Skip to main content

 

Original Link Clik Here .

 

 

กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานัดรวมตัวหน้าค่ายเสนาณรงค์พรุ่งนี้ หลังมีจดหมายจากทหารถึงนักวิชาการสงขลาขอให้ยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า

จากกรณีที่พลตรีวิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ออกจดหมายราชการ ลงวันที่ 23 พ.ค. ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เรื่อง “ขอความร่วมมือจากท่านทำความเข้าใจกับบุคลากร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดำเนินงานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และสำเนาจดหมายดังกล่าวซึ่งมีการอ้างอิงถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังกัด ม.อ. ถูกนำมาเผยแพร่ต่อทางโซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ว่าทหารมีบทบาทอย่างไรต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าว 

พันเอกชัยเดช ทองประดิษฐ์ รองผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 42 ยืนยันกับบีบีซีไทยว่าจดหมายดังกล่าวเป็นจดหมายจาก มทบ.42 จริง พร้อมระบุว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากนักวิชาการให้สนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย และอย่าปลุกระดมในเรื่องใดๆโดยที่ผ่านมาทาง มทบ.42 ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และพบประเด็นปัญหา 2 กรณี คือ คนในพื้นที่ต้องการให้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ แต่คนนอกพื้นที่กลับไม่ต้องการ ทำให้ฝ่ายทหารค่อนข้างลำบากใจ 

ทางบีบีซีไทยได้ติดต่อไปยังสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ แต่ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นจาก รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.อ.ได้

ขณะที่ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีชื่อระบุอยู่ในสำเนาจดหมายขอความร่วมมือจาก มทบ.42 ที่ส่งถึงอธิการบดี ม.อ. เผยกับบีบีซีไทยว่าตนได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้พบอธิการบดี เนื่องจากยังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมเกี่ยวกับประเด็นพลังงานทางเลือก จากนั้นจึงจะเข้าไปที่มหาวิทยาลัย แต่ตนไม่กังวลเรื่องที่มีชื่ออยู่ในจดหมายขอความร่วมมือฯ จากฝ่ายทหาร เพราะเชื่อมั่นว่าการตั้งคำถามหรือการเสนอข้อกังวลต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ

อย่างไรก็ตาม ดร.สมพร ยอมรับว่าที่ผ่านมามักจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพบและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องโครงการสร้างโรงไฟฟ้าอยู่เรื่อย ๆ จึงคิดว่าหากเจ้าหน้าที่ทหารและทางมหาวิทยาลัยสามารถร่วมมือกันในการเป็นตัวกลางจัดการอภิปรายถกเถียงเรื่องผลดี ผลเสีย หรือผลกระทบที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ จะเป็นความร่วมมือที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและคนในชุมชนมากที่สุด เพราะจะเปิดโอกาสให้มีการซักถามและฟังคำตอบในแต่ละประเด็นจากผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ โดยตรง 

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และแกนนำกลุ่มแพทย์ชนบทภาคใต้ ซึ่งมีส่วนเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมาไม่เพียง ดร.สมพรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวคัดค้าน เจอแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ทหารในเรื่องให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่นักทำกิจกรรมเพื่อสังคมระดับแกนนำอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่างได้รับแรงกดดันเช่นกันและโดยถ้วนหน้า รวมทั้งตนเองที่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาพูดคุยด้วยเพื่อขอให้ยุติการเคลื่อนไหวแม้ว่าจะอย่างสุภาพก็ตาม ส่วนใหญ่เนื้อหาที่มาพูดคุยคือขอให้ยุติการคัดค้านเพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากไฟฟ้าไม่พอใช้และรัฐบาลไม่อาจปล่อยให้เกิดปัญหาไฟดับได้ 

นอกจากนี้ ในโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ข้อความนัดหมายการรวมตัวเพื่อคัดค้านกับการแสดงบทบาทของทหารในเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ข้อความระบุว่ามีการนัดหมายพรุ่งนี้ 25 พ.ค.59 เวลา 10.00 น. รวมตัวที่หน้าค่ายเสนาณรงค์ เพื่อแสดงออกต่อการที่มณฑลทหารบกที่ 42 คุกคามนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และร่วมเรียกร้องให้ ทหารเป็นกลาง ยุติการคุกคามกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้ยกเลิกหนังสือเจ้าหน้าที่ทหารส่งไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา - ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า การไปแสดงออกดังกล่าวเพื่อเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทหารแสดงความชัดเจนในเรื่องบทบาทว่าจะเป็นกลางในกรณีนี้ 

นายดิเรกกล่าวว่าที่ผ่านมาทางแกนนำหลายคนมีประสบการณ์ในการถูกกดดัน แต่ไม่เป็นข่าว เพราะบางรายไม่พร้อม หรือยังไม่ต้องการเปิดข้อมูล ที่ผ่านมาตัวแทนเครือข่ายได้ไปยื่นเรื่องกับเจ้าหน้าที่ทหารมาแล้วถึงสองครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบมาตรการดูแลประชาชนฝ่ายที่คัดค้านการเดินหน้าโครงการ ครั้งแรกเครือข่ายได้ไปยื่นจดหมายที่ค่ายเสนาณรงค์ ครั้งที่สองที่ค่ายสิรินธรที่จังหวัดยะลา แต่ปัญหาการกดดันกับแกนนำก็ยังดำเนินมาโดยตลอด หลังจากการแสดงออกที่ค่ายเสนาณรงค์ในวันพรุ่งนี้แล้ว เครือข่ายผู้คัดค้านฯ จะพิจารณาไปยื่นจดหมายให้กับแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 โดยตรง เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องบทบาทของทหารในเรื่องการไกล่เกลี่ยดังกล่าว 

นายดิเรกระบุด้วยว่าตนอยากเห็นเจ้าหน้าที่ทหารจับเข่าคุยกับกลุ่มผู้คัดค้านในเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าทหารจะแสดงบทบาทอย่างไรกันแน่ และแรงกดดันที่ผ่านมาลงมาถึงนักเคลื่อนไหวเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชา

(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ: การเปิดเวทีรับฟังที่อำเภอเทพา จ.สงขลา เมื่อปี 2558)