Skip to main content

วิบากกรรมการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย

http://4.bp.blogspot.com/-3brtwFDGi9M/VSnGhSskNmI/AAAAAAAALXo/RLIUqPDWpVA/s1600/TonSonMosque001.jpg

(หนึ่ง)

             มุสลิมให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะตามหลักปรัชญาการศึกษา นั้น อิสลามแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การศึกษาที่เป็นภาคบังคับ (ฟัรดูอีน) และการศึกษาที่ไม่บังคับ (ฟัรดูกิฟายะ) ซึ่งมุสลิมส่วนมากจะเติบโตมาใช้ในบรรยากาศของการใช้ มัสยิด (ตาดีกา) เป็นฐานในการศึกษา และการศึกษาในระดับสูงกว่าคือ ระบบปอเนาะ (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม)  ระดับอุดมศึกษา (ในและต่างประเทศ)

            ปอเนาะจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของมุสลิม ซึ่งปอเนาะได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานระหว่างสถาบันสอนศาสนาจากประเทศอียิปต์และเยเมน ประมาณ 500 ปี ที่ผ่านมา ปอเนาะหลังแรกได้ถูกสร้างขึ้นในบริเวณปากน้ำปัตตานี (กัวลาบือเกาะ) โดย บุตรของเชคอุสมาน ชาวเยเมน  หรือ ต้นปี 1600 ปอเนาะได้ถูกสร้างขึ้น ที่ ต.สะนอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ ประมาณ 374 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 1624 (พ.ศ. 2185) ปอเนาะได้ถูกสร้างขึ้นที่ ตาโละมาเนาะ จังหวัดนราธิวาส[1]

            เป้าหมายของการศึกษาอิสลามตามระบบปอเนาะ คือ รู้จักอัลลอฮฺ  ฝึกฝนและขัดเกลาศีลธรรม  เพื่อเข้าใจโลกนี้และโลกหน้า การศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและส่วนร่วม เพื่อทำอิบาดะต่ออัลลอฮฺ เพื่อเป็นลู่ทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง เพื่อไปสู่การเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ และเพื่อรับช่วงต่อในการเผยแพร่อิสลามให้ผู้อื่น[2]

            ด้วยเหตุนี้ ปอเนาะได้กลายเป็นสถาบันหลักในการ อบรมบ่มเพาะมุสลิมอย่างเข้มข้น ในทางกลับกัน รัฐมองว่า ปอเนาะ คือหนึ่งใน ตัวถ่วงนโยบายการกลมกลืนชาติพันธ์ รัฐมองปอเนาะดังนี้ ***

1.       เน้นการศึกษาศาสนามากกว่าอย่างอื่น จึงเกิดความไม่สมดุลกับโลกปัจจุบัน

2.       การศึกษาในสถาบันปอเนาะไม่ได้ช่วยให้เกิดสำนึกร่วมหรือแนวคิดแห่งความรู้สึกว่าด้วยความเป็นไทย

3.       ผู้เรียนปอเนาะไม่ค่อยนิยมใช้ภาษาไทย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกีดกันนโยบายการกลมกลืนชาติพันธุ์

4.       ปอเนาะไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยพัฒนาไปมากกว่าเดิม

5.       ปอเนาะไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษา ทว่าเป็นสถาบันศาสนา

6.       ปอเนาะจัดการตนเองในทุกรูปแบบ จนทำให้รัฐไม่สามารถเข้าถึงแห่ล่งข้อมูลและความเคลื่อนไหวของปอเนาะได้[3]

                  เมื่อเป็นเช่นนั้น ปี พ.ศ. 2500 (1957) หลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจ ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “จอมพลผ้าขะม้าแดง“ ท่านได้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ด้วยการดำเนินนโยบายการกลมกลืนทางชาติพันธุ์ ท่านจึงได้เข้าไปปรับปรุงการศึกษาของชาวมลายูมุสลิม ส่งผลให้ “ปอเนาะ” ต้องจดทะเบียน ในปี 2504 ใต้ พรบ. โรงเรียนราษฏร์ปี 2497 ส่งผลให้ตำราวิชาการทางศาสนาได้ถูกแทรกแซงโดยรัฐ ส่งผลให้ขบวนการภาคประชาชนได้สุกงอดและปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

            รัฐจึงออกคำสั่ง พรบ. โรงเรียนราษฏร์ปี 2497 ส่งผลให้ปอเนาะมีการจดทะเบียนกับรัฐ ซึ่งแนวทางปฏิบัติ เริ่มต้นด้วยความสมัครใจ ให้ “ปอเนาะ” เป็น “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม” เมื่อปี 2504 เป็นต้นมา  ปี 2504 มีนักศึกษามลายูมุสลิมจำนวน 22,817 คน ในจำนวนนั้นมีอยู่ 16,542 คน ที่ยังคงเรียนในสถาบันปอเนาะ ในขณะที่นักศึกษาจำนวน 6,329 คนได้ย้ายไปเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2504-2507 มีปอเนาะจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 171 โรงและปี 2509 ปอเนาะมีสถานภาพเป็น “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม”  

             ในการปรับปรุงโรงเรียนขั้นที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ได้มีการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานโรงเรียนปอเนาะอีกครั้งหนึ่ง โดยวิชาศาสนาให้สอนควบคู่ไปกับวิชาสามัญทั่วไปของชั้นประถม 5 6 และ 7 ตั้งแต่ปี 2508-2510 มีโรงเรียนปอเนาะลงทะเลีบยอีก 101 โรง ในปี 2524 มีโรงเรียนปอเนาะจดทะเบียน 349 โรง ในจำนวนนี้ 150 โรงถูกปิดลง เพราะไม่มีนักเรียนมาเรียน เปิดอยู่เพียง 199 โรง ในจำนวนนี้ สอนเฉพาะวิชาศาสนา 77 โรงและสอนควบคู่ศาสนาสามัญจำนวน 122 โรง

             รัฐบาลถนอม กิตติขจร ได้เข้ามาปรับระบบและเร่งพัฒนานโยบายนี้ให้บรรลุผลให้แล้วเสร็จภายในปี 2514 ด้วยการวางเงื่อนไขดังนี้

1.       ปอเนาะใดไม่ได้รับใบอนุญาต ทางการจะไม่ออกใบอนุญาตอีก เว้นแต่จะได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตจะต้องจบขั้นต่ำคือ มัธยม 6

2.       โรงเรียนปอเนาะที่มีการปรับปรุงและจดทะเบียนตั้งแต่ 2511-2513 จะได้รับเงินอุดหนุน

3.       การเปิดปอเนาะใหม่หลัง 2514 จะไม่ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่มีการทำการสอนอยู่แล้วก่อนหน้านั้น

4.       โรงเรียนที่มี 17 คนขึ้นไปที่ไม่ได้มีการจดทะเบียจะมีความผิดทางกฎหมาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทางราชการ

5.       ให้ยกเลิกภาษาที่เขียนด้วยรูมีและยาวี[4]

                 ปี 2525 รัฐมีคำสั่งผ่าน พรบ. โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปี 2525 ส่งผลให้ ปี 2526 “โรงเรียนราษฏร์สอนอิสลาม” เปลี่ยนสภาพเป็น “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” สาเหตุที่โรงเรียนต่าง ๆ ต้องจดทะเบียนเพื่อไม่ให้รัฐมองว่าเป็นกลุ่มแหกคอก หรือมีแนวคิดตรงข้ามกับนโยบายของรัฐ รัฐให้อิสระในการจัดการเรียนการสอนศาสนาในรูปแบบเดิม รัฐให้เงินสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนและจัดซื้ออุปกรณ์[5] สถานการณ์ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตรึงเครียดอีกครั้ง หลังเหตุการณ์การปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 รัฐจึงเกิดความระแวงจึงมีคำสั่งให้ปอเนาะจดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง  28 เมษายน 2547 กระทรวงจึงออกคำสั่งกฎระเบียบว่าด้วยสถาบันปอเนาะปี 2547 ส่งผลให้ปอเนาะจดทะเบียนในเดือนพฤษภาคมจำนวน 214 แห่ง ในเดือนกรกฎาคม 249 แห่ง และในเดือนพฤศจิกายน 255 แห่ง[6]

-สอง-

http://cache3.asset-cache.net/gc/451887850-thai-muslim-students-offer-prayers-at-the-gettyimages.jpg?v=1&c=IWSAsset&k=2&d=GkZZ8bf5zL1ZiijUmxa7QUoMil2MXBSrVtLurLanLYj4iS%2FdeXIvW7hMvkEILDkvLEK7YfdtK7Bt1UKwrseMxg%3D%3D

            เมื่อปอเนาะ "ถูกควบคุมกำเนินทางวิชาการ" ส่งผลให้เยาวชนมุสลิมไทยต้องเดินทางออกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่ง นักศึกษาไทยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกือบ 10,000 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศอียิปต์และอินโดนีเซีย นักศึกษาไทยมุสลิมในประเทศอียิปต์มากเป็นอันดับหนึ่ง คือ กว่า 2500 คน และ อินโดนีเซียกว่า 1,000 คน  ซึ่งมีอัตตราเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

·        สาเหตุที่นักศึกษาไทยมุสลิมเลือกเรียนต่างประเทศ

1.       ทุกคนอยากไปศึกษาแหล่งอารยะธรรมอิสลามที่กลายเป็นรากของหลักการศาสนาและสายธารแห่งองค์ความรู้ โลกอาหรับนับเป็นจุดรอยต่อแห่งประวัติศาสตร์การศึกษาของอิสลามอันโด่งดัง เช่น มหาวิทยาลัยนิซอมิยะฮฺ ซึ่งก่อตั้งโดย ท่านนิซอมุลมุลตูซี รัฐบุรุษแห่งราชวงศ์ซาลจูก เมื่อปี ค.ศ. 1065 มหาวิทยาลัยในสังกัดนี้มีประมาณ 7 วิทยาเขตด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นใน เมืองบัสเราะฮฺ โมซุล อเลปโป ซึ่งสาขาหลักที่กรุงบักดัร[7]

           ประเทศอียิปต์ (Egypt) มีมหาวิทยาลัย Al-Azhar ซึ่งก่อตั้งในสมัย ค.ศ. 970 โดยราชวงศ์ฟาติมิยะฮฺ เป็นแหล่งรวมอารยธรรมอิสลามและแขนงวิชาการอิสลามสาขาต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นยุคทองของอิสลามและรุ่นบุกเบิกการศึกษา แผ่นดินผืนนี้ได้กลายเป็นแหล่งความรู้ทีสำคัญที่สุดสำหรับอิสลาม ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia) เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาใน “ดินแดนนูซานตารา” ซึ่งหนังสือกีตาบยาวีทั้งหมด มาจากแผ่นดินผืนนี้ อู่อารยะธรรมของอิสลามเดินผ่านถนนสายนี้ก่อนจะเข้าสู่ “ปัตตานีดารุสลาม”[8]

           ด้วยเหตุนี้ คำพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม สมช. ได้กล่าวว่า “หลังจากนี้ทางภาครัฐจะพยายามสนับสนุนให้มุสลิมได้ไปเรียนต่างประเทศ นอกเหนือจากประเทศอียิปต์และอินโดนีเซีย” ดูเหมือนว่ารัฐต้องการจะ “ตัดท่อน้ำเลี้ยงการศึกษาอิสลามของสังคมมุสลิมในประเทศไทย”

            การห้ามมุสลิมไปศึกษาในพื้นที่ 2 แห่งนี้นั้น จึงเป็นนโยบายการศึกษาที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย อาจเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความชังและการปฏิเสธรัฐ หนำซ้ำการนำเสนอนโยบายทางการศึกษาแบบนี้กับสังคมมุสลิมอาจส่งผลไปสู่ “ความตรึงเครียดของความรุนแรงระลอกใหม่” ได้ รัฐสมควรที่จะทบทวนแนวคิดดังกล่าวให้รอบคอบ  มุสลิมต้องการเดินทางไปศึกษาแนวคิดอิสลามเพื่อการปฏิบัติและพัฒนาองค์ความรู้ ไม่ต่างจากชาวพุทธที่ต้องการการเดินทางมา “ศึกษาพระธรรม” ณ แผ่นดินพุทธภูมิที่ประเทศอินเดีย

2.       ได้เข้าถึงภาษา ที่ 2 หรือ 3 อย่างจริงจัง หากรัฐบาลไทยมีสถาบันการศึกษาทีมีคุณภาพทัดเทียมกับโลกอาหรับหรือประเทศมุสลิมส่วนอื่น ๆ แน่นอน มุสลิมบางส่วนก็ต้องการเรียนในบ้านเกิดของตัวเองอยู่แล้ว กระนั้นความไม่เสถียรของระบบการศึกษาและนโยบายการศึกษา ทำให้ นักศึกษาทั้งไทยพุทธและมุสลิมต้องเดินทางออกสู่ต่างแดนเพื่อศึกษาหาความรู้

3.       พัฒนาองค์ความรู้และเปิดโลกทัศน์ บทเรียนจากอินเดียบอกให้ทราบว่า รัฐจะต้องทุ่มเทกับการศึกษา ครั้งหลังจากการแบ่งแยกอาณานิคมจากอังกฤษของอินเดีย เมาลานา อาซัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สนทนากับนายกรัฐมนตรีอย่างน่าชื่นชม คือ

          “หากรัฐทุ่มงบประมาณเพียง 5 % สำหรับการศึกษาของเยาวชน สิ่งที่รัฐจะได้กลับมาคือ เยาวชนเป็นได้แค่เพียงพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมที่เชื่องคนหนึ่ง แต่หากรัฐยอมจ่ายเงินเพื่อการศึกษา 30 % แน่นอนรัฐจะได้นักวิทยาศาสตร์ร่นใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม”

4.       ทุนการศึกษา ที่รัฐบาลไม่ได้เน้นหนัก ในทางกลับกัน การศึกษาต่างประเทศนั้น ค่าเล่าเรียนใช้จ่ายในราคาที่ค่อนข้างน้อยและ บางมหาวิทยาลัย ค่าเล่าเรียนฟรี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศมุสลิมเกือบจะทั้งหมด มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษาของมุสลิมให้กับประเทศเพื่อนบ้าน[9]

-บทส่งท้าย-

https://media.licdn.com/mpr/mpr/AAEAAQAAAAAAAAY1AAAAJDY0MjFlZmNkLWRiMzAtNGQ3NC1iYjBkLWY0NjIxMGYzODY3Mw.jpg

ประเด็นสรุป ที่รัฐควรตระหนัก    

  1. ณ วันนี้ รัฐมีศัตรูรอบด้านมากพอ และประเทสไทยกลายเป็นประเทศที่อยู่ใน “สภาวะหมอกควันแห่งสงคราม” ด้วยประการทั้งปวง “รัฐจึงไม่ควรเพิ่มศัตรูให้กับตนเอง เพราะไม่เป็นสิ่งที่ฉลาดเท่าไหร่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่รัฐต้องเลือกมาตัดท่อน้ำเลี้ยงมวลชนของตัวเอง ในทางกลับกัน รัฐควรเอาชนะใจพลเมืองแล้วนำให้เขามาอยู่ในฝั่งของตน” ในทางกลับกัน รัฐควรมองตัวเองว่า 12 ปี ที่ผ่านมา กับงบประมาณที่หมดไปกว่า 261,954.95 ล้านบาท บวกกับการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของพลเมืองกว่า 18,654 คน รัฐจะหาทางเยียวยาพวกเขาอย่างไร แล้วรัฐจะดึงใจมวลชนส่วนที่คิดว่ารัฐใช้ความรุนแรงกับพวกเขากลับมาอย่างไร[10]
  2. รัฐต้องรีบกู้สถานการณ์และใช้นโยบายเพื่อดึงใจมวลชนใต้สถานการณ์ “การแข่งขันและแย่งชิงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์” เพราะรัฐกำลังกลายเป็นรัฐที่หย่อนยานในการบริหาร และเสื่อมสมรรถภาพในการจัดการ ซึ่งสังเกตได้จากเหตุการณ์รายวันที่เกิดขึ้นในรอบ 12 ปี กว่า 15,530 ครั้ง[11]  ในขณะเดียวกัน รัฐไม่ควรเปิดศึกหลายด้านพร้อมกัน “ปัญญาชนอยู่ต่างประเทศควรเป็นจิกซอร์ชิ้นสำคัญให้กับรัฐในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่พยายามสร้างเงื่อนไขความรุนแรงจนเป็นที่มาของการฉีกแผ่นดินรอบใหม่”
  3. ปัญหาที่รัฐควรจัดการ ณ ตอนนี้ คือ ทำยังไงให้ ก.พ. รับรองการศึกษาในประเทศดังกล่าว เช่น อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย เพราะ หากจบมาแล้ว ก.พ.ไม่รับรองวุฒิการศึกษา ก็ไม่สามารถทำงานหรือเรียนต่อได้
  4. รัฐต้องหาทางในการเชื่อมต่อระบบการศึกษา เช่น ระบบการศึกษาแบบอิสลาม ในระดับสูง รัฐต้องตรวจสอบและรับรองการศึกษาเหล่านั้น เพื่อเปิดโอกาสการศึกษาต่อ ไม่ใช่ตัดตอนการศึกษา จน นักศึกษามุสลิมที่จบศาสนา ไม่สามารถศึกษาต่อที่ไหน ได้ เพราะ ก.พ. ไม่รับรอง
  5. ประเด็นก่อการร้ายที่รัฐ เป็นห่วง อาจจะมีหรืออาจจะไม่ดี รัฐทำได้แค่เพียงการตรวจสอบ ซึ่งเป็นปกติของรัฐที่ต้องมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยของอำนาจเป็นหลัก กระนั้นก็ไม่ควรสกัดการศึกษาของมุสลิมในต่างประเทศ โดยเฉพาะ อียิปต์และอินโดนีเซีย เพราะ ประเทศเหล่านี้ คือ อู่อารยะธรรมแห่งอิสลาม การตัดประเทศนี้ออกไป เท่ากับ เป็นการตัดคลังวิชาการอิสลามไปกว่า 50 %

               บทสรุปตามหลักตำราพิชัยสงครามของขงเบ้ง

                “ปราชญเมธีเป็นผู้บังคับบัญชา ทรุชนคนพาลเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ทุกเหล่าทัพสุขสมานสามัคคี พลทหารมีความยำเกรงน้อมรับคำบัญชา ปฏิสัมพันธ์กันด้วยการประลองยุทธ์ ชื่นชมกันที่คุณธรรมบารมี ตักเตือนกันด้วยบำเหน็จอาญา นี่คือลางแห่งชัยชนะ แต่หากพลทหารเกียจคร้านทะนงตน ทุกกองพลมีแต่ความหวาดวิตก เหล่าทหารไร้สัจจะจริยา ผู้คนไม่ยำเกรงต่อกฎหมายอาญา มีใจกลัวเกรงแสนยานุภาพศัตรู สนทนาแต่เรื่องผลประโยชน์โภชนา กำกับกันแต่เรื่องเคราะห์ภัยวาสนา มัวเมากันแต่เรื่องพิศดารปาฏิหาริย์ นี่คือลางแห่งความพ่ายแพ้”[12]

 

***หมายเหตุ*** สามารถรับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่ 

ตอนที่ 1 นักศึกษามุสลิมไทยต่างประเทศกับการก่อการร้าย

https://www.youtube.com/watch?v=Amu59oC8_f4&feature=youtube_gdata_player

ตอนที่ 2 "หยุดฉีกประเทศ" ด้วยกระบวนการภาคประชาชน "ดับไฟใต้"

https://www.youtube.com/watch?v=yGpStnnez7k&feature=youtube_gdata_player     

อ้างอิง 

[1] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 69-70

[2] รชตะ จันทร์น้อย. “เส้นทางของนักศึกษาไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ในการศึกษาศาสนาในต่างประเทศ”. วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 91-93.

[3] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 73-74

[4] อารีฟีน บินจิ, อับดุลลอฮฺ ลออแมน, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล. ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. (สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, 2556) หน้า 325-328.

[5]กาญจนา บุญยัง. “ปอเนาะ” รากเหง้าของปัยหาเยาวชย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ??? มุมมองจากคนนอกพื้นที่” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 337-338.

[6] อิบรอเฮ็ม ณรงศ์รักษาเขต. “การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้” วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 61-66.

[7] Gerhard Bowering, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought (New Jercy: Princeton University Press, 2013), pp. 393-395.

[8] รชตะ จันทร์น้อย. “เส้นทางของนักศึกษาไทยมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ในการศึกษาศาสนาในต่างประเทศ”. วารสารอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 7 (มกราคม-ธันวาคม 2549): 98-101.

[9] สลีลา พุ่มเพ็ชร. เส้นทางการศึกษาต่อของชาวไทยมุสลิมที่สำเร็จการสึกษาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม. การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ “สร้างสรรค์และพัฒนา เพื่อก้าวหน้าสู่ประชาคมอาเซียน” ครั้งที่ 2 18-19 มิถุนายน 2558 ณ วิทยาลัยนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา : ภาคโปสเตอร์: 187-188.

[10] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. 19 ประเด็นกับความแปรปรวนที่เป็นพิษซ บทวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันที่สภาวะคงที่กำลังเปลี่ยนแปลง. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 28 เมษายน 2016. http://www.deepsouthwatch.org/node/8580

[11] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. 19 ประเด็นกับความแปรปรวนที่เป็นพิษซ บทวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันที่สภาวะคงที่กำลังเปลี่ยนแปลง. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 28 เมษายน 2016. http://www.deepsouthwatch.org/node/8580

[12] ขงเบ้ง. แปลโดย อมร ทองสุก. ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง. (ปทุมธานี: ชุนหวัตร, 2555) หน้า 67.