอย่างสันติสุข