Skip to main content

ในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนโดยเฉพาะเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว พบว่าสถิติของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีความถี่ค่อนข้างสูง แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการพูดคุยสันติภาพโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 และ 2557 ซึ่งช่วงนั้นได้เริ่มกระบวนการพูดคุยฯ โดยใช้เดือนรอมฎอนเป็นข้อตกลงร่วมกันอย่างลับๆ ว่าจะยุติความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาสังคม และผู้นำศาสนาต่างเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ดังนั้นจึงทำให้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนลดลงในช่วง 2-3 ปีมานี้ และถึงแม้จะยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่แต่ก็ไม่มีความถี่ที่สูงเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัยในเดือนรอมฎอน" ของปีนี้ไม่มีการตกลงร่วมกันจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข


ภาพมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี โดย Kim Bong Tkp

ทีมข่าวพลเมืองภาคใต้ สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถึงนัยของการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ว่ามีความสัมพันธ์และสะท้อนอะไรในความต่างระหว่างเดือนรอมฎอนของปีนี้กับปีที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้เฉพาะเดือนรอมฎอน หากดูจากสถิติพบว่ามีความถี่การเกิดเหตุรุนแรงมากกว่า 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ และสูงกว่าปีที่มีข้อตกลงยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนปี 2556 และ 2557 แต่ก็ไม่สูงเหมือนรอมฎอนเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตรงนี้ก็มีนัยสำคัญโดยในแง่หนึ่งทางฝ่ายความมั่นคงเองก็พยายามป้องกันรักษาความสงบ โดยมีมาตรการทางทหารเป็นการเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและในพื้นที่เฝ้าระวังนอกเขตมือง แต่บางจุดก็ยังคงเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย 

อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคงและผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไปโดยเฉพาะ มาตรการทางการเมือง “การพูดคุยสันติสุข” ที่เคยเดินหน้าก็ยิ่งต้องพยายามทำให้มีความหมายความสำคัญ และมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมซึ่งจะช่วยลดเงื่อนไขของสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอนซึ่งควรจะเป็นเดือนที่มีการตกลงหรือมีความพยายามที่จะทำตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอของภาคประชาชนให้เป็นเดือนอันประเสริฐและมีความสงบ

ตรงนี้ผมคิดว่าต้องมาช่วยกันคิดอีกทางหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้สามารถร่วมกันผลักดันกระบวนการสันติภาพและการพูดคุยสันติสุขให้มีความหมายและมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นัยสำคัญอีกประการหนึ่งพบว่า การก่อเหตุในระยะหลังมานี้จะหลีกเลี่ยงเป้าหมายอ่อน ซึ่งเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เป็นผลให้การก่อเหตุร้ายต่อประชาชนลดลง และถีงแม้ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ แต่ก็จะมุ่งไปที่เป้าหมายแข็ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ถืออาวุธ อันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการอยู่ในกรอบของการพูดคุยสันติสุข ยังคงมีส่วนช่วยอย่างน้อยที่สุดในแง่ที่ว่า พยายามดึงให้เหตุการณ์ความรุนแรงมีทิศทางมากขึ้น โดยพยายามหลีกเลี่ยงให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ สิ่งนี้จึงเป็นผลตามมาจากกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการกันอยู่

ทางด้าน ลม้าย มานะการ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวพลเมืองภาคใต้ ถึงความหวังที่อยากจะเห็นในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนอันประเสริฐสำหรับพี่น้องมุสลิม

ลม้าย มานะการ กล่าวว่า ความจริงแล้วทางเราก็หวาดหวั่น เพราะจากสถิติทางวิชาการในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจะเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบมากทุกปี แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราเชื่อเรื่องการเจรจาสันติภาพว่าเป็นทางออกที่สำคัญ และผู้ที่ถืออาวุธเห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธีนี้ เราคิดว่ามันมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อการพูดคุยสันติสุขเกิดการชะงักงัน ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น และอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยไม่มีข้อตกลงอะไรอย่างปีที่ผ่านมา

จากข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมหลายฝ่ายที่กำหนดบางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งจากวงของการพูดคุยฯ ก็ตอบรับข้อเสนอและนำไปใช้ แต่เมื่อไม่มีข้อเสนอนี้ในโต๊ะการพูดคุยฯ จึงทำให้เดือนรอมฎอนในปีนี้เราเองก็หวั่นเป็นสองเท่า

แต่ก็ขออวยพรให้ทางผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติกิจได้อย่างปกติ โดยไม่ถูกคุกคามจากฝ่ายใดๆ ขอให้เป็นเวลาหนึ่งเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ และคาดหวังว่าจะไม่มีใครถูกทำร้ายไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม