Skip to main content

 

ลีเขวน เหมนุ้ย

ชมรมคนพิการนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน

คนพิการ บ้านรอบเรา เขายังท้อ เขายังรอ ให้เรา เข้าไปถึง
เขายังรอ ขอเราด้วย ว่าช่วยดึง เราเป็นหนึ่ง แล้วช่วยเอาเขามาที
มาจับมือ กันซักเมื่อ เพื่อช่วยเพื่อน เพื่อให้เลื่อน จากโลก ที่โศกสี
เพื่อให้เพื่อน เลื่อนทุกข์ สุขสักที ให้สมที่ ว่านาวี ไม่ทิ้งกัน”

แสงสว่างในดวงใจเป็นทางสว่างแทนดวงตา พาชีวิตผมให้ทำทุกอย่างได้จนประสบความสำเร็จ และสามารถรวมตัวกับเพื่อนคนพิการก่อตั้งเป็นชมรมคนพิการนาทวีไม่ทอดทิ้ง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ภายใต้การสนับสนุนจากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถนาทวี และมูลนิธิชุมชนสงขลา เพื่อเป็นองค์กรประสานให้ความช่วยเหลือคนพิการในพื้นที่ทุกประเภท ได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้านให้มีความสุข

ปัจจุบันมีสมาชิกชมรม 186 คน ปีที่ผ่านมาชมรมและเครือข่ายเพื่อนคนพิการสามารถพัฒนางานฐานข้อมูลคนพิการจนรู้ว่า อำเภอนาทวีมีคนพิการทั้งหมด 1,154 คน แบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ ด้านการมองเห็น 7 คน ด้านการได้ยินและสื่อความหมาย 256 คน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 563 คน ด้านจิตใจและพฤติกรรม 109 คน ด้านการเรียนรู้ 11 คน ประเภทออทิสติก 16 คน ในจำนวนนี้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างผม 631 คน ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง 423 คน และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 100 คน การรู้จำนวนที่แน่นอน เป็นการง่ายสำหรับการออกแบบการช่วยเหลือกัน

โดยผมทำหน้าที่เป็นกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการทำงานนวดแผนไทย ที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ ส่วนเพื่อนผมคนอื่นๆ ก็มีเปิดร้านขายขนม เป็นครูสอน ที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และอาชีพอื่นๆ ตามทักษะที่มี พวกเรามีการนัดหมายมาทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างการไปเยี่ยมบ้านคนพิการด้วยกันกับเครือข่าย หรือการเข้าร่วมโครงการปลูกผักกินเองในวัสดุใช้แล้วของทางโรงพยาบาลสมเด็จฯ โดยมี พี่บ๊ะ ‘หร่อกีบ๊ะ บุญโส๊ะ’ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

สำหรับการสื่อสาร สิ่งที่ผมพยามมาตลอดคือ ทำให้สังคมรู้ว่า คนพิการอย่างเราทำอะไรได้หลายอย่าง มากพอๆ กับที่คนทั่วไปก็ไม่ได้ทำอะไรได้ทุกอย่าง อย่างการเขียนเรื่องราวของตัวเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในงานชิ้นนี้ ทั้งยังร่วมกับทีมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอในการพัฒนางานสารคดีข่าวพลเมือง และยังมีเพื่อนในชมรมที่สนใจเขียนหนังสือ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของตัวเองให้เป็นบทเรียนและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นๆ

นอกจากนั้น เรายังสนับสนุนด้านการสร้างอาชีพตามความสนใจของคนพิการด้วยกัน อย่างที่น้อง “หญิง” วัย 25 ปี พิการทางสายตา เธอมักพูดกับผมเสมอว่า ต้องการเรียนเพื่อให้ตัวเองมีรายได้มากพอในการช่วยเหลือตัวเอง และไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นภาระให้คนอื่น ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ปลีกเวลาส่วนตัวไปสอนเธอเรื่องการนวด แต่ยังไม่เป็นระบบ และมากไปด้วยข้อจำกัด เช่นเดียวกับผมเมื่อ 28 ปีก่อน
แต่ผมผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เมื่อผมเข้ามาเป็นกรรมการชมรมก็ตั้งใจจะผลักดันโครงการนี้ให้หญิงและเพื่อนมีช่องทางในการหาความรู้และทักษะด้านการนวดเพิ่มขึ้น

โลกแห่งจินตนาการของชายผมบางวัย 45 ปี อย่างผมก็หมุนเร็วขึ้นอีกครั้ง เมื่อหญิงหัวหน้าฝ่ายแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลสมเด็จฯ บอกว่า “พมจ.มีงบให้กับการตั้งกลุ่มอาชีพคนพิการสนใจไหม?” จากนั้นลูกประคบสมุนไพร ก็ลอยเข้ามาอยู่ในวาระจิตของผม

ตามด้วยคำถามคำตอบที่เรียบเรียงออกมาในภาพความคิดที่จะทำให้เห็นได้ในเร็ววัน เริ่มจาก หนึ่ง เราต้องจัดอบรมเพื่อให้ความรู้กับกลุ่มคนพิการ ให้ได้ใช้ความสามารถเพื่อเป็นกำลังผลิตลูกประคบ สอง ชมรมต้องเป็นผู้สร้างกลไกและออกแบบในการจัดการให้เหมาะสมกับความพิการในแต่ละประเภท สาม สนับสนุนให้ครอบครัวคนพิการ และชุมชนเป็นผู้เพาะปลูกสมุนไพร เพื่อเป็นวัตถุดิบและเสริมรายได้ สี่ กลุ่มเป้าหมายในการจำหน่ายคือ งานแพทย์แผนไทยในแต่ละโรงพยาบาลชุมชน เพื่อขอส่วนแบ่งของตลาดมาให้กับแรงงานคนพิการ

และห้า เราต้องมีมาตรฐานการผลิต โดยเริ่มจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วใกล้ตัวมาสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ หากกลุ่มอาชีพของเราสามารถดำเนินไปได้แล้วโอกาสที่จะขยาย หรือสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ เพื่อนำมาวางตลาดก็ยังมีความเป็นไปได้ แต่กับก้าวแรกๆ เราจะออกแบบการจัดการกันอย่างไรที่จะให้ก้าวไปได้ อันนี้ต้องไปคุยต่อร่วมกันกับสมาชิกในชมรมที่สนใจและเครือข่าย

เอียด ฉึก” เสียงดังเหมือนมีมือมาผลักประตูอะลูมิเนียมออก โลกแห่งจินตนาการได้จบลง เมื่อเพื่อนร่วมงานหญิงคนหนึ่งเดินออกมาที่ระเบียงพร้อมกับพูดขึ้นว่าอย่ามัวนั่งยิ้มอยู่ค่ะบัง คนไข้บ่ายโมงมาแล้วค่ะ”