Skip to main content
หลังจากการแถลงผลสำรวจสันติภาพ หรือ Peace Survey ครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานสำรวจตามหลักวิชาการ ทำให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจากคนในพื้นที่ วันนี้ คุณอิมรอน  ซาเหาะ นักข่าวพลเมือง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ได้สะท้อนเสียงของคนใน ที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพหลังจากการแถลงผล Peace Survey
 
 
หลังจากการแถลงผลการสำรวจสันติภาพ หรือ Peace Survey ครั้งที่ 1 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน มีการเผยแพร่ผลการสำรวจมาอย่างต่อเนื่อง และนี่เป็นอีกเสียงสะท้อนจากคนในกระบวนการสำรวจสันติภาพจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้
 
แวกอรีเยาะห์ กามาลี เป็นหนึ่งในพนักงานเก็บข้อมูลสำรวจสันติภาพฯ และมาจากเครือข่าย ศวชต. ม.อ.ปัตตานี สะท้อนมุมมองของตนจากการเก็บข้อมูลภาคสนามในหลายพื้นที่ว่า "ทุกครั้งที่ได้ลงไปในพื้นที่เห็นในครอบครัวที่เราสัมภาษณ์มีการเลี้ยงดูลูก ทำงานไปด้วยและให้สัมภาษณ์เราไปด้วย ทำให้เราคิดว่าการส่งเสริมอาชีพให้เขามีความยั่งยืน ให้เขาสามารถที่จะมีรายได้ที่มั่นคงในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องส่งเสริมอาชีพให้กับคนในพื้นที่ของเรา"
 
ขณะเดียวกัน สุวรา แก้วนุ้ย นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี (CSCD) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า "ในส่วนตรงนี้ถือว่าทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผลที่ทำให้เขากังวลต่อเศรษฐกิจรายได้ ผลในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผลในเรื่องของการเดินทาง ในส่วนทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดร่วมของประชาชนทุกคนกำลังออกมาเพื่อที่จะส่งเสียงว่าตัวเรากำลังได้รับผลกระทบและอยากเดินหน้าต่อเพื่อที่จัดการกับผลกระทบและปัญหาเหล่านั้น"
 
ทางด้านผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาหลังจากฟังการแถลงก็เห็นทิศทางการเชื่อมต่อผลการสำรวจสันติภาพกับงานที่ขับเคลื่อนในพื้นที่
 
"วันนี้ผมได้ข้อมูลที่เป้นประโยชน์มากนะครับที่จะทำให้ทิศทางของการจัดการศึกษาให้ชุมชน ได้มีศักยภาพมีทักษะการสื่อสารสาธารณะที่ก่อนหน้านี้ยังหวาดระแวงกันอยู่ รวมทั้งให้มีทักษะการเชื่อมเครือข่ายเพื่อไม่ให้โดดเดี่ยวจากบรรยากาศของความหวาดระแวง ผมก็จะเอาข้อมูลจากผลการสำรวจครั้งนี้ไปเสริมในพื้นที่ที่ผมทำกิจกรรม กำปงดามัย ชุมชนสันติธรรมให้มีศักยภาพมากขึ้น" ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) 
 
นอกจากนั้นยังมีความเห็นของประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินหน้าต่อ 
 
"การพูดคุยมันส่งสัญญาณทั้งสองฝ่ายว่า มันเดินไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่อง TOR แต่ผมคิดว่าเที่ยวนี้ควรจะรับฟังเสียงของชาวบ้านพูดออกมาว่า เขาอยากได้อะไร เขาหนุนการพูดคุยแบบไหน อะไรที่เป็นข้อเสนอ 1-5 ที่เขาอยากให้ทั้งสองฝ่ายได้นำมาสู่โต๊ะการพูดคุยเพื่อให้ไปเกิดสันติภาพจริงๆ และ Peace Survey ไม่ได้ทำครั้งเดียวแต่จะต้องทำเป็นระยะๆ ไป อันนี้เป้นประโยชน์มากนะต่อฝ่ายเอและฝ่ายบี เพราะตอนนี้ยังส่งสัญญาณไม่ชัดว่าจะคุยหรือไม่คุย แต่ประชาชนส่งสัญญารชัดนะว่าอยากให้มีการพูดคุยต่อไปจาก Peace Survey ครั้งนี้" มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 
 
การทำ Peace Survey นับเป็นความพยายามในเดินหน้าด้วยความรู้วิชาการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง โดยขยายพื้นที่การเรียนรู้สู่ชุมชน และยกระดับความก้าวหน้าของการสร้างสันติภาพ ที่ไม่ใช่มีเพียงคู่เจรจาหลักอีกต่อไป หากแต่คนในพื้นที่ยังให้การสนับสนุนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง