Skip to main content

 

จะบอกให้ ทำไมคนจังหวัดชายแดนใต้หรือคนปาตานีถึงโหวตโน

 

โดย กามาล อับดุลวาฮับ

ผู้ประสานงานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี

 

ขอบคุณภาพจาก prachachat.net

 

น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้หรือที่ถูกเรียกรวมๆกันในอีกชื่อหนึ่งว่าคนปาตานีมีความเห็นเหมือนๆกันผ่านระบบการลงคะแนน เป็นฉันทามติก็ว่าได้(รวมถึงเกือบหนึ่งแสนคะแนนจากสงขลา) นักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็ทำอย่างนี้ไม่ได้ ขนาดมีการก่อเหตุลอบวางระเบิดเกิดขึ้นทั่วสามจังหวัด โดนเฉพาะในคืนก่อนวันลงประชามติ ผู้คนก็ยังจากสามจังหวัดก็ออกมาใช้สิทธิรวมกันร้อยละ 66 และโหวตโนมากกว่าเยสสองเท่า

หลายคนสงสัยว่าเพราะอะไร ?

โดยภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ ลดทอนสิทธิประชาชนและรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง พวกเขามองว่าไม่มีส่วนใดๆในการร่างหรือแม้แต่จะเสนอความเห็นในช่วงที่ร่าง อยู่ๆก็มาเสนอให้พวกเขารับหรือไม่รับ คนปาตานีมีทัศนคติเชิงลบต่อการถูกยัดเยียดจากส่วนกลางในลักษณะเช่นนี้มาแต่ใหนแต่ไรแล้ว ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในรัฐธรรมนูญกลับถูกปิดกั้น ไม่ยอมให้มีการดีเบตหรือถกเถียงในประเด็นต่างๆที่พวกเขาสงสัยกัน ร่างรัฐธรรมนูญถึงมือผู้คนใน จชต.จริงๆน้อยมาก  (กกต.เปิดเวทีให้ถกแค่ครึ่งวันในสัปดาห์สุดท้ายก่อนลงมติ) 

มาดูมาตราที่เป็นประเด็นหลักๆ 3 มาตรา ได้แก่ประเด็นศาสนา (มาตรา 31 และ 67) หากเทียบกับรัฐธรรมนูญ 40/50 การนับถือศาสนาและปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนเองนับถือ ที่เคยเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่รัฐจะก้าวก่าย แทรกแซงหรือห้ามมิได้ กลับถูกจำกัดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากว่าความเชื่อและการปฏิบัติตามความเชื่อนั้น 1. เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ 2. ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ 3. ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

อะไรคือนิยามของข้อจำกัดทั้ง 3 ประเด็น ไม่มีคำตอบใดๆ จาก กรธ. ซ้ำ กรธ.บางคน ยังกล่าวหาต่อข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นความพยายามบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่แปลกที่มีการตั้งข้อสงสัยกันในร้านน้ำชาว่าต่อไปอาจจะ “อาซาน” ไม่ได้ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย

มาตรา 67 ยิ่งแล้วใหญ่  พวกเขามองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกทางศาสนาครั้งใหญ่และครั้งแรกที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ อะไรคือนิยามของคำว่า “การบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” ? และที่ระบุว่า “พึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการหรือกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” มีขอบเขตเพียงใด ? การสร้างมัสยิดในภาคเหนือที่มีกระแสต่อต้าน จะถูกเหมารวมว่าเป็นเพราะบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาด้วยหรือไม่ หรือนักเรียนคลุมฮิญาบในโรงเรียนวัดจะถูกห้ามหรือไม่  ไม่มีเวทีที่จะให้คำตอบพวกเขาได้  บางส่วนวิตกว่ากระแสต่อต้านอิสลาม (Islamophobia) ที่นับวันจะปรากฏมากขึ้นในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลจากพม่า จะทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้มีปญหาขึ้นได้ในอนาคต สุดท้าย การปรากฏตัวของพระมหาอภิชาตที่กล่าวยกย่องชาวพม่าในการปกป้องพระพุทธศาสนาในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนลงประชามติ ยิ่งโหมกระพือกระแสความหวาดระแวงในประเด็นนี้เข้าไปอีก

ประเด็นที่ 2 มาตรา 54 ที่ระบุในรัฐธรรมนูญให้สิทธิเรียนฟรีแค่ระดับ ม.ต้น ถูกมองว่าเป็นการลดทอนโอกาสทางการศึกษา 

การอุดหนุนทางการศึกษาในอดีต ได้ทำให้โครงสร้างทางการศึกษาของพื้นที่เปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่มองกันว่าผู้คนในปาตานีปฏิเสธการศึกษาของรัฐสยาม นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้เป็นเพียงชนส่วนน้อยของนักศึกษาใน มอ.ปัตตานีและราชภัฏยะลา ทั้งๆที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ แต่หลังมีการอุดหนุนเรียนฟรีนับแต่รัฐธรรมนูญ 40 เป็นต้นมา นักเรียนในจังหวัดชายแดนใต้มากกว่าครึ่งจะเรียนต่อ ม.ปลายและสายอาชีพ โดยร้อยละ 80 ของ นักเรียน ม.ปลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่เปิดทั้งสายศาสนาและสามัญ มีผลต่อเนื่องไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทำให้ มอ.ปัตตานี ม.ราชภัฏยะลา รวมถึง ม.นราธิวาสราชนครินทร์ที่เปิดใหม่ กลายเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นโดยแท้จริง

การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จำกัดว่าสิทธิในการเรียนฟรีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนแค่การศึกษาภาคบังคับ (ม.3) หากจะเรียนต่อ ม.ปลายหรืออาชีวะ ต้องออกเงินเองหรือกู้ยืมหรือขอความช่วยเหลือจากกองทุนของรัฐ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาเป็นห่วงว่าจะทำให้เยาวชนจำนวนมากต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และสภาพจะย้อนกลับไปเหมือนก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2540

มีประเด็นสิทธิชุมชนและรัฐธรรมนูญที่มาจากทหาร เข้ามาเป็นส่วนเสริมบ้าง แต่จำกัดเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมทำงานด้านนี้เท่านั้น 

ผลจากโหวตโนของคนปาตานีแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นศาสนาและการศึกษาที่มีต่อความคิดเห็นประชาชน จะเป็นการดูถูกประชาชนเกินไป หากมองว่านี่เป็นผลจากการวางแผนปลุกปั่นโดยกลุ่มนักการเมืองเก่าในพื้นที่

และเป็นบทเรียนว่ารัฐต้องพึงระวังและสำเหนียกฟังคน จชต. ให้มาก เวลาจะกำหนดนโยบายที่กระทบต่อคนปาตานี โดยเฉพาะประเด็นศาสนาและการศึกษา ให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วม ไม่ใช่ถูกยัดเยียด โดยเฉพาะในการออกกฏหมายลูกที่ต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญต่อไปนี้ รวมทั้งในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติต่อไป