Skip to main content

จดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องชาวปัตตานี

อย่าให้คนปัตตานีเป็นพลเมืองชั้นสอง เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเจตนาทำลืม

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน

เรียนพี่น้องประชาชนชาวปัตตานีที่เคารพ

โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกาวัตต์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2,960 ไร่ ณ ตำบลปากบางเทพา ห่างจากเขตแดนสงขลา-ปัตตานีเพียง  6 กิโลเมตร  ใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียที่อ้างว่าสะอาดเป็นเชื้อเพลิงถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 1,000 รถบรรทุก เท่ากับการเทถ่านหินหนึ่งรถบรรทุกเข้าไปในเตาเผาทุกหนึ่งนาทีตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดเวลา 30-40 ปีของอายุโครงการ

 

การเผาถ่านหินจำนวนมหาศาล จะก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมาก ทั้งฝุ่นควัน โลหะหนัก ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกทางปล่องควันที่สูง 200 เมตร หรือเท่ากับตึก 66 ชั้น ซึ่งจะกระจายไปตามทิศทางลม พื้นที่หนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ยะรังและอำเภอเมืองจะได้รับผลกระทบ

 

จะมีการนำน้ำทะเลมาหล่อเย็นและบำบัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์วันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับสนามฟุตบอลที่มีน้ำทะเลสูง 1 เมตรจำนวน 1,285 สนาม ทุกวันน้ำจำนวนนี้จะนำมาใช้แล้วปล่อยทิ้งกลับลงไปในทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเทพาและอ่าวปัตตานีจะลดลง รวมทั้งเขื่อนทิ้งหินเพื่อนำน้ำทะเลมาใช้และสะพานขนถ่ายถ่านหินที่ยื่นลงไปในทะเล 3 กิโลเมตรก็จะทำให้มีการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง

 

เรือใหญ่ที่ขนถ่ายถ่านหิน กินน้ำลึก 15 เมตร จะผ่านหน้าแหลมตาชี ก่อนเข้าสู่ทะเลหน้าหาดเทพา แล้วขนถ่ายถ่านหินลงเรือลำเล็กว่าขนาด 13,000 ตัน ที่กินน้ำลึก 6 เมตร ขนถ่านหินสู่ท่าเรือที่ห่างจากฝั่ง 3 กิโลเมตรที่มีน้ำลึกเพียง 7.2 เมตร ฝูงสัตว์น้ำอันอุดมสมบูรณ์ย่อมหายไปจากความสั่นสะเทือน สกปรก ความปั่นป่วนของตะกอนใต้ท้องทะเล และการขุดลอกร่องน้ำ  อาชีพประมงในอ่าวหนองจิก-ปัตตานี จะล่มสลายในไม่ช้า

 

บ่อเก็บเถ้าถ่านหินขนาด 760 ไร่ ที่อยู่ห่างทะเลเพียง 1 กิโลเมตร จะเป็นอีกหายนะหนึ่ง หากมีการแตก รั่ว หรือน้ำล้นจากภาวะน้ำท่วมหรือพายุลมมรสุม

 

แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลับไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเลย แม้แต่หมู่บ้านบางราพา ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ที่อยู่ห่างจากรั้วโรงไฟฟ้าไม่ถึง 6 กิโลเมตร ก็ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือเข้าไปให้ข้อมูลใดๆกับชุมชน  รวมทั้งไม่มีการให้ความสำคัญกับการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของคนปัตตานีแม้แต่น้อย หรือเพียงเพราะชื่อ “ปัตตานี” นั่นน่ากลัวเกินไป เห็นพี่น้องปัตตานีเป็นคนชั้นสอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงไม่ดำเนินการศึกษาผลกระทบตามมาตรฐานทางวิชาการที่ควรจะเป็น

และจากบทเรียนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่คนปัตตานีถูกเมินใกนารสร้างการรับรู้และมีส่นร่วม  ทำให้เชื่อได้ว่า การจัดการตนเองหรือปกครองตนเองที่เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่เป็นไปได้ของสันติภาพปาตานี อาจเป็นเพียงวาทกรรมที่ไม่มีทางจะเป็นจริง

 

จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวปัตตานีพิทักษ์สิทธิของตนเอง ขอการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อย่าให้คนปัตตานีเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่ กฟผ.เจตนาทำลืม