Skip to main content

 

ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากกรณีเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานฯ

25580629-083941.jpg

เผยแพร่วันที่ 25 กรกฎาคม 2559

แถลงการณ์

ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากกรณีเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานฯ

จากกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กับนายสมชาย  หอมลออ  นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557-2558” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่าน โดยทั้งสามจะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ตามหมายเรียกในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 นี้ (วันพรุ่งนี้) ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอให้กำลังใจกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน และมีความเห็นต่อกรณีการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว ต่อไปนี้

          ประการแรก  การจัดทำรายงานเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน กล่าวคือ การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558  เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย หลายภาคส่วน โดยมีกระบวนการดำเนินการที่เป็นวิชาการภายใต้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol” ซึ่งเป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานกรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture) ภายใต้หลักการตาม“อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ประการที่สอง การดำเนินงานของนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เป็นการดำเนินการในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) โดยวิธีการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทำไปในฐานะตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการถูกซ้อมทรมานฯ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับการคุ้มครองภายใต้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยอมรับด้วยว่า “การทำงานของบุคคล กลุ่ม และสมาคมเพื่อส่งเสริมให้มีการกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่มีคุณค่า” ดังนั้น การดำเนินคดีของกอ.รมน.ภาค 4 สน.กับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนนี้ ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติที่สวนทางกับหลักการสากล

          ประการที่สาม : การฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ถือเป็นการดำเนินคดีในลักษณะที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) เพื่อให้หยุดพูด หรือระงับการมีส่วนร่วมสาธารณชน หรือยุติการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในอีกหลายกรณีที่มีการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ไร้อำนาจต่อรองจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองหรือชุมชนของตัวเอง ซึ่งกรณีแม้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงพอสมควร ก็ยังถูกใช้กฎหมายและการดำเนินคดีมาข่มขู่ให้พวกเขาหยุดดำเนินการตรวจสอบได้ ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้ ย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เสียเปรียบและตกเป็นเหยื่อการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก

          ประการที่สี่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ไม่มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามในข้อหาดังกล่าวได้ เนื่องจาก รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคล ไม่มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ที่ต้องรักษา เพราะรัฐมีเพียงอำนาจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจให้ทำหน้าที่ปกป้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ หรือกระทั่งรัฐบาลละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ประชาชนก็มีสิทธิโต้แย้ง ตำหนิ หรือกระทั่งกล่าวหาได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องรับฟังและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงการทำหน้าที่  ไม่ใช่นำเอาข้อกล่าวหานั้นมาไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาท อีกทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน มิได้มุ่งหมายจะคุ้มครองหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด และหากเป็นการหมิ่นประมาทตัวเจ้าพนักงานของรัฐ ก็มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาคุ้มครองตัวเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ประการที่ห้า ปัจจุบันค่อนข้างจะมีความเห็นสอดคล้องกันในทางวิชาการและเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบันว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550มาตรา 14 นั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะไปใช้กับกรณีหมิ่นประมาท แต่มุ่งเน้นจะใช้กับเรื่องการโจมตีระบบ หรือกรณีปลอมแปลง หรือฉ้อโกงเท่านั้น อีกทั้งยังมีคำพิพากษาศาลในคดีภูเก็ตหวานที่วินิจฉัยยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวไว้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14  ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา การดำเนินการของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ในการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทต่อสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อหน้าที่ของรัฐและก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศต่อประชาคมโลก

ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี2557-2558” ที่มีความเป็นกลาง โดยคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol”และนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อประชาชนและต่อประชาคมโลกถึงความจริงใจและตั้งใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ด้วยความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com