Skip to main content
กุสุมา กูใหญ่
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ห้วงเวลานี้ เป็นห้วงเวลาที่เสียงเรียกร้องสันติภาพของประชาชนดูเหมือนตกอยู่ภาวะชะงักงัน เมื่อเสียงกรรโชกของความรุนแรงกลับทานขึ้นมาครั้ง เหตุการณ์รุนแรงที่ปะทุขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นับจากเหตุการณ์ยิงทำร้ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานีตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อเนื่องมาถึงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ บริเวณหน้าร้านอาหารทางเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี ติดกับฐานตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 11 ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ และเหตุทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัด เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวสร้างความสูญเสีย สร้างความรู้สึกหวั่นกลัวและหวาดระแวงในหมู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

ในห้วงเวลาเดียวกัน เสียงเรียกร้องสันติภาพของผู้มีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ได้แสดงไว้ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 ภายใต้จุดยืน “สันติภาพเดินหน้า” ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สันติภาพจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ? และเสียงแห่งสันติภาพของประชาชนที่ออกมาแสดงจุดยืนถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพนั้นได้ถูกรับฟังจริงหรือไม่ ?

ดูเหมือนว่าประเด็นที่เป็นจุดร่วมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของฝ่ายความมั่นคง ตัวแทนของฝ่ายผู้มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ (มารา ปาตานี) ตัวแทนของฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) และตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคม ภาควิชาการและสื่อนั้นก็คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี ซึ่งจุดร่วมดังกล่าว ตัวแทนแต่ละฝ่ายต่างมีความหวังต่อกระบวนการสันติภาพ อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงข้อจำกัดหลายประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าสู่หนทางสันติวิธี แต่กระนั้นก็ยังเชื่อมั่นว่าข้อจำกัดหรืออุปสรรคเหล่านั้นยังมีหนทางที่จะแก้ไขได้

อีกเสียงหนึ่งที่ถูกนำเสนอในงานนี้ก็คือ เสียงของประชาชนในพื้นที่ จากการนำเสนอผลการสำรวจสถานภาพการสื่อสาร ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้[1] ในรายงานดังกล่าว มีประเด็นสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำและขยายความในรายละเอียดเกี่ยวกับเสียงจากประชาชนที่ทุกฝ่ายในสนามของความขัดแย้งพึงรับไว้พิจารณา

การสำรวจครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการศึกษาสภาพทางสังคมและสถานการณ์ยาเสพติด ภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,205 ตัวอย่างที่อาศัยอยู่ใน 200 ชุมชน กระจายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ระหว่างเดือนธันวาคม 2558 – มกราคม 2559 พบว่าข้อเสนอนโยบายหรือมาตรการเร่งด่วนที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ

1) การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงหรือปฏิบัติการที่กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ และการแก้ไขปัญหายาเสพติด

2) การสร้างเขตพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนนำร่อง

3) การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม

4) การตั้งกลไกซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย  

5) การมีหลักประกันว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจะเป็นวาระแห่งชาติที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอดังกล่าวยืนยันเสียงของประชาชนที่ว่า การก่อเหตุรุนแรงหรือปฏิบัติการที่กระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ การมีหลักประกันความปลอดภัย และความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญและปรารถนาให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกร้องเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนั้น คำถามที่ตามมาคือทุกภาคส่วนที่ว่านั้น ประชาชนมีความเชื่อมั่นไว้วางใจใครหรือหน่วยงานใดบ้างในการทำงานด้านความปลอดภัยของประชาชนและการสร้างสันติภาพ ? แน่นอนว่า ประชาชนย่อมมอบความไว้วางใจให้กับผู้ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ก่อน ลดหลั่นเป็นลำดับได้แก่

1)   กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

2)   ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม พระสงฆ์

3)   คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนาระดับจังหวัด

4)   ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ

5)   รัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความรู้สึกปลอดภัยและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อสร้างความปลอดภัยของประชาชนนั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยฝ่ายอื่น ๆ มาร่วมมือกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ

ในห้วงเวลานี้ ประชาชนยังคงคาดหวังว่าเสียงของตนยังคงถูกรับฟัง ทั้งจากฝ่ายที่เชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีและจากฝ่ายที่ยังคลางแคลงใจหรือปฏิเสธกระบวนการสันติภาพ

 

ในด้านการสื่อสาร ข้อเสนอของประชาชนให้มีการเปิดพื้นที่การสื่อสารนั้นจะเป็นกลไกสำคัญในการลดความหวาดระแวงต่อกันและกำหนดประเด็นร่วมของทุกฝ่ายที่พอจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ แม้ว่าแต่ละฝ่ายนั้นจะมีจุดยืนทางความคิดแตกต่างกันก็ตาม การนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์ความไม่สงบในเวลานี้จึงจำเป็นต้องยึดหลักความเที่ยงตรงและสมดุลของข้อมูลข่าวสาร สื่อควรมีบทบาทคอยติดตามสถานการณ์และสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ควรตรวจสอบกระแสข่าวลือ ไม่โหมกระพือข่าวสารที่จะก่อให้เกิดความหวาดระแวงและเกลียดชัง และเปิดโอกาสให้เสียงของประชาชนที่มีความหลากหลายนั้นได้ปรากฏตัวขึ้นและยอมรับในความแตกต่างของความเห็นเหล่านั้น

นี่จึงเป็นการย้ำอีกครั้งถึงความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องไปยังทุกฝ่ายถึงสันติภาพและการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี และเป็นการสะท้อนให้คิดในทางกลับกันว่า ผลลัพธ์ที่ได้มาจากความรุนแรงนั้นคือผลแห่งความหวาดกลัว มิใช่มาจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนอย่างแท้จริง. 

 



[1] คณะผู้วิจัยในโครงการประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, กุสุมา กูใหญ่, สุวรา แก้วนุ้ย, พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์, สุธิรัช ชูชื่น

สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/peace-media-survey-rep...