Skip to main content
 
วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2559
โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคดำรงไทย พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ว. อดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมพิจารณาความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมได้เสนอความเห็นในลักษณะสมุดประเด็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะนี้กำลังรอดูว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะตอบสนองต่อข้อเสนอของภาคประชาสังคมมากน้อยเพียงใด
ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์ในวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบปีที่ 56 ของการก่อตั้งขบวนการ บี.อาร์.เอ็น. และมีความเห็นโดยเฉพาะต่อเหตุการณ์ที่เกิดที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง ดังนี้
1) เจ้าหน้าที่ควรได้รับความเห็นใจ แต่ขณะเดียวกันก็พึงรับฟังข้อวิจารณ์และเปิดให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย
2) กรณีที่รัฐจะเสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง เช่น อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอบาเจาะนั้น ถ้ายังไม่ได้คุยจนตกลงกันได้ก่อน อาจกลายเป็นการท้าทายให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงได้
3) ที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายความรุนแรง เพราะได้รักษาความเป็นกลางและไม่เลือกปฏิบัติมาโดยตลอด ขณะที่ต้องพยายามให้ทุกฝ่ายยังคงให้ความไว้วางใจแก่บุคลากรสาธารณสุขต่อไป
4) ในทางสากล พื้นที่ปลอดภัยพึงได้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล มัสยิด วัด ชุมชน เป็นต้น ขอให้ทุกฝ่ายเคารพสถานที่เหล่านี้ และหลีกเลี่ยงการตั้งกองกำลังและการก่อเหตุความรุนแรงในบริเวณสถานที่ดังกล่าว
5) กองกำลังติดอาวุธไม่ควรตั้งฐานปฏิบัติการใกล้กับที่พักอาศัยในชุมชน โดยเฉพาะในสถานที่ที่พึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งได้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล มัสยิด วัด เป็นต้น อนึ่งฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างก็ไม่ควรโจมตีพื้นที่ดังกล่าวและไม่ใช้เป็นสถานที่หลบซ่อนหรือเป็นโล่กำบัง
6) การปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ในบางครั้ง ยังขาดความฉับไวและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ จึงขอให้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัย
7) เจ้าหน้าที่ควรให้ความสำคัญแก่กรณีที่มีการอ้างว่ามีการอุ้มหายและการซ้อมทรมานเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การนำบุคคลออกจากพื้นที่ควรมีการประสานกับผู้นำชุมชน ครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการปราบผู้มีอิทธิพล ซึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมการมีอิทธิพล 16 ข้อ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ แล้วมีความเห็นดังนี้
8) การปราบปรามผู้มีอิทธิพลควรดำเนินการให้สำเร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยเฉพาะควรเน้นการปราบปรามบ่อนการพนัน การค้าสารเสพติด รวมทั้งเหล้าและบุหรี่เถื่อนด้วย
9) โครงการกองทุนตำบล ตำบลละ 5 ล้านน่าจะก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมแก่คนในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ดี ควรระวังมิให้ข้าราชการหาประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเบี่ยงเบนผลประโยชน์ไปในทางมิชอบแล้ว ยังอาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความรุนแรง เช่น ต่อผู้นำในท้องที่ได้
10) เศรษฐกิจในพื้นที่ขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้รายได้จากยางพารา ปาล์ม และผลไม้เช่นลองกอง ไม่เพียงพอเนื่องจากราคาตกต่ำ รัฐและภาคเอกชนจึงควรส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร การประมง และอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายและมีตลาดที่มั่นคงมากขึ้น
ที่ประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และมีความเห็นดังนี้
11) จากการประชุมวันสื่อสันติภาพครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 3 ของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขนั้น มีแต่เพียงการแจ้งมุมมองของ party A, party B, และผู้อำนวยความสะดวก แต่ขาดการแลกเปลี่ยนและการเสนอแนะให้กระบวนการมีความก้าวหน้าต่อไปอย่างชัดเจน
12) กระบวนการพูดคุยควรพูดถึงว่าจะคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ได้แก่ เด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ให้เป็นผลในลำดับแรกได้อย่างไร