Skip to main content

 

กฎอัยการศึก และบันทึกการซักถาม จุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายของหลัก “นิติรัฐ” ในสามจังหวัดชายแดนใต้

 

 

กฎอัยการศึก ชื่อนี้ คงเป็นที่คุ้นหูของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มานานพอสมควร ส่วนใครจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการเช่น พื้นฐานความรู้ ความสนใจในเรื่องดังกล่าว หรือแม้กระทั่งการได้เคยสัมผัสมีประสบการณ์โดยตรง (แต่เรื่องที่น่าตกใจอย่างหนึ่งก็คือ แม้กระทั่ง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎอัยการศึกโดยตรง กล่าวโดยเฉพาะคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร บางคนกลับไม่สามารถทำความเข้าใจถึงบริบท เจตนารมณ์ และแก่นแท้ของ การมีบทบัญญัติดังกล่าวนี้ บางคนถึงขนาดไม่เคยรู้เลยว่า มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างไร ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น อาจจะมีผู้ที่บังคับ ตีความกฎหมายอีกหลายหน่วย หลายคน ตกอยู่ในอาการเดียวกันนี้ด้วย) จนกระทั่งวันหนึ่ง จุดอิ่มตัวที่จะต้องตอบคำถาม มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เดินทางมาถึง และนั่น คือที่มาและแรงบันดาลของการเขียนบทความ ….ฉบับนี้..

ผู้เขียนพยายามค้นหาวิธีที่จะช่วยให้การทำความเข้าใจในข้อความหลังจากนี้เป็นเรื่องง่ายที่สุด และก็มาเจอวิธีนั้น วิธีที่เริ่มด้วยการตั้งข้อสมมติฐานที่ว่า ” กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ ” เพราะ..!!! นั่นคือใจความสำคัญที่จะส่งต่อไปยังความหมายของคำว่า นิติรัฐ (ที่มาของคำถาม)

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ก็คงเป็นว่า การหั่นปลา ควรใช้มีด จึงจะเหมาะกับสถานการณ์ แต่ถ้าดันไปใช้ขวานหั่นปลา มันก็อาจหั่นให้ปลาแยกออกเป็นชิ้นได้ตามต้องการ แต่ นั่นก็เป็นการใช้เครื่องมือไม่ตรงตามสถานการณ์หรือตามสภาพปัญหาที่ต้องการแก้ไข ทำนองเดียวกับการใช้เคียวเกี่ยวข้าว ไปตัดต้นไม้ หรือใช้สันจอบตอกตะปู (ซึ่งอาจจะใช้ได้ แต่ก็ไม่ตรงตามที่ควรจะใช้)

นิติรัฐ ก็เช่นเดียวกับ การมีกฎหมายฉบับใดเพื่อบังคับใช้ภายในรัฐนั้น ต้องเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ตรงต่อสถานการณ์นั้นด้วย หรือเรียกง่ายๆว่า ใช้กฎหมายแก้ไขถูกปัญหากลับมาที่ข้อสมมติฐานตั้งต้นที่ว่า ” กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ ”

ผู้เขียนใช้วิธีคิดของสายเลือดนักกฎหมาย วิเคราะห์ สังเคราะห์ จนกระทั่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในสถานการณ์สงคราม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) คำปรารถในกฎหมายฉบับนี้ เริ่มต้นด้วยการใช้คำว่า ” มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดํารัส เหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่ากฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2450(ร.ศ. 126)นั้นอํานาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทําการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิชัยสงคราม ..” (นักกฎหมายด้วยกันจะรับรู้ได้โดยง่ายว่า คำปรารภในตอนต้นของกฎหมายนั้น เป็นจุดสะท้อนแนวคิดของการบัญญัติกฎหมายฉบับนั้นขึ้น)

2) มาตราเกือบทั้งหมดของกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปเพื่อให้การทำสงครามนั้น..ได้เปรียบ..เช่น

ก) มาตรา 10 บัญญัติว่า การเกณฑ์นั้นให้มีอํานาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้ (1) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกําลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือ ช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ (2) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกําลังในเวลานั้นทุกอย่าง  ความหมายแบบง่ายๆ ของมาตรานี้ก็คือ เมื่อการสงครามยืดเยื้อ เสบียงลดน้อยลง กำลังพลลดน้อยลงเนื่องจากบาดเจ็บล้มตาย ก็สามารถไปเกณฑ์(ไปไถนั่นเอง) อาหารของชาวบ้านมาเป็นเสบียงใช้ในการสู้รบ เกณฑ์คนมาเป็นกำลังพลฝ่ายตนได้ ทั้งนี้เพื่อ ให้การรบของฝ่ายตนนั้น ได้เปรียบ

ข) มาตรา 14บัญัญัติว่า การทําลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอํานาจกระทําได้ดังนี้ (1) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอํานาจที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่า จะเป็นกําลังแก่ ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบ ก็ทําลายได้ทั้งสิ้น (2) มีอํานาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้านเมืองสําหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือ เตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง  ข้อนี้ เข้าใจง่ายมาก ว่าบัญญัติไว้เพื่อให้การสงครามของฝ่ายตนนั้น ได้เปรียบ หรือถ้าเสียเปรียบ ก็ให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่เมื่ออ่านรวมกันทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายของการทำสงคราม (ผู้เขียนขอร้องท่านว่า ได้โปรดอ่านให้ครบทุกมาตราเถิด เพราะกฎหมายฉบับนี้ มีไม่ถึงสามสิบมาตราเท่านั้น เพื่อท่านจะได้พิสูจน์ด้วยตา ด้วยใจ และด้วยสมองของท่านเอง)

ทีนี้ มาถึงมาตราสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ นั่นคือ มาตรา 15 ทวิ ซึ่งเป็นบทมาตราเดียวที่ใช้(อย่างจริงจัง)อยู่ในพื้นที่นี้(จนกลายเป็นข้อพิรุธใหญ่ว่า ถ้ากฎอัยการศึกใช้แก้ปัญหาตรงตามสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้จริง เหตุใดจึงไม่บังคับใช้ทุกมาตรา เหตุใดจึงเลือกหยิบมาใช้เฉพาะมาตรานี้)

โดยมาตรา 15 ทวิ นี้ บัญญัติว่า ” ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็น ราชศัตรูหรือได้ฝ่า ฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคําสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจกักตัวบุคคล นั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจําเป็นของทางราชการ ทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า  7 วัน”

ผู้เขียนพยายามเหลือเกินที่จะหาเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรานี้ เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับของข้อสมมติฐานทั้งหมด จนกระทั่งได้มาดูภาพยนต์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ในฉากที่ เมื่อเกิดสงครามสู้รบระหว่าง อโยธยากับพม่ารามัน ต่างฝ่ายต่างส่งเสือป่าแมวเซา เพื่อเข้าสืบข่าวความลับของอีกฝ่ายว่า ตั้งป้อมปราการไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้รู้เขา (และรู้เรา) รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่ง หากสงสัยว่า ผู้ใดจะแฝงตัวมาเพื่อสืบข่าวไปจากฝ่ายตน ก็สามารถคุมตัวผู้นั้นไปซักถาม(อย่าว่าแต่ซักถามเลย ทรมาน ก็ยังได้) เพื่อให้ยอมรับว่า เป็นจารชนของอีกฝ่ายหนึ่งจริง

ดูฉากนี้จบ จึงได้ความคิดว่า มาตรา 15 ทวิ มีที่มาเช่นนี้เอง (ขออนุญาตนอกเรื่องนะครับ แต่เป็นความจริงที่น่าเจ็บปวด ท่านเชื่อหรือไม่ครับ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทหารตั้งด่านตรวจ พบใบกระท่อม เกือบร้อยกิโล ก็อ้างเอามาตรา 15 ทวิ นี้ เอาตัวเขาไป ซักถาม เป็นเวลา7 วัน ทั้งที่ สามารถส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ แต่.. ในเมื่อการอ้างมาตรานี้ แล้วเอาตัวเขาไป ไม่มีมาตราการให้ตรวจสอบ ไม่ว่าโดยศาลหรือโดยหน่วยใดเลย เหตุการณ์นี้ จึงยังเกิดขึ้นอยู่ เนืองๆ)

เมื่อได้ข้อสรุปประการแรกว่า กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์สงคราม คำถามที่ผู้เขียนต้องหาต่อไปคือ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสถานการณ์สงคราม หรือไม่  เช่นนั้นแล้ว คงต้องหานิยามแบบคนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ก่อนว่า สงครามคืออะไร

1) สงคราม ต้องรู้ฝัก รู้ฝ่าย เพราะสงคราม เป็นเรื่องของลูกผู้ชาย (ที่คุยกันแบบสันติไม่ได้แล้ว) กล่าวคือ ต้องกำหนดให้ชัดว่า  คุณใส่ชุดสีอะไร ธงสีอะไร ผมใส่ชุดสีอะไร ธงสีอะไร ผมจะได้ยิงคุณถูกตัว คุณก็จะได้ยิงผมถูกตัว เพราะในภาวะสงคราม ความผิดฐานฆ่าคนตาย ถูกยกเว้น (ก็ในเมื่อประกาศชัดๆแบบลูกผู้ชายว่า จะยิงกัน ก็ต้องถือว่าใครยิงใครตาย ไม่ผิด นี่คือกฎของลูกผู้ชาย) แต่ เมื่อใดที่ฝ่ายหนึ่ง ยอมทิ้งอาวุธ ยกธงยอมแพ้ เมื่อนั้นเขาได้ชื่อว่า เชลย ใครไปยิงเขา (ตอนที่เขาไม่มีทางสู้แล้ว) คนนั้นจะกลับมารับผิดฐานฆ่าคนตายอีก (เห็นหรือยังว่า นี่คือกฎของลูกผู้ชาย)

2) สงคราม ต้องกำหนดพื้นที่ ว่าจะยิงกันที่ไหน เพื่อให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากพื้นที่นั้น (ที่ว่ามานี้ มีกล่าวไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทำสงครามทั้งสิ้น)

3) สงคราม มีกำหนดวันที่แน่นอน ชัดเจนเพื่อให้แต่ละฝ่ายได้มีวันหยุดในวันสำคัญๆ ของเขา (ถ้าท่านสังเกตุ ในยุคโบราณ เมื่อมีการทำสงครามจบ เขาจะหยุดรบเพื่อให้แต่ละฝ่าย มาเก็บศพของฝ่ายตนไปทำพิธีให้สมเกียรติความเป็นลูกผู้ชาย

4) สงคราม ต้องมีข้อยกเว้น ไม่ทำร้ายแพทย์ ไม่ทำร้ายพยาบาล ไม่ทำร้ายสถานที่บางแห่ง(นี่ก็คือ แสดงความเป็นลูกผู้ชาย อีกข้อหนึ่ง)

5) ยังมีอีกหลายข้อที่สามารถให้นิยามคำว่า สงคราม แบบเข้าใจง่ายๆได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอข้ามไปบ้าง เช่น การประกาศสงครามต้องมีวิธีการอย่างไร ถึงจะเป็นเรื่องถูกต้องและในระหว่างประเทศให้การยอมรับ  ที่นี้ เราก็มาถึงบรรทัดสำคัญแล้ว เพราะท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องเลือกตอบคำถามด้วยใจของท่านเองว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นภาวะสงครามหรือไม่ ถ้า

- ท่านเลือกว่า สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นสภาวะสงคราม ข้อสมมติฐานทั้งหมดนี้ของผู้เขียน ถือว่า ผิดพลาด  ล้มเหลวและผู้เขียนกราบขออภัยท่าน มา ณ ที่นี้ และการทอดสายตาอ่านของท่าน ควรจบตั้งแต่บรรทัดนี้ แต่…หาก..

- ท่านเลือกว่า สามจังหวัดขายแดนใต้ ไม่เป็นสภาวะสงคราม นั่นก็คือ การบังคับใช้กฎหมายที่มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง มาแก้ไขปัญหากับอีกสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ตรงตามนิยามของคำว่า นิติรัฐ และจะเป็นการล่มสลายของคำว่า นิติรัฐ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประการที่หนึ่ง  ทำไมต้องมีคำว่าประการที่หนึ่ง หมายความว่า ยังมีอะไรนอกจากนี้อีกหรือ

ใช่ครับ ยังมีอีกหนึ่งการล่มสลายที่ตามมาผลพวงของการใช้อำนาจตามมาตรา 15  ทวิ สิ่งที่ตามมาคือ ผลการซักถามของผู้ถูกควบคุมตัว ที่มีความหนาเกือบหนึ่งรีมกระดาษ ภายในจะบรรยายถึงคำรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัวว่า เป็นแนวร่วมเอย เคยซูเปาะห์เอย เคยปฎิบัติการอย่างนั้น อย่างนี้เอย (มากมายจนน่าสงสัยว่า ภายในเวลา แค่ 7 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีความสามารถสักปานใด ถึงได้ใช้จิตวิทยา กล่อมให้โจรก่อการร้าย ยอมคายความลับได้มากมายถึงเพียงนั้น)(โดยที่เมื่อถึงกระบวนการของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งหมด (ย้ำว่า ทั้งหมด) กลับให้การปฎิเสธ) และผลการซักถามนี่เอง จะถูกใช้เป็นพยานหลักฐานต่อศาลในเวลาต่อมา

ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้สอบถาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนายหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงในการซักถามผู้ถูกควบคุมตัว ด้วยคำถามและได้คำตอบดังต่อไปนี้

- คุณเรียนมาทางด้านจิตวิทยาหรือไม่ คำตอบ ไม่

- เคยเข้าอบรมหลักสูตรการซักถามหรือไม่ ตอบ เคย กี่วัน ตอบ 7 วัน

- กระบวนการซักถามของฝ่ายทหาร เคยมีการร้องเรียนเรื่องการทำร้าย หรือไม่ ตอบ มี

- การซักถามในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ไม่ให้สิทธิที่จะมีทนาย สิทธิที่จะมีญาติมาร่วมรับฟังการซักถามใช่หรือไม่ ตอบใช่

- ถ้าเช่นนั้นแล้ว เคยมีการร้องเรียนให้การซักถาม ได้จัดทำด้วยการบันทึกวิดีโอ เพื่อให้สังคมหายความเคลือบแคลงสงสัย หรือไม่ ตอบ มี

- แล้วมีการแก้ไขตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ตอบมี ด้วยวิธีใด ตอบ จะมีการบันทึกวิดีโอ ในขณะที่เขาให้การรับสารภาพ ถาม ถ้าไม่รับล่ะ ตอบ จะไม่บันทึก ถามต่อ ถ้าไม่รับ ต่อมา เปลี่ยนเป็นรับล่ะ ตอบ จะเริ่มบันทึก เมื่อรับคำตอบทั้งหมดนี้ สร้างความฉงนให้ผู้เขียนมากมายเหลือเกินต่อมา กับคำถามที่ว่า แล้วบันทึกการซักถามที่เขายอมรับว่า เป็นแนวร่วมเอย ก่อเหตุมากี่ครั้งเอย ที่ไหนเอย เหล่านี้ ควรจะมีน้ำหนักพิสูจน์ความผิดเขาได้หรือไม่

ผู้เขียนขอถามท่านในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าควรให้น้ำหนักกับบันทึกการซักถามนี้แล้ว

 

-เราจะมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากันไปทำไม เราจะเรียนเรื่องสิทธิการมีทนาย สิทธิการมีบุคคลที่ไว้วางใจ สิทธิต่างๆ ของผู้ต้องหากันไปทำไม

- เราจะยอมรับว่า มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย(กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ ซึ่งบัญญัติมาเพื่อใช้ในสถานการณ์สงคราม)มีความสามารถเข้าจัดการกับอาชญากรรมได้ดีกว่า หลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิของบุคคล ในระดับที่มีมาตรฐานกว่า อย่างนั้นหรือ

- เราจะยอมรับเอากฎหมายที่บังคับใช้ไม่ตรงตามสภาพปัญหาหรือสถานการณ์มาเป็นความถูกต้องเช่นนั้นหรือ

บทความนี้ ไม่ได้สุดโต่งถึงขนาด ตั้งข้อรังเกียจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือฝ่ายรัฐอื่นใดให้ต้องออกไปจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด เพียงแต่หวังว่าจะได้เห็น ความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งเริ่มต้นจากกระบวนการบัญญัติกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสภาพการณ์นั้นๆ เช่น การสร้างกฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับการก่อความไม่สงบโดยตรง (ส่วนจะให้อำนาจรัฐมากมายเพียงใด มีวิธีการเข้มข้นเพียงใด ผู้เขียนไม่อาจก้าวล่วง ทั้งยังจะยอมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยดุษฎี เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาถูกต้องตามหลักนิติรัฐแล้ว)

ผู้เขียนไม่อยากได้ยินคำว่า รัฐรังแกประชาชน อีกต่อไปแล้ว (ไม่ว่าถ้อยคำนั้น จะเกิดจากความรู้สึกที่แท้จริง หรือเกิดจากการสื่อสารที่ด้อยประสิทธิภาพ จนทำให้ประชาชนรู้สึกเช่นนั้นก็ตาม)

แต่ในความเป็นจริงของวันวาน ของวันนี้ และของวันพรุ่งนี้ ถ้อยคำและเหตุการณ์เหล่านี้ ยังคงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ ดินแดนแห่งผลประโยชน์ที่ยากแก่การตรวจสอบ ดินแดนแห่งงบประมาณและอำนาจที่ยากจะปล่อยให้หลุดมือ

ดินแดนที่หลักความเป็น นิติรัฐ ได้ล่มสลายไป นับแต่นั้น

 

ปล. เหตุไม่เปลี่ยน ผลย่อมไม่เปลี่ยน

” ถ้าท่าน ไม่กล้าวิจารณ์ตัวเอง กล้าหาจุดอ่อน หาข้อผิดพลาดของตนเอง และกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่ในจุดที่ควรจะเป็น …ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจรัฐที่แท้จริง จะเป็นคนวิจารณ์และตั้งคำถามเช่นนี้ ไปอีกนานแสนนาน”…

 

ขอบคุณภาพ  สำนักสื่อ WARTANI

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://th.macmuslim.com/?p=1218#more-1218