Skip to main content

พนักงานอัยการ จังหวัดยะลาสั่งไม่ฟ้องคดีที่กรมทหารพรานที่ 41 ยะลา กล่าวหาว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หมิ่นประมาท

เผยแพร่วันที่  1 กันยายน 2558

ใบแจ้งข่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หมิ่นประมาท

 IMG_0045-1

พนักงานอัยการจังหวัดยะลา ได้มีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ไม่ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิฯ ที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์โดยกรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาเพียงให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหาและองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับนายอาดิล สาแม เป็นการติชมการทำงานขององค์กรสาธารณชนตามความเข้าใจทั่วๆไป ขาดเจตนาในการกระทำผิด และการแจ้งความร้องทุกข์ เป็นการแจ้งความในนามองค์กร ไม่ใช่แจ้งในฐานะบุคคลธรรมดาส่วนตัว แต่ไม่ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก ผู้กล่าวหาจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิฯ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนสภ.เมืองยะลา จังหวัดยะลา เนื่องจาก พ.ต.ลิขิต กระฉอดนอก ผู้แทนกรมทหารพรานที่ 41 แจ้งความร้องทุกข์ต่อนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กรณีหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจากการออกจดหมายเปิดผนึก โดยกล่าวหาว่า “ได้กล่าวข้อความทำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” ตามหมายดังกล่าวกำหนดให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 แต่ทางมูลนิธิฯ ได้รับหมายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จึงได้ทำหนังสือขอเลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2557 โดยจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับนายสมชาย หอมลออ ประธาน ในฐานะประธานและผู้แทนของมูลนิธิฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557 นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะทนายความได้รับการประสานงานจาก ร.ต.ท. พงศ์ศักดิ์ พรหมเกตุ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของ สภ.เมืองยะลา แต่อยู่ในเขตอำนาจของ สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา จึงแจ้งยกเลิกหมายเรียกดังกล่าวผ่านทนายความ เพื่อแจ้งให้มูลนิธิฯ และ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ถูกล่าวหาทราบโดยถือว่าไม่ได้เรียกมาก่อน  และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะทนายความและนายปรีดา นาคผิวทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับแจ้งจาก พตท.พิสิษฐ์ ลมคำภา พนักงานสอบสวนสภ.ท่าธง ว่าพนักงานสอบสวนจะนัดผู้ถูกกล่าวหาใหม่  ต่อมามูลนิธิฯ จึงทราบว่าพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมโดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ดำเนินการกิจกรรมด้านการส่งเสริมความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 โดยทำงาน ในการให้ความช่วยเหลือทางกฏมายต่อเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม โดยใช้แนวทางกฎหมายและการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือทางคดีมีแนวทางเพื่อการค้นหาความจริง การเรียกร้องให้มีการรับผิดทางแพ่งและทางอาญาโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น กรณีนายอิหม่ามยะผา กรณีนายอัสอารี สะมาแอ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวที่เสียชีวิต ซึ่งมีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต
กรณีที่ผู้เสียหายร้องเรียนว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมก็ได้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโดยได้ปฏิบัติงานในการตรวจสอบข้อมูล ทำหนังสือร้องเรียน หนังสือเปิดผนึกและทำการเผยแพร่สื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อหลักการทางสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเพื่อยุติการทรมาน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดของ กอรมน. และของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดีในการปรับเปลี่ยนแนวทาง วิธีการปฏิบัติ การออกกฎระเบียบการควบคุมตัว ทั้งนี้ยังคงมีช่องโหว่ให้มีการทรมานและการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั้งเกิดเรื่องร้องเรียนปรากฎในจดหมายเปิดผนึกถึงแม่ทัพภาค 4 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ขอให้ตรวจสอบกรณีนายอาดิลเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26เมษายน2557
กระบวนการการทำงานของมูลนิธิฯ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกละเมิดสามารถเข้าถึงความยุติธรรม การร้องเรียนต่อหน่วยงานดังกล่าถือเป็นขั้นตอนตามกฎมายสามารตรวจสอบได้ และการส่งหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีนายอาดิล มีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบดำเนินการเพื่อร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ได้มีความประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมีพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในการสอบสวนข้อต้องเรียนเรื่องการทรมานโดยพลัน และมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และพยานให้ได้รับความคุ้มครองพ้นจากการประทุษร้ายหรือข่มขู่ให้หวาดกลัวอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น  หากเมื่อทางหน่วยงานระดับสูงได้รับเรื่องร้องเรียนและหน่วยงานรัฐได้ทำการสอบสวนโดยพลันโดยปราศจากความลำเอียง หากหลักฐานปรากฎไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นเช่นใด สิทธิของประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองและประชาชนจะเชื่อมันต่อกระบวนการยุติธรรม  หากการร้องเรียนเป็นผลให้ผู้ร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียน หรือพยานต้องถูกดำเนินคดีก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์การฟ้องร้องคดีต่อมูลนิธิฯ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดกลไกอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่และทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการใช้สิทธิมากยิ่งขึ้นอันเป็นผลร้ายแรงต่อกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้