Skip to main content
 
Abdulloh WanAhmad; Awan Book
 
ความจริงผู้เขียนเองปรารถนาที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ด้วยภาษามลายู เพื่อมิอยากก่อสภาวะย้อนแย้งกับสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะวิพากษ์ ในประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษ์ของคนมลายูปาตานี โดยเฉพาะในด้านภาษาอันเป็นแก่นสารที่แสดงถึงการเป็นอยู่และการดำรงของชาติพันธุ์ๆ หนึ่งในผืนพิภพแห่งนี้
 
แต่ด้วยความที่ว่าสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายล้วนมีความถนัดในภาษาไทย ผู้เขียนเองจำต้องใช้ภาษาไทยในการบอกกล่าวถึงความจริงที่ได้ประสบกับสังคมมลายู ที่ถูกทำลายตัวตนของวัฒนธรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เว้นแม้กระทั่งภาษา ที่กำลังจะถูกกลืนลงไปในหุบเหวลึกแห่งความหลังของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของบรรพชนจวบกระทั่งปัจจุบัน ที่กำลังจะสู่ห้วงสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ ที่อาจถูกหลงลืมในอนาคต
 
ในฐานะผู้เขียนเติบโตในพื้นที่แห่งนี้ อันเป็นดินแดนแห่งสนธยาในด้านของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่กำลังเร่าร้อนและยังคุกรุ่นของควันไฟแห่งสงครามและความขัดแย้งนานนับศตวรรษ
 
หลายครั้งด้วยกันปรากฏการณ์ในพื้นที่แห่งนี้ ที่กำลังดำรงอยู่ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ ได้ก่อคำถามมากมายที่ยังคงไม่มีคำตอบจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตกก็คือ กลุ่มชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐแบบกึ่งปกครองกึ่งการกดทับ ซึ่งบางครั้งทั้งสองอย่างนั้นจะแยกมิออกด้วยซ้ำ สิ่งใดที่รัฐเรียกว่าการปกครองและสิ่งใดที่รัฐกำลังกดทับกลุ่มคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่พร่ำกระพือโหมโรงต่อสายตาชาวโลกว่าเป็นเมืองที่ดำเนินการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ประเทศที่ให้สิทธิและเปิดโอกาสให้แกพลเมืองในการดำรงตนอยู่บนครรลองของความเชื่อและประเพณีของปัจเจกชนแม้กระทั่งกลุ่มชน
 
แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้ที่มีจิตสำนึกและปัญญาชนของชาวมลายูก็คือ อัตลักษณ์ตัวตนของชาวมลายูปาตานีจะไม่สูญพันธุ์จริงหรือ? ยิ่งเมื่อสังคมมลายูเองแม้กระทั่งในโลกมลายู ยังคงพร่ำสอนลูกหลานถึงความยิ่งใหญ่ของชาติพันธุ์มลายู ด้วยคมปราชญ์ที่ว่า มลายูคงไม่มีวันสาบสูญจากโลกใบนี้ (Melayu takan hilang di dunia) ทว่าเมื่อมองย้อนกลับมายังอาณาบริเวณปาตานีแห่งนี้ วาทกรรมดังกล่าวมิอาจเป็นจริงได้สำหรับชาวมลายูปาตานี
 
ซึ่งเมื่อสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นไปของสถานการณ์ของภาษามลายู ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ควรจะเป็น ตามสภาวะแวดล้อมของสังคมนั้นๆ
 
ความจริงแล้วภาษาอาจมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ตามความรุ่งเรืองของยุคสมัยและสังคมที่กำลังวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเราจะเห็นได้จากการที่ทุกภาษาที่มีอยู่ในโลกล้วนมีการพัฒนาไปตามสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในพจนานุกรมของแต่ละประเทศที่จะมีการปรับปรุงเกือบทุกสมัย และบางประเทศอาจปรับปรุงเพิ่มเติมคำต่างๆ ลงไปในพจนานุกรม อันเป็นรากศัพท์ใหม่ เพื่อเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของแต่ละภาษาของชนชาตินั้นๆ ที่จะต้องเป็นที่อ้างอิงในงานเขียน งานวิชาการ และในด้านวรรณกรรม
 
ทว่าสำหรับสังคมปาตานีแล้ว หากมองดูสถานการณ์ทางด้านภาษา กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ที่นับวันยิ่งอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กล่าวคือนับจากอดีตเป็นต้นมาสังคมปาตานีได้ตกอยู่ในสภาวะตกระกำลำบากทั่วทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองที่ต้องถูกบีบรัดด้วยระบบการปกครองจากบนลงล่าง ในด้านเศรษฐกิจทีอยู่ในสภาวะขาดแคลนยากไร้ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ที่มิสามารถจัดการบริหารตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้ ในด้านการศึกษาที่ถือเป็นกุญแจหลักในการตอบโจทย์สภาพปัญหาสังคมโดยรวมในอนาคต ที่อยู่ในช่วงของการถูกต้อนบังคับเข้าระบบที่มีหลักสูตรเป็นเครื่องมือล้างความคิด เพื่อตอบสนองนโยบายฉบับสุดโต่ง ณ ขณะนั้น ที่อยู่ในช่วงการดำเนินการเข้าควบคุมความคิด ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของผู้ปกครองในช่วงนั้น
 
ส่วนในด้านภาษาถึงแม้ไม่มีการดำเนินการขจัดอย่างชัดแจ้ง แต่มันก็ได้ร่อยหรอลงไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อทางผู้ปกครองมิได้เปิดโอกาสให้กับภาษามลายูได้เบ่งบานอย่างสะดวกราบรื่น อีกทั้งยังมีความคับแคบในการเปิดพื้นที่ให้กับสังคมที่สนทนาด้วยภาษามลายูอันเป็นภาษาแม่ของตน ทำให้ความเข้มแข็งของภาษามลายูปาตานีนับจากนั้น ตกอยู่ในช่วงขาลงและหมดโอกาสที่จะได้พัฒนาภาษามลายูโดยปริยาย
 
เมื่อภาษามลายูถูกดัดมิให้เติบโต วรรณกรรมมลายูต้องพลอยห่างหายจากสังคมปาตานี ประกอบกับวารสารและงานตีพิมพ์ถูกตรวจสอบจากผู้ปกครอง ทำให้ผู้เป็นปัญญาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต่างทิ้งภาระงานและหน้าที่ ทำให้สังคมปาตานีไร้ซึ่งสื่อที่เป็นภาษามลายูโดยดุษฎี
http://wartani.com/dev/wp-content/uploads/2015/11/awanbook1-670x300.jpg
 
 
ถึงแม้ในบางช่วงจะปรากฏสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบวารสาร แต่ก็อยู่ได้ไม่นานมิอันต้องปิดตัวลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
 
ประเด็นภาษามลายูที่เป็นเสมือนปัจจัยหนึ่งที่เป็นสิ่งที่น่าวิตกของปัญญาชนปาตานี ที่มีความกังวลต่อลมหายใจแห่งอัตลักษณ์ ที่อาจต้องสลายสิ้นในสักวัน ด้วยเหตุนี้ทำให้สังคมมลายูปาตานีจากอดีตจวบจนปัจจุบัน การต่อสู้ในเชิงอนุรักษ์ภาษาแห่งภูมิบุตรมิเคยห่างหายไปจากสังคมปาตานี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และอุณหภูมิของการเมืองและบริบทพื้นที่ ณ ขณะนั้น
 
อย่างไรก็ตามถึงแม้การต่อสู้ของท่านหะยีสุหลงในอดีตยังไม่บรรลุผล ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการใช้ภาษามลายู ที่ต้องการให้ประกาศใช้เป็นภาษาทางการควบคู่กับภาษาไทย ทั้งในโรงเรียนประถมตลอดจนในหน่วยงานราชการ แต่ปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เสมือนรัฐเองก็คงมิอาจหลีกพ้นในเรื่องดังกล่าว
 
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่รัฐเองยังมีความเคลือบแคลงสงสัยและกังวลต่อการดำรงอยู่ของภาษามลายู ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ หากภาษามลายูยังคงเติบโตได้อย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งตนในอนาคต
 
และยิ่งเป็นที่น่าเสียดายอีก ในเมื่อนโยบายของรัฐเอง ยังคงมีความมืดดำและจุดด่างพร้อยแฝงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่พยายามที่จะทำลายภาษาของชนกลุ่มน้อยในประเทศของตนอย่างจงใจ ด้วยการพยายามทดลองด้วยนานาวิถี ถึงกระนั้นยังไม่ลดละความพยายามดังกล่าว จนกระทั่งถึงขั้นใช้วิธีการทดลองหลักสูตรแบบทวิภาษา โดยการสอนภาษามลายูด้วยอักขระไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการทดลอง
 
ทว่าสิ่งที่ประจักษ์ชัดในความพยายามของรัฐนั้น คือการพยายามบีบรัดการเจริญเติบโตของภาษามลายู ให้อยู่ในอาการแคระแกร่น มากกว่าที่จะให้พื้นที่และมีความอิสระในการดำเนินการพัฒนามรดกทางภาษาอันเป็นกลุ่มชนหนึ่งของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่และฟื้นฟูสิ่งที่กำลังจะหายไป
 
วันนี้รัฐเองยังคงให้การสนับสนุนชนิดจุนเจืองบประมาณมากกว่าการสนับสนุนอย่างเต็มพิกัด ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการประคับประคองภาษามลายูที่อยู่ในสถานการณ์กึ่งเป็นกึ่งตายเช่นนี้
 
ภาครัฐเองรู้ทั้งรู้ถึงความเป็นจริงที่กำลังประสบกับภาษามลายูในปาตานี ที่ค่อนข้างน้อยนิด และที่สำคัญหน่วยงานรัฐเอง ที่ได้มีการริเริ่มใช้ภาษามลายูในสถานที่ราชการ ถึงกระนั้นมิได้เป็นการยินดีปรีดาไม่ หากแต่อยู่ในฐานะการให้ความเคารพต่อคนในพื้นที่เท่านั้น เพราะหากสังเกตการใช้คำล้วนมีความบกพร่องเกือบ 80-90% เสมือนเขียนเพื่อให้เห็น จะถูกหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
ปัญหาภาษามลายูปาตานีที่ไม่มีมาตรฐานในการใช้ สาเหตุหนึ่งมาจากการอ่อนด้อยของสังคมเกี่ยวกับภาษามลายูเอง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของภาษาไทยที่ได้เข้ามามีบทบาทเหนือกว่าภาษาแม่ของตนไปเสียแล้ว สองเกิดจากความสะเพร่าของหน่วยงานรัฐเอง ที่มิให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น สามเพราะยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านภาษามลายูโดยตรงเป็นการชัดเจนทั้งประจำสถาบันชาติและแม้กระทั่งในพื้นที่เอง ที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน เหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน
 
วันนี้สิ่งที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ก็คือ ภาษามลายูยังคงเป็นภาษาที่นับวันยิ่งมีความถดถอยลงทุกขณะ ถึงแม้จะมีพื้นที่ในการสื่อสารก็ตามแต่ ล้วนใช้ไปในทางที่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในแง่การใช้คำและประโยคที่ไม่ถูกต้อง
 
ขอบคุณภาพจากสำนักสื่อวาร์ตานี
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เผยแพ่รครั้งแรก