Skip to main content

 

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ยื่นข้องเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิ์ชุดใหม่ ในงานพบปะประชาชนภาคใต้ กว่า 300 คน ทั้ง ภาครัฐ เอกชน นักพัฒนาเอกชน และประชาสังคม. ทั้ง 15 จังหวัดปัตตานี  ระหว่าง วันที่ 23-25 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมบุรีศรีภู จากการประชุม พบว่า ประช่ชนส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบ จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ พ.ร.บ.ยาง เรื่องการขึ้นทะเบียนชาวสวนยาง การประกาศคำสั่งของ คสช. เรื่อง การคืนผืนป่าที่ขาดการพิจารณาในสาระสำคัญ  การใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นต้น

 

 

แถลงการณ์

เรื่อง หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้

ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา อาทิ เช่น

1. นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา

2. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างมีนัยยะในช่วงปีที่ผ่านมา

3. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่

4. นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ อันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่

5. การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆเช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ

6. สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน

ทั้งที่โดยหลักการแล้วการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฏหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่านโยบาย และหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบหรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในภาคใต้ อันเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น และให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

       

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้

วันที่ 25 สิงหาคม 2559