Skip to main content
 
 

18_05_2016_news released on Songkla Supreme Administrative court order ISOC to pay torture victims- Thai version2

เผยแพร่วันที่  ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙

ใบแจ้งข่าว

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้กอรมน. (สำนักนายกฯ)

จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายสองรายที่ถูกทหารทำร้ายร่างกายเมื่อปี ๒๕๕๒

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๑  ศาลปกครองสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา      ในคดีที่ผู้เสียหาย ๒ ราย ฟ้องหน่วยงานของรัฐ เรียกค่าเสียหาย จากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายขณะเป็นเยาวชน เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒  มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เวลา ๑๐.๔๐ น. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องที่ ๔ กองกำลังรักษาความมั่นคง (สำนักนายกรัฐมนตรี)จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๑, ๒๐๐ บาทแก่ผู้ฟ้องที่ ๑ และจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้ฟ้องที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับ แต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม  ๒๕๕๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จภายใน ๖๐ วัน และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑, ๒, ๓ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

คดีระหว่างนายมะเซาฟี แขวงบู ผู้ฟ้องคดีที่ ๑  และเด็กชายอาดิล สาแม โดยนางยีซะ สาแม มารดา ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ ๒  กับ กระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑   กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒   กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓  และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔   โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น(ศาลปกครองสงขลา) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓  ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เรียกค่าเสียหาย ๙๐๐,๐๐๐ บาท  ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เรียกค่าเสียหาย ๘๐๐,๐๐๐ บาท   ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ศาลปกครองสงขลาได้พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นหน่วยงานที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๑๐๑,๒๐๐ บาท และให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด  เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว จึงได้ส่งคำพิพากษาให้ศาลปกครองสงขลาเพื่ออ่านให้คู่กรณีฟัง

คดีนี้เป็นอีกหนึ่งในหลายกรณี ที่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้กฎหมายพิเศษ ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจและความรับผิดของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ แม้จะใช้เวลานานถึง ๗ ปี

นางยีซะ สาแม มารดาของผู้ฟ้องที่ ๒ ที่ได้เดินทางจากจังหวัดยะลามารับฟังคำพิพากกษาในวันนี้พร้อมกับผู้ฟ้องทั้งสองได้กล่าวว่า “ตนรู้สึกดีใจที่ศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหาย  ถ้าใครที่ไม่ได้รับความชอบธรรม ขอให้กล้าออกมาเรียกร้องความยุติธรรมแม้ต้องเเลกกับระยะเวลาที่นาน แต่ก็ภูมิใจที่ได้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบุตรชายตนเอง”

วันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุดปีที่แล้ว  เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘    ผู้ฟ้องคดีที่ ๑  ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลความว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ขณะที่ตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไปดูแลไร่ข้าวโพดบริเวณริมแม่น้ำปัตตานี  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าชุดลาดตระเวนในพื้นที่ ทำร้ายร่างกายด้วยการชก เตะ ต่อย ถีบ กระทืบ อย่างทารุณโหดร้าย ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง  ทั้งยังใช้ด้ามปืนพกสั้นตีที่ใบหน้าและศีรษะของตนจนฟันหักสองซี่และศีรษะแตก  แล้วใช้ปืนจ่อศีรษะขู่ว่าจะฆ่าให้ตาย   ทำให้ตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ กลัวมาก ได้แต่ระลึกถึงองค์อัลลอฮฺ   เมื่อได้โอกาสตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงวิ่งหนีไปโดยตนกระโดดลงไปในน้ำซ่อนตัวอยู่ที่พงหญ้า และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ วิ่งไปซ่อนตัวในพงหญ้าห่างออกไป เป็นเวลากว่า ๓ ชั่วโมง  เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารขับรถออกจากบริเวณนั้นแล้วจึงได้พากันกลับบ้าน   ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒  ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลเพิ่มเติมว่า   นอกจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้แถลงแล้ว ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๗ ตนยังได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอีกชุดหนึ่งปิดล้อม ตรวจค้นบ้าน และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายตนจนสลบ ต่อมาถูกนำส่งโรงพยาบาล  และยังถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารเป็นเวลาหลายวันจึงได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ  และตนก็ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย ไม่เคยถูกดำเนินคดีหรือมีความผิดใด ๆ จนถึงปัจจุบัน   แต่ผลกระทบจากการถูกทำร้ายทั้งสองเหตุการณ์ส่งผลให้ตนหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ตลอดเวลา  ไม่กล้าออกไปนอกพื้นที่ กลัวจะได้รับอันตราย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

นายปรีดา  นาคผิว   ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม   เบอร์ติดต่อ    ๐๘๙-๖๒๒๒๔๗๔


ข้อมูลคดีเพิ่มเติม

 

ในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด  เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘    ผู้ฟ้องคดีที่ ๑  ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลความว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ขณะที่ตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไปดูแลไร่ข้าวโพดบริเวณริมแม่น้ำปัตตานี  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าชุดลาดตระเวนในพื้นที่ ทำร้ายร่างกายด้วยการชก เตะ ต่อย ถีบ กระทืบ อย่างทารุณโหดร้าย ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง  ทั้งยังใช้ด้ามปืนพกสั้นตีที่ใบหน้าและศีรษะของตนจนฟันหักสองซี่และศีรษะแตก  แล้วใช้ปืนจ่อศีรษะขู่ว่าจะฆ่าให้ตาย   ทำให้ตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ กลัวมาก ได้แต่ระลึกถึงองค์อัลลอฮฺ   เมื่อได้โอกาสตนและผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงวิ่งหนีไปโดยตนกระโดดลงไปในน้ำซ่อนตัวอยู่ที่พงหญ้า และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ วิ่งไปซ่อนตัวในพงหญ้าห่างออกไป เป็นเวลากว่า ๓ ชั่วโมง  เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารขับรถออกจากบริเวณนั้นแล้วจึงได้พากันกลับบ้าน   ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒  ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลเพิ่มเติมว่า   นอกจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุตามที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้แถลงแล้ว ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๗ ตนยังได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอีกชุดหนึ่งปิดล้อม ตรวจค้นบ้าน และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายตนจนสลบ ต่อมาถูกนำส่งโรงพยาบาล  และยังถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารเป็นเวลาหลายวันจึงได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ  และตนก็ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย ไม่เคยถูกดำเนินคดีหรือมีความผิดใด ๆ จนถึงปัจจุบัน   แต่ผลกระทบจากการถูกทำร้ายทั้งสองเหตุการณ์ส่งผลให้ตนหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ตลอดเวลา  ไม่กล้าออกไปนอกพื้นที่ กลัวจะได้รับอันตราย

จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือต่อองค์คณะ สรุปประเด็นได้ความดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ ๑     ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่  พิเคราะห์แล้วเห็นว่า  เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม  ๒๕๕๒  ขณะปฏิบัติหน้าที่  สิบเอกขวัญชัย สีนิล ซึ่งได้ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องที่ ๑ และที่ ๒   สิบเอกขวัญชัย  สีนิล เป็นนายทหารประทวนประจำการสังกัด กองพันทหารราบที่ ๓  กรมทหารราบที่ ๕  กองพลทหารราบที่ ๕  กองทัพบก  ตำแหน่งหัวหน้าชุดยิง สังกัดกองร้อยทหารราบที่ ๕๐๓๕ หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ ๑๑ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก   โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓  ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง   ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด

ประเด็นที่ ๒  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเพียงใดพิเคราะห์แล้ว เห็นพ้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองดังนี้

  • ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เนื่องตามใบรับรองแพทย์ระบุว่า  ผู้ฟ้องคดีที่ ๑  ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เห็นควรให้หยุดงานได้ ๕ วัน คิดค่าเสียหายตามค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดยะลา เป็นเงินวันละ ๒๔๐ บาท คิดเป็นค่าเสียหาย  ๑,๒๐๐ บาท  สำหรับผู้ฟ้องคดีที่ ๒ กำลังศึกษาอยู่ ไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

(๒) ค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย  เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา  ค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๐๗๐ บาท และค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเงิน ๗๕ บาท แต่ปรากฏว่า หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ ๑๑ ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน ๑,๕๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แล้ว  และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้ใช้สิทธิตามบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล  ดังนั้นการที่หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ ๑๑ ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว ถือว่าได้เยียวยาตามสมควรแล้ว

(๓) ค่าเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ    ที่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาคิดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ผู้ฟ้องคดีคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา ๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น เป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้ว

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com