Skip to main content

 

สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร[1] / มูฮำหมัดราพีร์ มะเก็ง[2]

“เราต้องมองสถานการณ์จากความเป็นจริง มิใช่มองอย่างที่เราอยากให้เป็น” ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการชวนขบคิดถกเถียงสิ่งที่เชื่อว่าหลายคนคงจะเกิดคำถามขึ้นในใจอยู่บ้างว่าทำไมผ่านมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว คำว่า “ASEAN” ไม่เห็นจะมีอะไรให้ชวนติดตามและน่าตื่นเต้นเลย ไหนว่า เราเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วในปีนี้

ก่อนจะมามองว่าทำไม เรามาลองชวนทำความเข้าใจถึงที่มากันก่อนเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันอีกสักครั้งว่า การก่อเกิดประชาคมอาเซียนมันมีที่มาที่ไปอย่างไร อาเซียนหรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอาจจำแนกออกได้คร่าวๆ เป็นประเทศหมู่เกาะกับประเทศบนผืนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศมีความหลากหลายด้านสังคมวัฒนธรรมภายในแต่ละประเทศเองซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหภาพพม่า การเปรียบเทียบประเทศสมาชิกอาเซียนในเชิงระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจจากมุมมองด้านรายได้จากข้อมูลของ World Bank (2003) สะท้อนให้เห็นว่า ระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในอาเซียนนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ 1) ประเทศที่มีรายได้ต่ำได้แก่ประเทศกัมพูชาลาวพม่าและเวียดนาม 2) ประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้แก่ฟิลิปปินส์มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทยและ 3) ประเทศที่มีรายได้สูงได้แก่สิงคโปร์ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งได้ร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations–ASEAN) โดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมพ.ศ. 2510

คำถามต่อมาที่ชวนขบคิดต่อคือ เมื่อเราทราบที่มาที่ไปและภาพรวมกว้างๆของการก่อเกิดประชาคมอาเซียนแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรต่อการทำความเข้าใจถึงกระแสการเกิดขึ้นของ “ASEAN” ที่ดูจะเงียบเหงาเสียเหลือเกินในประเทศของเรา ผู้เขียนอยากให้เราลองมองวิเคราะห์ “ASEAN” ไปตามมุมมองต่อไปนี้เผื่อเราจะเข้าใจน้ำนิ่งอย่างประชาคมอาเซียนมากขึ้น ผ่านตัวย่อของคำว่า “ASEAN” บนฐานคิดของผู้เขียนทั้งสองคนที่ถกเถียงกันวันนี้ คือ

A ผู้เขียนขอใช้แทนคำว่า ATTITUDE” หรือ ทัศนคติ กล่าวคือ หากเรามองว่า อาเซียนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและเราก็คงไม่รู้สึกว่าเราจะต้องปรับตัวอะไรเพราะไม่มีอะไรให้ต้องปรับตัวเลย แต่อย่าลืมนะครับว่า บนความไม่เปลี่ยนแปลงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เพียงแต่เราอาจจะอยู่ในมุมอับที่อาจจะมองเห็นอะไรได้ไม่ค่อยชัด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างนะครับ เช่น เราจะพบว่า มีการหลั่งไหลการเข้ามาของหลายภาคส่วนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ภาคประชาสังคมที่มีการเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นต่างๆมากขึ้น ภาคการศึกษาที่มีการส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกประสบการณ์ในพื้นที่บ้านเรามากขึ้น ภาคธุรกิจที่เริ่มมีการขยับขยายตัวมากขึ้นจากการรุกคืบของประเทศพื้นบ้านในบ้านเราที่ผู้เขียนมอง เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นมุมมองที่ผู้เขียนเห็นว่าเพื่อนบ้านรุกคืบเรา แต่เรารุกคืบและฉกฉวยโอกาสอะไรบ้างจากการเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียนอันนี้ผู้เขียนฝากชวนถกขบคิดกันต่อ หรือ อ่านมาถึงตรงนี้มุมมองทัศคติของเราก็ยังเฉยๆ อันนี้ก็น่าชวนคิด หากเราปรับทัศคติของเราได้ต่อการมองประชาคมอาเซียนเราก็จะเริ่มเห็นฝูงปลาแหวกว่ายในน้ำนิ่งอยู่บ้าง

S ผู้เขียนขอใช้แทนคำว่า STRONG” หรือความแข็งแกร่ง กล่าวคือ เมื่อเรามองว่ายังไงอาเซียนก็ไม่มีทางเกิดบนมุมมองทัศนคติของเราหรือต่อให้เกิดขึ้นเราก็มิอาจฉกฉวยช่วงชิงความได้เปรียบในการก่อเกิดประชาคมอาเซียนได้ อย่าลืมนะครับว่า หากปลาหนึ่งตัวแหวกว่ายในมหาสมุทรอาจตกเป็นเหยื่อของเจ้ามหาสมุทรได้ ฉันใดก็ฉันนั้นฝูงปลาเล็กๆรวมกลุ่มกันได้แหวกว่ายร่วมกันการสร้างเกราะกำบังของการถูกล่าอาจจะน่าค้นหามากขึ้น ผู้เขียนขอยกประเด็นที่ชวนขบคิดว่า หากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นแล้วสร้างอำนาจต่อรองตามเจตนารมณ์เดิมที่คิดก่อตั้งเราอาจตกเป็นกลุ่มประเทศที่อาจถูกประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกาครอบงำและสกัดกั้นการเติบโตทุกมิติในที่สุด หรือเรายังมัวต่างคนต่างเดินก็อาจเป็นหนทางสู่ความเพลี่ยงพล้ำได้ ฉะนั้นทางออกที่สำคัญคือ การสร้างอำนาจต่อรองและปฏิสัมพันธ์ให้มากที่สุดกับนานาประเทศบนฐานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นแข็งแกร่ง แม้ในทางความคิดบางมุมมองเราอาจจะพบว่า “ผลประโยชน์ของอาเซียนไม่มี มีแต่ผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ” ก็ตามที ประเด็นที่ชวนถกเถียงและน่าขบคิดคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถจับมือกันได้อย่างเหนียวแน่นแล้วเชิญชวนประเทศอย่างญี่ปุ่น กับ เกาหลีร่วมวงการแหวกว่ายในมหาสมุทรไปด้วยกันได้ มหาอำนาจอย่างจีนที่เรากลัวก็อาจจะหมดไป เพราะนี่คือวิธีการถ่วงดุลทางอำนาจที่สำคัญ

E ผู้เขียนขอใช้แทนคำว่า EMPOWERMENT” หรือการเสริมสร้างพลังอำนาจ กล่าวคือ หากเรารู้จักวิธีการรวมกลุ่มรู้จักวิธีการถ่วงดุลอำนาจ เราก็จะพบว่า เราจะใช้พลังอำนาจนั้นอย่างไรและเราจะมีกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจนั้นต่อไปอย่างไรบนความท้าทายที่เกิดขึ้นของการหมุนวนบนกระแสโลกาภิวัตน์ที่หากเราไม่พร้อมปรับตัวขลุกขดตัวความคิดอยู่แต่มุมสลัวที่พร่ามัวเลือนลางทางข้างหน้าก็ยากจะชัดขึ้นได้ สิ่งที่ผู้เขียนจะลองชวนผู้อ่านลองขบคิดชวนถกไปพร้อมกันคือ เราจะเสริมสร้างพลังอำนาจไปเพื่ออะไรนอกจากการต่อรอง คำตอบคือ เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนจำเป็นต่อสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ต้องระมัดระวังการตกเป็นเครื่องมือแทบทุกมิติของประเทศมหาอำนาจต่างๆที่เรามองเห็นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะพบว่าไม่มีความสร้างสรรค์เกิดขึ้นเลยหากเราตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง การยุแยงตะแคงรั่วของมือที่สามมีปรากฏตัวละครให้เห็นอยู่หากเราได้ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ชวนคิดต่อคือ ทำไมประเทศมหาอำนาจถึงต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาแหวกว่ายมหาสมุทรที่ชื่อว่า “อาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คำตอบคือ ที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ของทุกสรรพสิ่งที่นั่นย่อมมีความโหยหาของฝูงปลานานาพันธุ์ แม้ฝูงปลาเหล่านั้นจะต้องแหวกว่ายทวนน้ำกลับมายังมหาสมุทรแห่งนี้ก็ตาม เมื่อไหร่ที่เรากางแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเมื่อนั้นเราจะเข้าใจสังคมโลกถึงตัวตนของอาเซียนที่ใครๆเฝ้าจับตาอย่างเงียบๆภายใต้กระแสน้ำไม่ไหลเชี่ยวก็ตามที

A ผู้เขียนขอใช้แทนคำว่า AUDIT” หรือการตรวจสอบ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านลองทวนทบข้อถกเถียงชวนขบคิดทั้งหมดที่ผ่านมา แล้วลองทบทวนเหตุผลของเราเองต่อการเปิดประชาคมอาเซียนว่า เรามีการตรวจสอบข้อมูลความเคลื่อนไหวอย่างถ่องแท้ถึงการเปิดประชาคมอาเซียนที่ควรจะศึกษาและเรียนรู้หรือไม่อย่างไร หรือความรู้สึกเฉยๆต่อการรับรู้ยังคงเกิดขึ้นในห้วงหัวใจของเรา หากเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนบอกเลยว่า เมื่อโอกาสคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราถึงที่สุด วันหนึ่งวันนั้นที่ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่าวันไหนแต่ไม่เคยละเลยที่จะขบคิดถึงการตั้งรับปรับตัวต่อคำว่า “อาเซียน” ที่เกิดขึ้น เราอาจจะต้องนั่งเสียใจไปตลอดถึงคำว่า “ชะล่าใจ” เพราะลองมองย้อนดูนะครับว่า การก่อตั้งก่อเกิดอาเซียนมิได้ก่อเกิดขึ้นมาลอยๆบนฐานคิดที่ไม่มีอะไรรองรับแน่นอน เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การรวมตัวกันของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งก็คงไม่มีความหมายอะไร ผู้เขียนมองว่า แม้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์อาจดูไม่หวือหวาอะไร แต่การกระพริบตาไปบางครั้งแค่เสี้ยววินาทีเราอาจไม่รู้เลยว่ามีฝูงปลาใดบ้างที่แหวกว่ายในน้ำนิ่ง เพราะเราเองก็ต่างยอมรับมิใช่หรือว่าหากไม่ใช้การเพ่งพินิจจริงๆในน้ำนิ่งเราก็มิอาจเห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตได้ วันนี้ฝูงปลาอาเซียนที่กำลังแหวกว่ายอาจมีหลายตัวที่แหวกว่ายนำหน้าเพื่อนไป อาจมีฝูงปลาบางกลุ่มที่กำลังแหวกว่ายกันไปตามเป้าหมายของตัวเอง คำถามก็คือว่า แล้วเรามองเห็นฝูงปลาที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” แหวกว่ายไปทางใดบ้างหรือเปล่า ประเด็นนี้คงทิ้งให้เราทุกคนชวนคิดต่อกับผู้เขียนว่าเราจะทำอย่างไรหากความนิ่งเงียบของหนองน้ำหรือแม้แต่มหาสมุทรเรากลับแทบไม่เห็นการแหวกว่ายของฝูงปลาอย่างบ้านเราเลย

N ผู้เขียนขอใช้แทนคำว่า “NETWORK” หรือ เครือข่าย กล่าวคือ เมื่อประเด็นชวนขบคิดข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด เราเองไม่สามารถที่จะใช้การขยับปรับเคลื่อนต่อภายใต้คำว่า “เครือข่าย” ที่เข้มแข็ง ก้าวข้ามทัศคติตัวใครตัวมัน การรังสรรค์สิ่งสร้างสรรค์ของมหาสมุทรแห่งนี้หนองน้ำแห่งนี้ก็มิอาจมองเห็นฝูงปลาที่น่าค้นหาได้ มิหนำซ้ำเราอาจะพบเพียงแต่ฝูงปลานานาพันธุ์ที่เราเองก็มิอยากได้ให้มาวนเวียนในหนองน้ำหรือมหาสมุทรบ้านเรา บางครั้งการมองดูฝูงปลาที่แหวกว่ายหลากหลายนานาพันธุ์ที่มีความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกันมันชวนให้น่าหลงใหลในการเฝ้าติดตามมองดู เพราะนั่นมันจะเป็นสิ่งชี้ชัดอย่างหนึ่งว่าฝูงปลาเหล่านั้นจะสามารถทนทานอยู่ได้ในสภาพน้ำที่ควรเป็นร่วมกัน ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนคงไม่อยากเห็นในน้ำที่ไหลอยู่มีแต่การล่ากินกันของปลานานาพันธุ์วันแล้ววันเล่าจนน้ำนิ่งมีเพียงน้ำไร้ซึ่งฝูงปลาแหวกว่ายอีกต่อไป

สรุปชวนคิดถกเถียงทิ้งท้าย เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บริบทการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกก่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี รวมทั้งความร่วมมือในประชาคมอาเซียน ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทั้งนี้ในปี 2559 จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะฝีมืออย่างเสรีตามกรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีข้อตกลงร่วมกันถึงคุณสมบัติในสายวิชาชีพเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานใน 7 สาขา ได้แก่ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม วิชาชีพสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์และนักบัญชี และในระยะต่อไปจะเปิดในสาขาอื่นๆ รวมทั้งแรงงานกึ่งทักษะฝีมือด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้ประเทศต้องมีเกณฑ์ เพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินความสามารถของแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน จะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทุนของประเทศที่มีอยู่ให้เข้มแข็งและมีพลังเพียงพอในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ให้เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคศตวรรษต่างๆที่คืบคลานเข้ามา ตลอดจนการเสริมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพของคน ทั้งในเชิงสถาบัน ระบบ โครงสร้าง ของสังคมให้เข้มแข็งสามารถเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อนาคต

“ผู้เขียนเองยังคิดว่า เมื่อไหร่ที่เราพบว่า น้ำนิ่งๆมีปลาแหวกว่ายอยู่ เมื่อนั้นจิตใจเราก็จะสงบอย่างมีสติเพื่อเฝ้ามองดูฝูงปลา ริเริ่มประเดิมขบคิดเถอะครับถึงการสร้างสรรค์พลังทางความคิดอย่างไตร่ตรอง มองดูโอกาสอย่างรอบคอบภายใต้กรอบของคำว่า “ASEAN” ที่กำลังเคาะประตูถึงหน้าบ้านเราอย่างไม่ควรเมินเฉย... (วัลลอฮฺอะลัม)



[1] นักศึกษาปริญญาเอกสาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / ผู้บริหาร ร.ร.เร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา

[2] นักศึกษาปริญญาโทสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / นักวิจัย-นักวิชาการอิสระ