Skip to main content

 

ค่านิยมและสินค้า

 

Mfahmee Talib

 

ผมกำลังนับถอยหลังวันที่จะเป็นพ่อคนเต็มตัวครั้งแรกในชีวิต ในอีกไม่กี่สิบวันข้างหน้า ช่วงนี้เลยต้องเตรียมสรรพปัจจัย และวางแผนชีวิตครอบครัวกันบ่อยๆ

ยิ่งวางแผนก็ยิ่งพบว่า ผมและครอบครัว กลายเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมแห่งยุคสมัยมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้เลย

เท่าที่ความทรงจำผมมี เมื่อสมัยสิบกว่าปีก่อน ค่านิยมแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีไม่มากนัก สมัยนั้นคนมีรายได้ปานกลางก็นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมผง เพราะมีความสะดวก เหมาะกับแม่ที่ต้องไปทำงานกลางวัน บริษัทนมผงเลยต้องแข่งขันกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับคุณแม่ในสมัยนั้น นิยมลูกเก่ง ฉลาด ค่านิมเรื่องนมผงเลลยผูกกับภาพของเด็กเก่งเด็กฉลาดไว้ไม่น้อย โฆษณานมผงมีให้เห็นได้บ่อยๆตามสื่อกระแสหลัก

หลังจากนั้น เป็นยุคที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อยหกเดือน จากงานวิจัยทางวิชาการที่รองรับอย่างเข้มแข็ง เรื่องข้อดีของการกินนมแม่ในเด็กแรกคลอด ทำให้ทุกที่ทั่วโลกต้องเปลี่ยนเทรนด์การให้คุณค่านมแม่ใหม่ คุณแม่สมัยใหม่ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารชุดนี้ ก็เปลี่ยนมาให้นมแม่กันมากขึ้น แม้ว่าจะต้องทำงานกลางวัน ไม่มีเวลาให้นมลูกจากเต้าก็ตาม

ผมสังเกตว่าทุกครั้งที่ ค่านิยมแห่งยุคสมัยไปทางไหนก็ตาม ก็จะมีนวัตกรรมที่ตอบสนองความสะดวกสบายของเรา และแน่นอนมันคือธุรกิจ เมื่อเทรนด์นมแม่มา เราจึงได้รู้จักเครื่องปั้มนมแม่ ทั้งแบบมือบีบ ทั้งแบบไฟฟ้า ราคาก็หลายบาท เรียกว่าซื้อนมกระป๋องได้หลายเดือน ยังไม่รวมค่าซ่อมแซม มีตู้แช่นมแม่ มีถุงพลาสติกสำหรับแพ็คนม สินค้าเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่เพระาค่านิยมที่เปลี่ยนไป เราคงหาซื้อได้ยาก

แม่ผม แม่ยายผม คงจะแปลกใจพอสมควร ว่าผมกับภรรยาเตรียมอะไรมากมายในการต้อนรับหลานคนใหม่ของพวกเขา คำว่าคาร์ซีท คืออะไร เครื่องปั้มนมคืออะไร กลายเป็นคำถามว่ามันใช้ทำอะไรบ้าง ทั้งๆที่สมัยที่ผมและภรรยาคลอดตอนนั้น พวกเขาคงเตรียมแค่ผ้าอ้อม มหาหิงค์ กับสำลีเช็ดก้น ก็สามารเลี้ยงเราเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์ทุกประการ(ทางกายภาพ)ได้

ผมก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง ในหัวก็คิดว่าเราอยากให้ลูกมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ แต่ก็เอะใจขึ้นมา คุณภาพนี่เป็นค่านิยมที่มีคนนิยามขึ้นมาเหมือนกันนี่หว่า

สรุปคือการบริโภคข้อมูลมากๆ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตสูงมากขึ้น และมีความซับซ้อนในการใช้ชีวิตมากขึ้นเช่นกันครับ