Skip to main content

 

“ติดแล้วเลิกยาก”

 

 

เพื่อนแซวว่าดูดบุหรี่มา 20 กว่าปีเพื่อวันนี้ วันที่ต้องมาเปลือยชีวิตเป็นเครื่องมือในการสอนการสื่อสารเพื่อการรณรงค์ควบคุมบุหรี่อย่างไร?

 

เล่าให้ตัวแทนสภาพยาบาลแห่งประเทศไทยฟัง “คนติดบุหรี่ใครเตือนอย่างไรเขาเลิกไม่ได้หรอกจนกว่าร่างกายหรือคนรอบข้างจะส่งสัญญาณบางอย่าง”

 

“เราติดบุหรี่ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย เพราะที่บ้านพ่อก็สูบบุหรี่ สมัยเรียนเพื่อนๆบางคนก็ทดลองสูบกัน วัยพาไปกระมัง และบริเวณโรงเรียนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหาซื้อบุหรี่ได้ง่าย ยิ่งทำงานมีรายได้มีอำนาจซื้อยิ่งสูบมากขึ้น”

 

งานการที่ทำให้ดูดบุหรี่หนักขึ้นจะด้วยความเครียด หรือการใช้บุหรี่สร้างตัวตนของความเป็นหญิงในโลกของผู้ชายก็ตาม สรุปคือเป็นนักข่าวสาธารณสุขที่ดูดบุหรี่จัดมาก หมอหลายคนก็รู้ หลายคนส่งยาอดบุหรี่และหมากฝรั่งอดบุหรี่มาให้ด้วยความห่วงใยอย่างสม่ำเสมอ แม้นักข่าวที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบผลักดันอะไรได้ต่างๆ นานา เกาะติดคดีสำคัญบุหรี่ ทุกวันงดสูบบุหรี่โลก มือหนึ่งเขียนสกู๊ปมือหนึ่งก็สูบบุหรี่ไป จนได้รับรางวัลเกียรติยศจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในวาระครบรอบ 25 ปี เพราะฐ.ช่วยรณรงค์ตั้งแต่ปี 2537 เรียกว่าตั้งแต่พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคยาสูบ 2535 เริ่มมีผลบังคับใช้นั้นแหละ

 

เป็นนักข่าวที่รู้พิษภัยของบุหรี่และกลยุทธบริษัทบุหรี่มากกว่าคนในระบบสุขภาพด้วยซ้ำ ทำไมความรู้เหล่านี้ไม่ได้สร้างความตระหนักให้เลิกบุหรี่ได้!!

 

ยิ่งผันตัวเองมาทำงานในสนามความรุนแรงชายแดนใต้ 10 กว่าปี ห่างไกลวงการหมอ ไม่มีใครมาขัดคอตอนสูบบุหรี่ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้สูบยิ่งขึ้น เฉลี่ยแล้ววันละเกือบสองซอง บางครั้งพี่น้องในชายแดนใต้มวนยาเส้นส่งสลับกันดูดเลยทีเดียว สนุกกับการดูดยาเส้น การละเลียดกับสุนทรียภาพศิลปะการมวนยาเส้น สูบอย่างใจเย็นๆ ไปพักหนึ่งเลยทีเดียว

 

ไอเรื้อรังไอจนออกมาเป็นลิ่มเลือดก็เคยมาแล้ว

ประสบอุบัติเหตุ ผ่ากระโหลก หมอศัลยกรรมหน้า และแวะซ่อมแซมเยื่อบุโพรงจมูก ต้องดามหน้า ดามจมูกกันเลยที อาการหนักใกล้ตาย จนคิดว่าจะเลิกบุหรี่สักทีไม่ไหวแล้ว แต่พอเข้าสู่บรรยากาศการทำงานก็กลับมาสูบใหม่อีกหลายปี

 

จนร่างกายเหนื่อยผิดปกติ ไอแห้งๆ เดินขึ้นสะพานลอยหรือเดินไกลไม่ไหว นั่งกินข้าวยังเหนื่อย หายใจไม่ออก สภาพปากและฟันเริ่มเป็นโรคปริทนต์ หมอใกล้ชิดเริ่มเรียกมาส่องปอด มอนิเตอร์ปอดปีเว้นปี เฝ้าระวังความผิดปกติแต่ยังไม่เจอชัดนัก

 

วันหนึ่ง พยาบาลที่ดูแลแม่เรียกมาปรับทัศนคติ แม่ ฐ. เป็นมะเร็งทั้งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม พยาบาลเรียกลูก/ญาติผู้ป่วยมาให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยและตรวจหาความเสี่ยง หลังจาก ฐ. ถูกซักประวัติสุขภาพ พยาบาลตกใจ “คุณน้องค่ะ อยากดูแลคุณแม่ไปนานๆไหม ตอนนี้คุณน้องมีความเสี่ยงที่จะไปพอๆกับคุณแม่เลยนนะคะ” จากนั้นพยาบาลก็ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ และให้กำลังใจมากมาย

 

หลายๆ ปัจจัย ทั้งร่างกายเสื่อมทรุด คำเตือนของพยาบาล แรงบันดาลใจจากหลายๆคน ฐ.เริ่มอดน้ำอัดลมก่อน เริ่มหัดเลิกสิ่งที่ยากๆว่าตัวเองทำได้ก่อน ต่อมาพี่ทอม Surachai Trongngam พาไปซื้อกระบอกน้ำไว้พก ถ้าเครียดอยากดูดบุหรี่ให้กินน้ำเยอะๆแทน แล้วพี่ทอมก็พาไปหัดปั่นจักรยานออกกำลังกาย ตอนที่โค้ชสอนปั่นจักรยาน ฐ.ยังดูดบุหรี่อยู่ เหนื่อยจากปั่น พักก็ดูดบุหรี่เดี๋ยวลุกขึ้นมาปั่นใหม่ เห็นหล่ะว่าโค้ชส่ายหัวไปมา ยิ่งปั่นเหนื่อยยิ่งดูดบุหรี่ เหมือนปอดจะแตกแหกออกมา

 

วันหนึ่งเลยตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ ให้รู้ไประหว่างอดบุหรี่กับปั่นจักรยานอะไรจะทำได้ก่อนกัน เลยเริ่มต้นอดบุหรี่และฝึกปั่นจักรยานใหม่ พอใจมาอะไรก็ได้หมดหล่ะทีนี้ ประคองสองสิ่งนี้ไว้ด้วยกัน ก็ค่อยๆ ลด ละ เลิกบุหรี่มาจนเกือบสองปี และปั่นจักรยานได้ไกลมากขึ้น พยายามปั่นให้มากขึ้นทุกวัน แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่กลับไปสูบใหม่ เพราะอาการเลิกเป็นพักๆ ปีสองปีนี้เป็นมาหลายสิบครั้งแล้ว ลองดูครั้งนี้จะอดได้นานแค่ไหน

 

เล่าให้ตัวแทนสมาคมพยาบาลฯฟัง “ติดแล้วเลิกยาก” ถ้าจะนำคำนี้ไปรณรงค์ก็ยินดี

 

ให้กำลังใจว่าพยาบาลมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและญาติผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ สภาพยาบาลฯควรเป็นตัวหลักในงานรณรงค์ที่เชื่อมโลกของผู้ป่วยกับโลกของคนไม่ป่วยไปสู่สุขภาวะที่ดี จะช่วยหนุนเสริม “ขบวนการเคลื่อนไหวการณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของประเทศไทย” ได้อย่างดี

 

เช่น เวลา สสส. ถูกตรวจสอบไว้เงินภาษีบุหรี่ปีละกว่าสามพันล้านบาท ทำให้สถานการณ์บุหรี่ดีขึ้นอย่างไร คำตอบจาก สสส.และเครือข่ายมักตอบว่าการรณรงค์ลดและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ (นักสูบหน้าเก่าก็ตายเพราะโรคไป) ทำให้อัตราคนสูบบุหรี่ในประเทศคงอยู่ที่ระดับ 12-13 ล้านคน คือควรมีคำตอบมากกว่านี้ไหม

 

เช่น ช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเรื้อรังต่างๆ เลิกสูบบุหรี่กี่คน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพเท่าใด ทำให้คนติดบุหรี่เข้าสู่แผนการอดบุหรี่ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพไปอีกเท่าใด หากสภาพยาบาลฯวางเป้าหมายการณรงค์อย่างมียุทธศาสตร์ ก็จะช่วยนำไปสู่การปรับพฤติกรรมผู้คนได้มากกว่านักข่าวที่เขียนข่าวรณรงค์เพียงแค่สร้างความตระหนักด้วยซ้ำ มิพักต้องกล่าวถึงการผลักดันการรณรงค์เชิงนโยบายเพราะอยู่กับของจริงทุกวัน

 

ถ้าเครือข่ายพยาบาลทำได้ งานรณรงค์ที่เคยคิดแค่กิจกรรม จะฟื้นคืนกลับมาเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสุขภาพ” อีกครั้ง

 

พยาบาลไม่ต้องมาเขียนข่าวรณรงค์แข่งกับนักข่าว แต่ใช้สื่อรณรงค์ในพื้นที่สุขภาพแง่มุมอื่นอันเป็นจุดแข็งที่มีจะได้ผลมากกว่า ปรากฎว่าภายในสองชั่วโมงที่คุยแลกเปลี่ยนแง่มุมของการณรงค์กัน เครือข่ายพยาบาลค้นพบแนวคิดเชิงนวัตกรรมหลายสิ่ง เช่น พยาบาลกลุ่มหนึ่งเสนอว่าจะ ทำ “เสี่ยมซีเสี่ยงโรค” ไว้รณรงค์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและโรคเรื้อรังที่ติดบุหรี่ ให้เห็นว่าหากเขาอดบุหรี่ไม่ได้เส้นทางสุขภาพของเขาต้องเสี่ยงกับอะไรบ้าง พยาบาลบางกลุ่มจะรณรงค์ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ทำเครื่องมือประเมินสุขภาพควบคู่กับการดูแลไต เพื่อลดภาวะอาการไตวาย ฯลฯ

 

บางกลุ่มจะดึงคนในชุมชน และครอบครัวผู้ป่วยเป็นแนวร่วมสร้างสุขภาพ ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้บอกเล่าการเผชิญหน้ากับโรคต่างๆ ด้วยเสียงของเขาเอง โดยจะดีไซน์พื้นที่โรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพเช่น มีนิทรรศการชุมชนภายในโรงพยาบาล และอาจจะนำภาพเหล่านั้นสื่อสารทั้งพื้นที่กายภาพและพื้นที่ออนไลน์ เป็นต้น