Skip to main content

 

                                                                                              

       โครงการงานประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการ ช.ช.ต.  ประจำปี 2559 

สานภาคีพัฒนาสู่การสร้างสันติชายแดนใต้ Building Trust and Fostering Peace  

 

เลขา เกลี้ยงเกลา

เจ้าหน้าที่สารสนเทศ โครงการ ช.ช.ต.

 

โครงการสนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และธนาคารโลก จัด งานประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการ ช.ช.ต.  ประจำปี 2559 “สานภาคีพัฒนาสู่การสร้างสันติชายแดนใต้ : Building Trust and Fostering Peace” นำเสนอผลงานและยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในท้องถิ่นและเครือข่ายประชาสังคมสื่อสารในสาธารณะได้ และสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างคนทำงานพัฒนาและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2559 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

        นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ และการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ว่า

“โครงการสนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) และธนาคารโลก เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันโครงการดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 - กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจระหว่างคนในชุมชนเป้าหมาย 43 ชุมชน 6 ตำบลหลัก และพื้นที่ร่วมเรียนรู้อื่น ๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการพัฒนาที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดความต้องการจากการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนอย่างรอบด้านร่วมกันกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ภายในและระหว่างชุมชน และระหว่างชุมชนกับ อปท. และหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น

        นอกจากนี้ โครงการยังเน้นสร้างความเข้มแข็งในการสร้างกระบวนการสันติภาพให้องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายเป้าหมาย ภายใต้การสนับสนุนทุนเพื่อการดำเนินงานเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่”

        จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการฯ ได้มีการสั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ในการพัฒนา และกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ผ่านการดำเนินงานของชุมชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายในพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้มีแนวคิดในการจัดการความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ตลอดจนภาคี หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับโครงการ ช.ช.ต. ได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ อันจะนำไปสู่ส่วนหนึ่งของการสกัดองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานพัฒนาและการสร้างกระบวนการสันติภาพจากโครงการ นำไปสู่การเผยแพร่เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้แก่พื้นที่อื่น ๆ และกลุ่ม องค์กร หน่วยงาน ที่สนใจ รวมทั้งจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวคิดในการนำงานพัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ และขยายเครือข่ายแนวคิด เมล็ดพันธุ์ในการสร้างสันติภาพจากภายในสู่พื้นที่อื่น ๆ อีกต่อไป

ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวต่อถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า เพื่อนำเสนอผลงานรูปธรรมและยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในท้องถิ่นและเครือข่ายประชาสังคมสามารถเชื่อมโยงหรือสื่อสารในสาธารณะได้ และสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างคนทำงานพัฒนาและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่

“งานในครั้งนี้จะมีตัวแทนชุมชนจากพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการ ระดับจังหวัด อำเภอตัวแทนจากเครือข่าย องค์กร กลุ่ม ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ตัวแทนจาก อปท. หน่วยงานภาคี ตำบลขยาย ในพื้นที่ จชต. ตัวแทนจากเครือข่าย องค์กร กลุ่ม ภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ ตัวแทนหน่วยงาน องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ สื่อมวลชน นักวิชาการ ตัวแทนจากสถาบันทางวิชาการ ตัวแทนจากต่างประเทศ/แหล่งทุน เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร ที่ปรึกษาโครงการ ช.ช.ต. และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

คาดหวังว่า โครงการ ช.ช.ต. ประชาชน และเครือข่าย ภาคประชาสังคมกลุ่มเป้าหมาย ได้มีโอกาสนำเสนอผลการดำเนินงาน และพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานฯ ในพื้นที่ ตลอดจนสามารถนำไปสู่การยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างกลุ่มคนในท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เชื่อมโยง สื่อสารในพื้นที่สาธารณะ และเกิดองค์ความรู้ บทเรียนจากการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ชุมชน และหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่”

        ภายในงานมีการจัดรูปแบบกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือก และโอกาสให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ร่วมเรียนรู้ในส่วนกิจกรรม เนื้อหา หรือบทเรียนที่สนใจ โดยมีรูปแบบกิจกรรมคือปาฐกถาพิเศษ โดย นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต., บรรยาย“ประสบการณ์และบทเรียนจากต่างประเทศ”, อภิปรายคณะ (Panel Discussion) , ห้องย่อย การนำเสนอประสบการณ์ บทเรียน และสังเคราะห์ยกระดับสู่องค์ความรู้และข้อเสนอทางนโยบาย ในประเด็น เศรษฐกิจท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น แผนบูรณาการสู่ท้องถิ่น กลั่นหัวใจสู่ชุมชนศานติ, นำเสนอรายงาน “บทเรียนการทำงาน 11 ปี ของภาคประชาสังคมชายแดนใต้”, การอภิปรายคณะ “แผนพัฒนาท้องถิ่นกับกลไกความร่วมมือเชิงบูรณาการในงานสร้างสันติภาพชายแดนใต้”, การแสดงทางวัฒนธรรม และการจัดและนำเสนอนิทรรศการผลการดำเนินงาน นิทรรศการศิลป์สู่ศานติ โปสเตอร์

        สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ติดต่อสอบถามได้ที่ เลขา เกลี้ยงเกลา 089-7247270 และ ฮัมดี เจะเฮาะ 089-5975939