Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

 

นักสิทธิมนุษยชน 3 คนเข้ารับฟังข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ จากการทำรายงานสถานการณ์ซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนใต้

 

บ่ายวันนี้ นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เข้ารับฟังข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรปัตตานี ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้แจ้งข้อหาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก

 

นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ถูกดำเนินคดีหลังจากที่จัดทำและเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ซึ่งระบุว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 คนถูกซ้อมทรมานในช่วงเวลาดังกล่าว ต่างกรรม ต่างวาระกัน

 

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่ให้นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนวันนี้ระบุว่า เบื้องต้นทั้ง 3 คนรับทราบข้อกลาวหา และให้การปฏิเสธ และก็พนักงานสอสวนปล่อยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 จะส่งรายละเอียดปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นเอกสารในภายหลัง ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน

 

การดำเนินคดีดังกล่าวถูกจับตาจากองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL และคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียหรือ AHRC ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อคนทั้ง 3 และล่าสุดองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยต้องยกเลิกการสอบสวนทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามคนโดยทันที ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ น.ส.พรเพ็ญ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมกันจัดทำรายงานดังกล่าวแถลงว่า รายงานชิ้นนี้ ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ และในการจัดทำรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

 

องค์กรทั้ง 3 ระบุว่า การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

 

ภาพ: นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนรับดอกไม้จากผู้ที่มาให้กำลังใจที่ สภ.ปัตตานี