Skip to main content

 

สำนึกรักในงานพัฒนาของ พีชาม หะแว

 

 

พีชาม หะแว / เรื่อง

เลขา เกลี้ยงเกลา / เรียบเรียง

 

“การวางตัวเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานพัฒนา” พีชาม หะแว ผู้ประสานงานพื้นที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา บอกกล่าวถึงความท้าทายในการทำงานพัฒนาในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้

พีชาม รับผิดชอบพื้นที่ม. 3 บ้านบูเกะบือราแง (โครงการปรับปรุงต่อเติมอาคารเป็นสถานที่จัดกิจกรรมบ้านบูเกะบือราแง) ม.5 บ้านสะโต (โครงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน บ้านสะโต) ม. 6 บ้านบูเกะลาโมะ (โครงการสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อชุมชนบ้านบูเกะลาโมะ) และโครงการตำบลอาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา (โครงการแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์เรียนรู้ตำบล (อาซ่องโมเดล)

ด้านทัศนคติต่อการทำงานพัฒนาและการเป็นผู้ประสานงาน พีชามบอกว่า ต้องมีใจรักในงานพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ

“สิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานพัฒนาและการเป็นผู้ประสานงานพื้นที่คือ ต้องมีใจรักในงานพัฒนา สามารถอดทนและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง อุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามา เพราะการทำงานในพื้นที่เป็นการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของชุมชน ไม่หยุดนิ่ง ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกัน การทำงานพัฒนาเป็นการทำงานที่ต้องเจอกับผู้คนที่มีความคิดหลากหลาย หากการทำงานพัฒนาต้องหาจุดร่วมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม”

ในการทำงานพัฒนาทำให้พีชามได้เรียนรู้วิธีการเข้าหาและเข้าถึงผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เพื่อแนะนำตัวและชี้แจงกระบวนการทำงาน วัตถุประสงค์ และผู้นำต่างจะทำหน้าที่ในการชี้แจงกับคนในชุมชนต่อไป เพื่อเป็นการเปิดทางให้ผู้ประสานงานฯ ได้ทำหน้าที่ในชุมชนได้อย่างสะดวก เธอบอกว่า การวางตัวเป็นกลาง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้ประสานงานฯ เนื่องจากเป็นการทำงานกับคนเป็นจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อหามติร่วมกัน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานพัฒนา และการทำงานกับหน่วยงานรัฐฯ เครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและการทำแผนของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อเป็นประสบการณ์ในการทำงานต่อไป

“ประทับใจในการทำงานที่ทำให้ได้รู้จักผู้คนที่หลากหลาย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในแง่การทำงาน การดำเนินชีวิต เรียนรู้วิถีชีวิตที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน เป็นการพัฒนาตนเองอย่างมากในเรื่องทักษะต่างๆ การเจอกับคนที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของความคิด ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เป็นการฝึกตนเองที่จะได้เรียนรู้ ถือเป็นโอกาสที่ได้พัฒนาตนเองให้เติบโตขึ้น เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ”

พีชามบอกถึงความคาดหวังในการทำงานพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า “คาดหวังให้พื้นที่ที่มีการปฏิบัติงานของโครงการ ช.ช.ต. นำกระบวนการ CDD ที่เป็นกระบวนการทำงานที่ชุมชนขับเคลื่อน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันดูแลรักษา และเกิดองค์ความรู้ต่อยอดต่อไป ก่อเกิดความสามัคคี เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านการพูดคุยในเวทีต่างๆ ชุมชนหันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น ปัญหาในชุมชนมีโอกาสคลี่คลายลง หวังเป็นอย่างมากว่ากระบวนการ CDD จะถูกขยายต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชนเกิดการพัฒนา ส่งผลให้ทุนทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่พัฒนาชุมชนต่อไป ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมชายแดนใต้ลดลง”

ในพื้นที่แห่งนี้ที่มีความหลากหลายทางประเพณี วัฒนธรรม และยึดหลักศาสนาอิสลามเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ พีชามบอกว่า ผู้ประสานงานพื้นที่ต้องมีความเข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนต่างมีวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่นั้นๆ เช่น พื้นที่ชายทะเล พื้นที่การประกอบอาชีพทำสวน ย่อมมีวิถีชีวิตและช่วงเวลาว่างที่แตกต่างกัน คนทำงานพัฒนาต้องเข้าใจจึงจะสามารถทำงานร่วมกับคนในชุมชนได้

ด้านความท้าทายในการทำงานเป็นผู้ประสานงานพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีปัญหาความขัดแย้งค่อนข้างสูงและเป็นปัญหาค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน พีชามบอกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานพัฒนา คนทำงานพัฒนาต้องมีความเข้าใจและมีความระมัดระวังในการทำงาน การวางตัวเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานพัฒนา

จากประสบการณ์ทำงานชุมชนที่ผ่านมาทำให้พีชามได้นำบทเรียนและประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต มีจิตสำนึกรักในงานพัฒนาพร้อมวาดหวังให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง