Skip to main content

เผยแพร่ 10 กพ.  2559 

 

แถลงการณ์

การเปิดรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้

 

เมื่อวันที่ 10 กพ.  2559   ได้มีการจัดการเสวนาพร้อมกับเปิดตัวรายงานจำนวนรวม 120 หน้า ทั้งที่เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้นจำนวน 54 รายและบทวิเคราะห์เรื่องการป้องกันการทรมาน  รายงานฉบับนี้เกิดจากการทำงานของสามองค์กรคือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ โดยการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานโดยตรงด้วยแบบสอบถามที่เขียนขึ้นมาจากหลักการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน ที่เรียกว่า Istanbul Protocol

ในปี 2557-2558 คณะทำงานฯได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 54 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2558 จำนวน 15 กรณี ปี 2557 จำนวน 17 กรณี อีก 22 กรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2556  ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นคนมุสลิมสัญชาติไทยเชื้อสายมลายู

เมื่อปี 2555-2557 ทางคณะทำงานฯ ได้เคยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานฯ ได้ทั้งสิ้นจำนวน 92 กรณีและได้จัดทำรายงานภาษาอังกฤษ (ไม่มีการเผยแพร่รายงานเป็นภาษาไทยต่อสาธารณะ)นำเสนอต่อคณะทำงานต่อต้านการทรมาน องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติก็ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้แก้ไขและป้องกันไม่ให้มีการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมโดยเจ้าหน้าที่อีก แต่ก็ไม่เป็นผลให้การทรมานลดลงแต่อย่างใด  โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นในช่วงปี 2557-2558 และเรื่องร้องเรียนล่าสุดคือการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558

 

“การเผยแพร่รายงานในครั้งนี้ เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแต่อย่างใด หลังจากที่เราเคยเสนอปัญหาแก่เจ้าหน้าที่ ออกแถลงการณ์ และจัดทำรายงานมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ได้ผล การเสนอรายงานครั้งนี้จึงต้องการย้ำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนโยบาย มีความเข้าใจว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว สืบสวนสอบสวนผู้ต้องสงสัย  ยุติการทรมานในทันที  รัฐบาลต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับความยุติธรรม มิเช่นนั้นเรื่องนี้จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้”  นายสมชาย หอมลออ หนึ่งในกองบรรณาธิการกล่าว

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ได้มีการส่งรายงานนี้ให้ พลโทอักษรา  เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์  แม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบแต่อย่างใด

 

ดาวน์โหลดฉบับเต็ม  แถลงการณ์เรื่องการเปิดตัวหนังสือการทรมานในปัตตานี

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ   Tel. 02-6934939 

 

อ่านรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้อง 
 

08_01-2016_ submitting torture report to peace talk leader

รายงานทรมานปัตตานี 2557-2558 (1)

Torture-report  10 Feb 2016 

 

กองบรรณาธิการ นายสมชาย หอมลออ  นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นางสาวอัญชนา หีมมีน๊ะห์

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี  กลุ่มด้วยใจ

 

หมายเหตุ : หนังสือเล่มนี้ไม่สงวนสิทธิ์สำหรับการนำบางส่วนหรือทั้งหมดไปใช้ในการศึกษา การจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้กรุณาอ้างอิงที่มาหรือแจ้งให้ผู้จัดพิมพ์ทราบจักขอบคุณยิ่ง