Skip to main content

 

แถลงการณ์ HAP รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยกเลิกดำเนินคดี 3 นักสิทธิ และปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

 

 

แถลงการณ์  HAP รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยกเลิกดำเนินคดี 3 นักสิทธิ และปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

วันที่  26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี  ให้มีการดำเนินคดี นายสมชาย  หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะ  ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยออกเอกสารและความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  กลุ้มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558 และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ  วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)ก่อตั้งขึ้นด้วยนักกิจกรรมในพื้นที่ ที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานด้วยตนเอง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือระดับหนึ่งในการทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จชต.

การที่องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเข้ามาร้องเรียนและทำการจดบันทึกจากผู้เสียหายจากการทรมานนั้นเป็นกิจกรรมที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพ การปกปิดชื่อบุคคลผู้ร้องเรียนและการเปิดเผยได้แต่เฉพาะรายชื่อผู้ที่ยินยอมเท่านั้นเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลและยังคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นต่อกันและกันและยังคงเป็นช่องทางที่ผู้เสียหายเลือกที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรมต่อไป

แม้ว่าที่ผ่านมาการร้องเรียนต่อองค์กรหน่วยงานต่างๆ จะยังไม่เกิดผลในเรื่องการเยียวยาแต่อย่างใด แต่เป็นหนทางเดียวที่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาว่า การทรมานนั้นยังคงมีอยู่จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และต้องการการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และในระดับปฏิบัติ การฟ้องร้องคดีเพียงเพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่รายงาน เปิดเผยรายชื่อของผู้ร้องเรียนนั้น ขัดกับหลักการสากลในเรื่องการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน และอาจเป็นการหลีกเลี่ยงการสอบสวนเพื่อนำคนผิดในฐานความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญาเรื่องการทรมานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดและสี่อำเภอชายแดนใต้   และยังเป็นองค์กรที่ร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558 อีกด้วย  เราในฐานะผู้ร่วมจัดทำรายงานขอยืนยันต่อจุดยืนขององค์กรว่า การจะให้ข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นเรื่องที่ยังต้องการหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยก่อน

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ขอเรียกร้องให้ทางการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยกเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ ตลอดจนยุติการข่มขู่ คุกคามใดๆ และสอบสวนข้อมูลเรื่องของการซ้อมทรมานในรายงานอย่างตรงไปตรงมา  ซึ่งการดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามคน จะไม่เกิดผลดีและประโยชน์ใดๆเลยต่อสังคมเรา  แต่จะกลายเป็นการจุดกระแสให้มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยอมรับการทำงานของนักกิจกรรมเพื่อสังคมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap มีความเชื่อมั่นว่า รัฐไทยมีความพยายามในการสร้างสังคมสันติสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง

ดังนั้น  องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ขอแนะนำให้

  1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ) ถอนแจ้งความดำเนินคดีต่อนักสิทธิทั้งสามคน
  2. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ และมีองค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นสมาชิกร่วมคณะกรรมการ
  3. สร้างกลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากการทรมาน
  4. นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้เสียหาย

 

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (Hap)

26 มิถุนายน 2559

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายอิสมาแอ เต๊ะ  ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี 085 2527824

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com